The Wrestler : ภาพยนตร์มวยปล้ำ ภาพสะท้อนของ "มิคกี้ รูค" เทพบุตรฮอลลีวูดยุค 80s

Home » The Wrestler : ภาพยนตร์มวยปล้ำ ภาพสะท้อนของ "มิคกี้ รูค" เทพบุตรฮอลลีวูดยุค 80s



The Wrestler : ภาพยนตร์มวยปล้ำ ภาพสะท้อนของ "มิคกี้ รูค" เทพบุตรฮอลลีวูดยุค 80s

ไม่ว่าจะขึ้นไปสูงแค่ไหน ประสบความสำเร็จเท่าไร แต่ขึ้นชื่อว่ามนุษย์ ย่อมหนีไม่พ้นสัจธรรมแห่งชีวิต สิ่งที่เคยคิดว่าแน่นอนวันหนึ่งก็อาจจะไม่แน่นอน สิ่งที่เคยมีวันหนึ่งก็อาจจะสูญเสียมันไป แม้แต่ “มิคกี้ รูค” เองก็เช่นกัน

มิคกี้ รูค คือดาราฮอลลีวูดที่ประสบความสำเร็จอย่างสูงในช่วงทศวรรษที่ 80s ด้วยใบหน้าหล่อเหลาคมคาย จนได้รับฉายาว่า “เทพบุตรคนใหม่แห่งฮอลลีวูด” ทว่าเมื่อถึงจุดหนึ่ง ชีวิตของเขาก็ถึงจุดพลิกผัน และทำให้เขาร่วงลงไปสู่จุดต่ำสุด

รูค กลับมาแจ้งเกิดอีกครั้งในวัยชรา ด้วยการรับบทนำใน The Wrestler ภาพยนตร์มวยปล้ำที่ราวกับเป็นภาพสะท้อนชีวิตของเขา ซึ่งว่ากันว่า นี่แหละคือการแสดงที่ยอดเยี่ยมที่สุดในชีวิต

เรื่องราวทั้งหมดเป็นอย่างไร ติดตามได้ใน Main Stand

*บทความนี้มีการเปิดเผยเนื้อหาสำคัญของภาพยนตร์เรื่อง The Wrestler

หนุ่มตาน้ำข้าวแห่งฮอลลีวูด

ฟิลิป อังเดร รูค จูเนียร์ หรือ มิคกี้ รูค ลืมตามดูโลกเมื่อวันที่ 16 กันยายน ปี 1952 ณ รัฐนิวยอร์ก ประเทศสหรัฐอเมริกา พ่อของเขามีเชื้อสายไอริช ส่วนแม่มีเชื้อสายสก็อตแลนด์ สภาพแวดล้อมของครอบครัวถือว่าค่อนข้างเคร่งศาสนา

เช่นเดียวกับซูเปอร์สตาร์ฮอลลีวูดอีกหลายคนที่มีชีวิตวัยเด็กไม่ค่อยราบรื่นนัก เนื่องจากพ่อกับแม่ของ รูค หย่าร้างกันตั้งแต่เขายังเด็ก ผู้เป็นพ่อหนีหายไป ส่วนแม่ก็ได้แต่งงานใหม่กับ ยูจีน แอดดิส เจ้าหน้าที่ตำรวจแห่งไมอามีบีช ทำให้ รูค ต้องย้ายที่อยู่จากนิวยอร์กสู่รัฐฟลอริดา บ้านหลังใหม่ที่เด็กชายไม่คุ้นเคย

ด้วยความเป็นเด็กต่างถิ่น รูค จึงเป็นเป้าหมายสำหรับการกลั่นแกล้งจากเด็กคนอื่น ๆ เป็นประจำ กระทั่งวันหนึ่งที่ รูค ไม่อดทนอีกต่อไป เขาจึงตัดสินใจเข้าเรียนการชกมวยเพื่อป้องกันตัวที่ Boys Club of Miami ค่ายมวยซึ่งตั้งอยู่ไม่ไกลจากบ้านของเขา 

