The Gaucho : เผ่านักขี่ม้าบนเทือกเขา ผู้ยัดเยียดความพ่ายแพ้ให้กองทัพสเปน

Home » The Gaucho : เผ่านักขี่ม้าบนเทือกเขา ผู้ยัดเยียดความพ่ายแพ้ให้กองทัพสเปน



The Gaucho : เผ่านักขี่ม้าบนเทือกเขา ผู้ยัดเยียดความพ่ายแพ้ให้กองทัพสเปน

เมื่อคนผิวขาวเดินทางมาถึงสหรัฐอเมริกาและตั้งรกราก พวกเขาสร้างวัฒนธรรมอย่างหนึ่งขึ้นมานั่นคือ “คาวบอย”

ชายหนุ่มบนหลังม้า ใส่หมวกปีกกว้าง มีปืนเป็นอาวุธ ทำหน้าที่ดูแลฝูงวัว และรบกับ อินเดียนแดง คือสิ่งที่พวกเรารู้กัน แต่พล็อตเรื่องดังกล่าวไม่ได้เกิดขึ้นที่อเมริกาแต่เพียงอย่างเดียวเท่านั้น 

และนี่คือเรื่องราวของชาวเผ่า “เดอะ เกาโช” ยอดนักขี่ม้าและยอดนักสังหารในยามที่ท้องฟ้ามืดมิด … กลุ่มชาวนาที่สามารถทำให้ อาร์เจนตินา สามารถต้านแสนยานุภาพของกองทัพสเปนได้อย่างน่าชื่นชม

ติดตามความเก๋าชาว เกาโช ได้ที่นี่

กำเนิด เดอะ เกาโช 

ก่อนที่จะถึงยุคของการปฏิวัติอุตสาหกรรมในช่วงปลายคริสต์ศตวรรษที่ 18 ถึงต้นคริสต์ศตวรรษที่ 19 นั้น เกษตรและปศุสัตว์คืออาชีพหาเลี้ยงปากท้องของมนุษย์และบรรพบุรุษในแต่ละพื้นที่ เพราะการปลูกผักและเลี้ยงสัตว์เป็นอะไรที่ตรงตัว ไม่ซับซ้อน ปลูก และ เลี้ยง เพื่อเป็นอาหาร หนึ่งในปัจจัย 4 ของมนุษย์ทุกชีวิต  

นั่นเองคือจุดเริ่มต้นของการมีคาวบอยขึ้นมา กลุ่มผู้ชายที่คอยดูแลฝูงสัตว์ไม่ให้เกิดอันตราย โดนฆ่า หรือโดนขโมย ไม่ว่าจะจากคนหรือสัตว์ หน้าที่ของคาวบอยจึงจำเป็นอย่างมากที่จะต้องรู้ทั้งศาสตร์ รวมถึงมีฝีมือในการต่อสู้และป้องกันในระดับหนึ่ง นั่นคือหนึ่งในหน้าที่ของ เดอะ เกาโช กลุ่มชนเผ่าที่อยู่บนหลังม้ามาตั้งแต่ในศตวรรษที่ 17 พวกเขาอาศัยอยู่ตามเนินเขาที่สูงชันและมีทุ่งหญ้าอันเงียบสงบในประเทศ อาร์เจนตินา และจุดแตกต่างที่ทำให้ เกาโช มีชื่อเสียงในการเป็นคาวบอยเหนือเผ่าอื่น ๆ ก็คือ “พวกเขาขี่ม้าเก่งมาก”

1

มีงานเขียนทางวิชาการของ ริชาร์ด ดับเบิลยู สลัตตา (Richard W. Slatta) บันทึกไว้ว่าสำหรับชาว เกาโช มีคำสอนเด็ก ๆ ในชุมชนของพวกเขาว่า “บุรุษใดไร้อาชาคู่ใจ เขาผู้นั้นไซร้เหมือนกับคนที่เกิดมาไม่มีขา” (That a man without a horse was a man without legs.) ซึ่งก็คงจะบอกได้เป็นอย่างดีว่า พวกเขาเกิดมาเพื่อสิ่งนี้ 