“นอกจากหน้าตาอันคมคายแล้ว พรสวรรค์เรื่องการชกมวยของเขาก็โดดเด่นไม่แพ้กัน” ครูฝึกมวยคนแรกของ รูค กล่าว 

Photo : BoxRec

ด้วยเหตุนี้วิชาหมัดมวยจึงพา รูค ไปไกลกว่าแค่การป้องกันตัว เด็กหนุ่มก้าวเข้าสู่การเป็นนักมวยสมัครเล่นในปี 1964 และสถิติการชกของเขาก็ถือว่าไม่เลว โดยตลอดระยะเวลา 7 ปี รูค เอาชนะคู่ต่อสู้ไปได้ถึง 27 ไฟต์ โดยเป็นการชนะน็อก 12 ไฟต์ และแพ้ไปเพียงแค่ 3 ไฟต์เท่านั้น แน่นอนว่าในตอนนั้น รูค ฝันถึงการเป็นนักมวยอาชีพ ทว่าในปี 1971 ด้วยอาการบาดเจ็บที่เกี่ยวข้องกับสมอง แพทย์ผู้เชี่ยวชาญจึงแนะนำให้ รูค หยุดการต่อสู้บนสังเวียนผ้าใบไว้เพียงเท่านี้ ก่อนที่ทุกอย่างจะสายเกินไป

รูค ก้มหน้ายอมรับชะตากรรม เขาหันหลังให้กับโลกแห่งหมัดมวย แต่ในขณะที่กำลังรู้สึกเคว้งคว้างกับชีวิต เพื่อนที่มหาวิทยาลัยไมอามีของ รูค ก็บอกกับเขาว่า “ตอนนี้ละครเวทีเรื่อง Deathwatch ที่ฉันกำกับ อยู่ ๆ นักแสดงนำก็ถอนตัวไปกะทันหัน นายช่วยมาแสดงแทนหน่อยได้ไหม ?”

Photo : Legit.ng

ถึงแม้ รูค จะเคยมีประสบการณ์แสดงเล็ก ๆ น้อย ๆ ในงานโรงเรียนสมัยมัธยมอยู่บ้าง แต่เขาก็ไม่เคยมองว่าตัวเองจะเติบโตเป็นนักแสดงเลย ทว่าในเมื่อตอนนี้เขาก็ไม่รู้จะเอายังไงต่อไป ลองดูก็ไม่เสียหาย ในที่สุด รูค จึงตบปากรับคำ

เรียกได้ว่าละครเวทีเรื่อง Deathwatch เปลี่ยนความคิดของ รูค ไปโดยสิ้นเชิง เขาทำได้ดีจนได้รับคำชมจากคนรอบข้าง ความหลงใหลในศาสตร์ด้านนี้ของเขาจึงเริ่มก่อตัวขึ้น 

ด้วยความเป็นเด็กหนุ่มที่ไฟในตัวพลุ่งพล่าน เมื่อค้นพบสิ่งที่ตัวเองชอบแล้ว รูค ก็ไม่รอช้า บากหน้าไปขอยืมเงินจากพี่สาวของเขาเป็นจำนวน 400 ดอลลาร์สหรัฐฯ โดยให้เหตุผลว่า

“จะไปตามหาฝันในนิวยอร์ก”

Photo : IMDb

 

เส้นทางของ รูค ไม่ได้โรยด้วยกลีบกุหลาบ ในช่วงแรกที่มาถึงนิวยอร์ก เขาต้องทำงานสารพัด ไม่เว้นแต่การเป็นเด็กยกของในโรงละคร เพื่อหาเงินเลี้ยงชีพ และเฝ้ารอว่าสักวันหนึ่งจะเป็นวันของเขา
 
รูค เริ่มได้รับงานแสดงในบทสมทบเล็ก ๆ น้อย ๆ ในช่วงปลายทศวรรษ 70s ก่อนที่ในปี 1981 เขาจะแจ้งเกิดเต็มตัวในภาพยนตร์เรื่อง Body Heat ด้วยบทบาท เท็ดดี้ ลูอิส ที่ รูค ผสมผสานระหว่างมาดเท่สมชาย กับความนุ่มนวลอ่อนโยนแบบผู้หญิงได้อย่างลงตัว จนทำให้แสงไฟทุกดวงในฮอลลีวูดสาดส่องมาที่เขา พร้อมกับสื่อมวลชนที่ตั้งฉายาให้ว่า

“เทพบุตรคนต่อไปแห่งฮอลลีวูด” 

Photo : Clothes on Film

หลังจาก Body Heat อาชีพนักแสดงของ รูค ก็ก้าวหน้าอย่างรวดเร็ว โดยตลอดทศวรรษที่ 80 เขายังได้รับบทนำในภาพยนตร์ฟอร์มเยี่ยมอีกหลายเรื่องเช่น Diner (1982), Rumble Fish (1983), 9½ Weeks (1986), Angel Heart (1987) และ Johnny Handsome (1989) ด้วยฝีมือการแสดงและการเป็นที่คลั่งไคล้ของสาว ๆ ทำให้เขาอยู่ห่างจากจุดสูงสุดของอาชีพเพียงแค่เอื้อมเท่านั้น

แต่แน่นอนว่าความสำเร็จดังกล่าวไม่ได้จีรังยั่งยืน เพราะมรสุมชีวิตลูกใหม่กำลังมาเยือน รูค ในอีกไม่ช้า และต้นเหตุก็มาจากตัวเขาเอง

เทพบุตรตกสวรรค์

“การทำงานร่วมกับ มิคกี้ คือฝันร้ายอย่างแท้จริง เขาคือตัวอันตรายในกองถ่าย ไม่มีใครรู้ว่าเขาจะสามารถทำอะไรได้บ้าง” อลัน พาร์คเกอร์ หนึ่งในผู้กำกับภาพยนตร์ที่ได้ร่วมงานกับ รูค กล่าว

“บอกเลย ไม่ว่าก่อนนั้นนายมีหนังเจ๋ง ๆ มากแค่ไหน แต่นับจากนี้นายจะมีแต่หนังห่วย ๆ เป็นโหล” มิทช์ เกลเซอร์ อีกหนึ่งผู้กำกับภาพยนตร์กล่าวกับ รูค

เพียงแค่สองความเห็นนี้ก็น่าจะเพียงพอให้คาดเดาได้ว่า ไม่ใช่แค่ชื่อเสียงเงินทองเท่านั้นที่เพิ่มขึ้น แต่อีโก้ของ รูค ก็เพิ่มขึ้นตามไปด้วย เขาเริ่มกลายเป็นคนที่ทุกคนเอือมระอา ด้วยพฤติกรรมสำมะเลเทเมา อารมณ์ร้าย และขาดความรับผิดชอบ ส่งผลให้จากงานแสดงที่เคยหลั่งไหลเข้ามาแบบไม่ขาดสายก็เริ่มลดน้อยลง 

จนกระทั่งในปี 1991 รูค ที่อยู่ในจุดตกต่ำของอาชีพนักแสดงก็ทำการตัดสินใจอย่างที่ใครไม่คาดคิด เขาโบกมือลาโลกมายา และเดินหน้าเข้าสู่โลกแห่งหมัดมวยเป็นคำรบที่ 2

Photo : The Times

“ผมกลับไปชกมวยเพราะผมคิดว่าผมไม่มีความเคารพตัวเองเลยในฐานะนักแสดง และผมอยากที่จะท้าทายตัวเองอีกครั้ง ในขณะที่ยังพอมีเวลาเหลืออยู่” รูค กล่าวถึงเหตุผล

ถึงแม้จะอยู่ในวัย 30 ตอนปลายแล้ว แต่ รูค ก็ยังคงทำได้ดี เขาเริ่มต้นด้วยการไร้พ่ายติดต่อกัน 8 ไฟต์ โดยเป็นการชนะ 6 ไฟต์ เสมอ 2 ไฟต์ ทว่าบาดแผลที่เขาได้รับกลับมาก็ถือว่าสาหัสไม่ใช่น้อย จมูก นิ้วเท้า โหนกแก้ม และซี่โครงหัก อีกทั้งยังต้องทนทุกข์ทรมานจากการสูญเสียความทรงจำระยะสั้น