ชื่อเสียงเรียงนามของ เกาโช ดังไปไกล ตำนานกล่าวไว้ว่าไม่มีใครสามารถขโมยวัวของพวก เกาโช ได้ หากพวกเขาอยู่ในสมรภูมิที่คุ้นเคย ไม่ว่าจะในยุคที่มีปืนหรือไม่มีปืน เกาโช ไม่เคยปล่อยให้สัตว์เลี้ยงของพวกเขาตกอยู่ในอันตราย 

แค่บอกว่าเลี้ยงวัวเก่ง อาจจะไม่สามารถทำให้คุณว้าวได้มากพอ แต่อย่าเพิ่งดูถูกพวกเขาจนเกินไป เพราะชนเผ่าบนหลังม้าชนเผ่านี้ได้ถูกบันทึกไว้ในประวัติศาสตร์ว่า “พวกเขาเคยเข้าไปอยู่ในสงคราม” และช่วยให้ประเทศ อาร์เจนตินา ได้รับชัยชนะมาแล้ว

นักสังหารบนหลังม้า 

แม้จะเป็นเผ่าที่เดินทางเร่ร่อน แต่ เกาโช ไม่ใช่พวกทำตัวเหนือกฎหมายและเป็นตัวร้ายเหมือนกับในภาพยนตร์ พวกเขารักอิสระ อยู่กันอย่างสงบมากที่สุด และแทบไม่ยุ่งกับใคร นอกเสียจากว่าเหตุการณ์ต่าง ๆ จะวิ่งมาหาพวกเขากระทั่งเข้าตาจนหาทางแก้ไม่ได้ 

2

หลังจากเลี้ยงวัวในทุ่งหญ้าอย่างสงบสุขมายาวนาน ในช่วงต้นคริสต์ศตวรรษที่ 19 เป็นช่วงที่ประเทศ อาร์เจนตินา เกิดสงครามขึ้น สงครามนั้นชื่อว่า “สงครามอิสรภาพ” หรือ War of Independence ระหว่าง อาร์เจนตินา ดินแดนอาณานิคม และ สเปน เจ้าอาณานิคม ในยุคสมัยของพระเจ้าเฟอร์ดินานด์ที่ 7 

“การปล้นสะดมและความตายกระจายไปทั่วยังทุกชนบท พวกเขาถูกคุกคามอย่างโหดร้ายโดยที่พวกเขาไม่มีเหตุจูงใจในการต่อสู้ เพียงแต่พวกเขาลุกขึ้นสู้เพื่อปกป้องชีวิต, ทรัพย์สิน และครอบครัวของพวกเขา” นี่เป็นเหตุการณ์ที่ ฆัวกิน เด ลา เปซูเอลา ผู้บัญชาการทหารของสเปนในสงครามครั้งนั้นบันทึกถึงเรื่องราวของการได้สู้กับเผ่า เกาโช 

สงครามครั้งนั้นกระจายวงกว้างไปทั่ว และ เกาโช คือชนเผ่าที่ต้องลุกขึ้นมาจับดาบและถือปืน พวกเขาทะยานขึ้นหลังม้าด้วยภารกิจเดียว นั่นคือ “การปกป้องครอบครัวของพวกเขาและครอบครัวของชาวอาร์เจนไตน์ทุกคน” นักรบเกาโชกว่า 150,000 คน ถูกเรียกรวมเป็นหนึ่งในกำลังพลของกลุ่มรักชาติ และเป็นผู้อยู่เบื้องหลังชัยชนะ รวมถึงการประกาศอิสรภาพของ อาร์เจนตินา 

3

เดิมทีไม่ได้มีใครสั่งให้พวกเขารบกับสเปน แต่มีการบันทึกว่าทางการอาร์เจนตินา บรรจุพวกเขาในฐานะนักรบของประเทศ เนื่องจากการส่งสารของนายพล โฮเซ่ เด ซาน มาร์ติน ผู้บัญชาการทหารสูงสุดของกองทัพฝ่ายเหนือ ผู้แจ้งไปยังกรุงบัวโนไอเรสที่เป็นศูนย์บัญชาการใหญ่ว่า กลุ่มเกาโชจาก เมืองซัลต้า กำลังทำสงครามแย่งชิงอาหารและทรัพยากรกับชาวสเปนที่กำลังรุกรานตอนเหนือ และพวกเขาสามารถต้านทานกองทัพสเปนได้เป็นเวลาหลายเดือน จนกระทั่งมีการส่งกำลังพลเข้าไปช่วย 

หลังจากเรื่องนี้แพร่ออกไป หนังสือพิมพ์ของรัฐบาลที่ชื่อว่า La Gaceta Ministerial ได้เขียนบทความเกี่ยวกับเหล่า เกาโช ในตอนเหนือว่า “ชาวนาผู้รักชาติและกล้าหาญ” 

ขณะที่บันทึกอีกฉบับจาก อันเดรส การ์เซีย กัมบา อีกหนึ่งนายพลชาวสเปนที่ได้บันทึกเรื่องราวของสงครามนั้นไว้ ได้พูดถึงสาเหตุที่ทำให้ เกาโช สามารถสู้กับกองทัพสเปนได้จนทุกอย่างยืดเยื้อไม่เป็นไปตามแผนด้วย

“เหล่าคนชนบทพวกนี้เป็นยอดนักขี่ม้าฝีมือดี พวกเขาใช้อาวุธอย่าง ดาบ, ปืนคาบศิลา หรือปืนไรเฟิล พวกเขาสามารถจัดการทุกอย่างได้บนหลังม้า ด้วยทักษะการควบคุมที่ไม่มีใครเทียบได้”

“พวกเขาเข้าหาศัตรูด้วยความมั่นใจอย่างน่าประหลาด สงบ และเยือกเย็น พวกเขาทำให้ชาวยุโรปต้องประหลาดใจที่ได้เห็นยอดนักขี่ม้าแบบพวกเขาเป็นครั้งแรก ไม่มีใครเทียบได้อีกแล้ว ในสงครามครั้งนี้ ไม่มีใครสามารถรบแบบกองโจรได้เทียบเท่ากับพวกเขาอย่างแน่นอน” 

4

ณ เวลานั้นกองทัพสเปนอาศัยในเมือง ซัลตา และ คูคุย ซึ่งพวกเขาจะออกมาหาเสบียงในช่วงพลบค่ำ เมื่อฟ้ามืด เหล่าชาวหนุ่มชาวเกาโชจะกลายเป็นฝ่ายคุกคามและตัดกำลังกองทัพสเปน จนพวกเขาพบว่าแม้ตัวเองจะยึดเมืองได้ แต่ก็เหมือนกับโดนตัดแขนตัดขาให้ทำอะไรต่อไม่ได้  ซึ่งนั่นคือกุญแจสำคัญที่ทำให้ฝ่าย อาร์เจนตินา เป็นฝ่ายชนะ

ขณะที่นายพล ปาซ ของฝั่งอาร์เจนตินา เรียกชัยชนะเหนือสเปนครั้งนี้ว่า “สงครามที่เมือง ซัลตา และ คูคุย เป็นหนี้ชาว เกาโช” เลยทีเดียว

ปัจจุบันชาวเกาโช อยู่ที่ไหน? 

หลังสงครามแห่งอิสรภาพจบลง ชื่อเสียงของเผ่า เกาโช โด่งดังไปทั่วทั้ง อาร์เจนตินา และทวีปอเมริกาใต้ จนถึงขนาดนี้ว่า โฮเซ่ เอร์นานเดซ กวีชื่อดังชาวอาร์เจนไตน์ ได้เอาเรื่องราวทั้งหมดไปแต่งบทกวีที่มีชื่อว่า มาร์ติน ฟิเอร์โร่ (El Gaucho Martín Fierro) โดยบทกวีนี้เชื่อมโยงกับประวัติศาสตร์ของ เกาโช โดยตรง และเน้นไปที่เรื่องบทบาทสำคัญของชาวเกาโชในสงครามระหว่าง อาร์เจนตินา กับ สเปน 

5

มีท่อนหนึ่งจากเรื่องนี้ ที่ว่าด้วยความสำคัญของม้าและชาวเกาโชว่า “ม้าของฉันและผู้หญิงของฉัน ออกไปที่ซัลตา ขอให้ม้ากลับมา เพราะว่าฉันไม่ต้องการผู้หญิงของฉันเลย” ซึ่งก็เป็นอีกครั้งที่ยืนยันว่า ฝีมือการขี่ม้าของชาวเกาโช จัดว่าอยู่ในระดับขั้นเทพ 