การบาดเจ็บดังกล่าวทำให้ รูค ต้องเข้าผ่าตัด หลังจากที่เขาตัดสินใจแขวนนวมจากสาเหตุเรื่องสภาพร่างกาย และกลับเข้าสู่วงการบันเทิงอีกครั้งทุกคนก็ต้องตะลึง เพราะใบหน้าของ รูค นั้นเปลี่ยนแปลงไปอย่างมาก สื่อบางสำนักถึงขั้นพาดหัวข่าวว่า

“มิคกี้ รูค กลับมาอีกครั้งพร้อมใบหน้าที่เสียโฉมอย่างหนัก”

Photo : CBS News

แน่นอว่าการกลับมาในครั้งนี้ รูค ไม่ใช่เทพบุตรแห่งฮอลลีวูดอีกต่อไป ตรงกันข้ามเขายังคงวนเวียนอยู่กับความตกต่ำในฐานะนักแสดง บรรดาสตูดิโอพากันเบือนหน้าหนี รูค กลายเป็นรถหรูสภาพเก่าคร่ำคร่าที่ไม่มีใครอยากใช้งาน 

ผลงานของเขาในทศวรรษที่ 90s-2000s จึงมีแต่บทสมทบเล็ก ๆ ส่วนถ้าเขาจะได้รับบทนำก็จะเป็นในภาพยนตร์ฟอร์มเล็ก ๆ ที่ไม่ได้เข้าฉายในวงกว้าง เรียกว่าไม่ได้ใกล้เคียงกับสิ่งที่เขาเคยได้รับในทศวรรษ 80s แม้แต่น้อย

“มันเป็นช่วงเวลาที่น่าอับอายและมืดมน ผมแค่อยากจะกดปุ่มแล้วให้ตัวเองหายไปตลอดกาล”

“เมียก็ทิ้งผมไป เงินก็หมดสิ้นแล้ว มีแค่หมาเท่านั้นที่ยังอยู่เป็นเพื่อนผม” 

“มีช่วงหนึ่งที่ผมเอาแต่เก็บตัวอยู่ในบ้านนานกว่า 5 เดือน” รูค เล่าถึงชีวิตตัวเองในช่วงเวลาดังกล่าว

แสงสว่างครั้งใหม่ 

นานเกือบ 2 ทศวรรษที่ มิคกี้ รูค ถูกเงามืดแห่งฮอลลีวูดบดบังเอาไว้ ก่อนที่ในที่สุดชื่อของเขาจะได้รับการพูดถึงอีกครั้งเมื่อปี 2005 จากบทบาทการแสดงในภาพยนตร์เรื่อง Sin City ของผู้กำกับ โรเบิร์ต โรดริเกวซ ที่ทำให้โลกได้รับรู้อีกครั้งว่า มิคกี้ รูค ยังคงเป็นเสือเฒ่าที่ฝีมือการแสดงยังคงเฉียบคม

รูค ได้รับรางวัล Chicago Film Critics Association, IFTA และ Online Film Critics Society รวมถึง Man of the Year จากนิตยสาร Total Film จากผลงานการแสดงบท มาร์ฟ ตัวเอกในองค์ The Hard Goodbye ของภาพยนตร์ Sin City

Photo : Dimension Films

ปฏิเสธไม่ได้ว่าการแสดงของ รูค ใน Sin City นั้นยอดเยี่ยม แต่ความมหัศจรรย์ที่แท้จริงเกิดขึ้นหลังจากนั้น 3 ปี ในปี 2008 รูค ได้รับโอกาสสำคัญอีกครั้งในชีวิต หลังจากที่ ดาร์เรน อโรนอฟสกี ยื่นข้อเสนอให้ รูค รับบทนำในภาพยนตร์เรื่อง The Wrestler

The Wrestler คือภาพยนตร์ดราม่าเข้มข้น ที่เกิดจากการร่วมมือกันระหว่าง ดาร์เรน อโรนอฟสกี ผู้กำกับฝีมือดีที่เคยฝากผลงานให้โลกได้ประจักษ์มาแล้วในภาพยนตร์เรื่อง Requiem for a Dream (2000) กับ โรเบิร์ต ซีกัล มือเขียนบทผู้มีมุมมองไม่เหมือนใคร 

“ในตอนแรกผมไม่ได้สนใจบทนี้มากนัก แต่ผมอยากร่วมงานกับ อโรนอฟสกี มานานแล้ว ผมจึงบอกเขาไปว่าบทที่เขียนมายังเข้าไม่ถึงชีวิตที่ตกต่ำอย่างแท้จริง ผมจึงขอแก้บทในส่วนตัวละคร ‘เดอะ แรม’ ใหม่ และเขาก็อนุญาต ผมจึงโอเคที่จะรับบทนี้” รูค กล่าว

Photo : FOX Searchlight

นอกจากนั้น The Wrestler ยังเป็นหนึ่งในภาพยนตร์ที่ได้รับการยกย่องว่าเล่าเรื่องโลกแห่งกีฬามวยปล้ำออกมาได้อย่างสมจริงที่สุด นั่นก็เพราะ อโรนอฟสกี พิถีพิถันในทุกรายละเอียด นอกจากนั้น ถ้าเปิดไปดูที่รายชื่อนักแสดง จะพบว่ามีนักมวยปล้ำอาชีพจำนวนมากร่วมแสดง ทั้งตัวละครหลักและตัวละครสมทบ

ด้วยเหตุนี้ รูค ซึ่งรับบทเป็น แรนดี้ “เดอะ แรม” โรบินสัน อดีตนักมวยปล้ำที่เคยรุ่งเรืองสุดขีดในยุค 80s แต่ในปัจจุบันเขากลับกลายเป็นเพียงแค่ชายแก่ตกอับ วัน ๆ ใช้ชีวิตสำมะเลเทเมา และเฝ้าหวังว่าจะได้รื้อฟื้นความสัมพันธ์กับลูกสาวผู้ห่างเหินขึ้นมาใหม่อีกครั้ง จึงต้องเข้าฝกฝึนทักษะมวยปล้ำอย่างจริงจังเป็นระยะเวลาหลายเดือน โดยมีนักมวยปล้ำอาชีพจาก WWE มาเป็นครูฝึกให้

Photo : FOX Searchlight

“ผมต้องเข้าสแกน MRI 2-3 ครั้งในระยะเวลาเพียงไม่กี่เดือนเพราะลงพื้นผิดท่า แต่พวกเขา (นักมวยปล้ำอาชีพ) ต้องฝีกสิ่งเหล่านี้นับปี ผมจึงรู้สึกเคารพพวกเขาและอาชีพนี้อย่างมาก”

“ตอนที่ถ่ายจนจบได้ เทรนเนอร์ต้องช่วยเข็นผมขึ้นบันไดบ้านตัวเอง ผมโดนเขาหิ้วปีกเหมือนเป็นตาแก่พิการ ไม่ทันได้ถ่ายก็คิดว่าตัวเองจบเห่แล้วด้วยซ้ำ” 

“เขาบอกผมว่า ‘คุณมันเรื่องเยอะ’ ผมผงกหัวรับคำ เขาบอกว่า ‘คุณโยนอนาคตตัวเองทิ้ง’ ผมผงกหัวอีก ไม่ว่าเขาพูดอะไร ผมเห็นด้วยทั้งหมด ต่อให้เขาพูดหยามพลางชี้นิ้วสั่งว่า ‘คุณต้องเคารพผม ตกกลางคืนอย่าไปมั่วผู้หญิงให้มาก วันหยุดก็ห้ามหนีไปปาร์ตี้จนเละเทะ และบอกไว้ก่อนนะว่างานนี้เราไม่มีเงินจ่ายค่าจ้างให้’ นึกภาพออกรึยังว่าการงานผมตอนนั้นบัดซบแค่ไหน ผมได้แต่ทนฟังเขาด่าแล้วก็เถียงไม่ออก” 