นอกจากนี้ยังมีอีกเรื่องที่กวีในยุคใหม่กว่านั้น นาม เกาชิโต กิล แต่ง โดยเนื้อเรื่องจะคล้าย ๆ กับ โรบินฮู้ด ที่ปล้นคนรวยไปช่วยคนจน และช่วงปี 1942 มีภาพยนตร์เรื่อง The Gaucho War (La guerra gaucha) ที่เป็นหนึ่งในภาพยนตร์ซึ่งประสบความสำเร็จมากที่สุดเรื่องหนึ่งในประวัติศาสตร์ของประเทศอาร์เจนตินาเลยทีเดียว

6

อย่างไรก็ตาม ทุกตำนานย่อมมีวันลดความสำคัญลง หลังจากรับบทบาทพระเอกมานาน เมื่อเข้าสู่คริสต์ศตวรรษที่ 19 วัฒนธรรม เกาโช ก็เริ่มถดถอยลง เพราะยุคนั้นเป็นยุคของการปฏิวัติอุตสาหกรรม ทำให้เกิดเทคโนโลยีใหม่ ๆ ขึ้นมามากมาย และเทคโนโลยีเหล่านั้นสามารถลดความต้องการแรงงานในชนบท จนทำให้คนจำนวนมากต้องออกไปหางานทำในเมืองหลวง เช่นเดียวกับวัฒนธรรมแบบขี่ม้าเลี้ยงวัวของชาวเกาโช ที่ถูกมอว่าเป็นวิถีที่ไร้อารยธรรมไปโดยปริยาย 

ทว่าชาวเกาโช ไม่ปล่อยให้ชื่อเสียงของพวกเขาต้องถดถอยไปตามคนอื่น ๆ ว่า เวลานี้ผ่านมาแล้ว 100 กว่าปี พวกเขาสามารถหาตัวเองเจอในโลกยุคใหม่โดยไม่ต้องปรับเปลี่ยนพฤติกรรมมากนัก เนื่องจากพวกเขาได้ค้นพบอุตสาหกรรมท่องเที่ยวแบบใหม่ที่น่าตื่นเต้น โดยให้นักท่องเที่ยวเข้ามาเพลิดเพลินกับวิถีชีวิตแบบชนบทและคาวบอยแบบจริง ๆ  

ตอนนี้ไม่ใช่แค่การขี่ม้าและสู้รบเท่านั้นที่ชาว เกาโช ทำเป็น พวกเขายังเรียนรู้การพูด การเป็นพิธีกร การเป็นนักแสดง และผู้ให้ความรู้เกี่ยวกับอารยธรรมของพวกเขา กับเหล่านักท่องเที่ยวที่เข้ามาในขณะเดียวกัน การเลี้ยงวัว, แกะ และการพัฒนาฝีมือการขี่ม้าก็ยังอยู่ในสายเลือด พวกเขาทำควบคู่กันไป และช่วยสร้างรายได้ที่ยั่งยืนกว่าที่เคยเป็น

National Geographic สารคดีระดับโลกเคยมาทำรายการเกี่ยวกับชีวิตของชาว เกาโช และพวกเขายืนยันว่ายังมีชาวเผ่าเกาโชอีกราว ๆ 1.5 แสนคน ที่อาศัยอยู่ใน อาร์เจนตินา, เปรู, เอกวาดอร์ และ อุรุกวัย  

7

“การดำเนินชีวิตของพวกเรามีความสำคัญมาก เพราะมันช่วยให้ชาว เกาโช สามารถรักษาและส่งต่อคุณค่าของบรรพบุรุษมาถึงเด็ก ๆ หากไม่มีสิ่งนี้ พวกเขาจะไม่มีทางอยู่ในธุรกิจการท่องเที่ยวได้ เพราะพวกเราจำเป็นจะต้องแสดงให้เห็นถึงวิถีชีวิตที่บริสุทธิ์และจริงใจออกมาให้คนอื่น ๆ เห็นให้ได้” ออกุสติน หนึ่งในผู้ให้สัมภาษณ์กับรายการดังกล่าว 

ไม่ว่าจะผ่านไปกี่ยุคกี่สมัย ทักษะการขี่ม้ายังคงอยู่กับชาว เกาโช เสมอ จากเลี้ยงวัว, สู้รบ หรือแสดงโชว์ ก็สามารถทำให้พวกเขาสามารถภูมิใจในเอกลักษณ์ของตัวเองได้โดยแท้จริง 

แท็กที่เกี่ยวข้อง

เรื่องอื่นที่น่าสนใจ