Photo : FOX Searchlight

รูค เผยถึงความยากลำบากในการสวมบทเป็น แรนดี้ โรบินสัน แต่ที่เขายอมลงทุนขนาดนี้เพราะเขาตั้งความหวังไว้อย่างมากว่า บทบาทครั้งนี้นี่แหละจะชุบชีวิตเขาขึ้นมาให้กลายเป็นดาวเด่นในฮอลลีวูดอีกครั้ง

อนาคตที่ยังไม่ได้ขีดเขียน

ราคาที่ มิคกี้ รูค ยอมจ่ายเพื่อให้ตัวเองได้รับบทนำในภาพยนตร์เรื่อง The Wrestler นั้นมหาศาล แต่ผลลัพธ์ที่ออกมาต้องบอกว่าคุ้มค่า เพราะ The Wrestler กลายเป็นหนึ่งในภาพยนตร์ที่ยอดเยี่ยมที่สุดในปี 2008 ถึงขั้นที่ว่า โรเจอร์ อีเบิร์ต นักวิจารณ์ภาพยนตร์ระดับปูชนียบุคคล ออกมากล่าวยกย่องว่า

“The Wrestler คือภาพยนตร์ชั้นดีแห่งปี 2008”

Photo : FOX Searchlight

นอกจากนั้น The Wrestler ยังกวาดคะแนนวิจารณ์ใน Rotten Tomatoes ไป 98% รวมถึงได้รับรางวัลสิงโตทองคำในเทศกาลภาพยนตร์นานาชาติเวนิส ครั้งที่ 65 

ส่วน มิคกี้ รูค เองก็ได้รับการยกย่องว่า บทบาท แรนดี้ โรบินสัน คือการแสดงที่ยอดเยี่ยมที่สุดในชีวิตของเขา ถึงแม้ว่าจะไปไม่ถึงการคว้ารางวัลนักแสดงนำชายยอดเยี่ยมบนเวทีออสการ์ (รูค พ่ายแพ้ต่อ ฌอน เพนน์ จากภาพยนตร์เรื่อง Milk ที่ดีกรีการแสดงก็ยอดเยี่ยมไม่แพ้กัน โดยในปีนั้นถือเป็นออสการ์ครั้งที่สาขานักแสดงนำชายขับเคี่ยวกันอย่างสูสีที่สุด) แต่เขาก็ได้เข้าชิง และในเวทีอื่น ๆ เช่น BAFTA Golden Globe, Independent Spirit Award รูค ก็กวาดรางวัลมานอนกอดได้มากมาย

Photo : ABC

ไม่มีใครสงสัยในความทุ่มเทสุดชีวิตของ มิคกี้ รูค ใน The Wrestler แต่อีกหนึ่งเหตุผลของความยอดเยี่ยมที่จะปฏิเสธไม่ได้เลยก็คือ ตัวละคร แรนดี้ โรบินสัน คือภาพสะท้อนชีวิตจริงของ รูค ราวกับว่าเขากำลังส่องกระจกมองตัวเองอยู่ เขาจึงเข้าถึงตัวละคร แรนดี้ ได้ลึกถึงระดับจิตวิญญาณ

รูค และ แรนดี้ ต่างก็เคยมีชีวิตที่ยอดเยี่ยม รุ่งเรืองในเส้นทางอาชีพสุด ๆ ในทศวรรษ 80s ก่อนที่หลังจากนั้นทั้งคู่จะพาชีวิตตัวเองดิ่งลงเหว มีพฤติกรรมสำมะเลเทเมา ขาดความรับผิดชอบเหมือนกัน

Photo : FOX Searchlight

หลังจากชีวิตถึงจุดต่ำสุด ทั้ง รูค และ แรนดี้ ต่างก็หวังว่าจะพิสูจน์ตัวเองให้โลกเห็นว่ายังมีน้ำยา เขี้ยวเล็บยังแหลมคม โดยการพิสูจน์ของ รูค ก็คือการแสดงใน The Wrestler ส่วน แรนดี้ เขาได้ขึ้นสังเวียนปล้ำอีกครั้งในวัยชรา ถึงแม้ว่ามันจะเสี่ยงอันตรายถึงชีวิตก็ตาม

นอกจากนั้นใน The Wrestler ยังมีการแฝง Easter Egg ประเด็นนี้ไว้อย่างชัดเจน โดยเป็นฉากที่ แรนดี้ เดินขึ้นสู่เวทีพร้อมเสียงเพลง “Sweet Child o ‘Mine” ของ Guns N’ Roses ซึ่งเป็นเพลงเดียวกับที่ รูค เลือกใช้เป็นเพลงประจำตัวเมื่อครั้งเป็นนักมวย

ถ้านี่คือเรื่องราวในภาพยนตร์ ความสำเร็จจาก The Wrestler น่าจะช่วยต่อยอดให้ชีวิตของ รูค ดีขึ้น กลับมาเป็นดาวเด่นแห่งฮอลลีวูดได้อีกครั้ง เป็นตอนจบที่มีความสุข … น่าเสียดาย ว่านี่คือชีวิตจริง

Photo : MARVEL Studios

จริงอยู่ที่หลังจากนั้น รูค เริ่มมีงานแสดงในภาพยนตร์ฟอร์มใหญ่มากขึ้นเช่น Iron Man 2 (2010), The Expendables (2010), Immortals (2011) และภาคต่อของ Sin City อย่าง Sin City: A Dame to Kill For (2014) โดยเหตุผลก็มาจากผลงานระดับมาสเตอร์พีซใน The Wrestler

“ผมเห็นเขาจาก Sin City จาก The Wrestler ผมรู้เลยว่าคนนี้แหละใช่ ผมต้องการคนที่ดึงความสนใจได้ภายในเวลาอันสั้น คนแบบที่เห็นแวบแรกก็รู้ทันทีว่า โทนี่ (สตาร์ค พระเอกของเรื่อง นำแสดงโดย โรเบิร์ต ดาวนีย์ จูเนียร์) งานเข้าแล้ว” จอน แฟฟโรว์ ผู้กำกับ Iron Man 2 กล่าวถึงเหตุผลที่เลือก รูค 

แต่มันก็เพียงเท่านั้น เพราะหลังจากนั้น รูค ก็ยังคงวนเวียนอยู่กับการแสดงในภาพยนตร์เกรด B ห่างไกลกับเมื่อ 40 ปีที่แล้วโดยสิ้นเชิง แต่ในเมื่อชีวิตยังไม่สิ้น และปัจจุบัน รูค ในวัย 69 ปีก็ยังคงมีสุขภาพแข็งแรง ไม่แน่ว่าสักวันหนึ่งอาจจะมีผลงานการแสดงสักชิ้นทำให้เขาผงาดขึ้นมาในวัยชราเหมือนที่ เลียม นีสัน ทำได้ก็เป็นได้

Photo : FOX Searchlight

เฉกเช่นเดียวกับฉากสุดท้ายในภาพยนตร์ The Wrestler ที่ตัวละคร แรนดี้ โรบินสัน คืนสังเวียนปล้ำกับ The Ayatollah คู่แข่งของเขา และเมื่อปล้ำไปเรื่อย ๆ เหมือนว่าสุขภาพหัวใจของ แรนดี้ จะไม่ไหว ทว่าเขาก็ไม่เลือกยอมแพ้ แต่กลับปีนขึ้นไปยืนบนเชือกเส้นที่ 3 ก่อนจะกระโดดลงมา … และภาพยนตร์ก็จบลงเพียงเท่านี้

ไม่มีใครทราบว่า แรนดี้ เป็นอย่างไรต่อไป เขาเสียชีวิตในการต่อสู้ครั้งนี้ หรือว่าสามารถพลิกล็อกเอาชนะ The Ayatollah ได้อย่างยิ่งใหญ่ … ชีวิตของ มิคกี้ รูค เองก็เช่นกัน

แท็กที่เกี่ยวข้อง

เรื่องอื่นที่น่าสนใจ