TDRI ประเมินผลงานรัฐบาลประยุทธ์ 2 เสนอทางนโยบายต่อรัฐบาลใหม่

Home » TDRI ประเมินผลงานรัฐบาลประยุทธ์ 2 เสนอทางนโยบายต่อรัฐบาลใหม่
TDRI-min

TDRI (ทีดีอาร์ไอ) ประเมินผลงาน รัฐบาลประยุทธ์ 2 พร้อมข้อเสนอแนะ ทางนโยบาย ต่อรัฐบาลใหม่

เมื่อวันที่ 11 สิงหาคม 2566 สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) ได้เปิดเผยรายงานการประเมินผลงานของรัฐบาลประยุทธ์ 2 และข้อเสนอแนะทางนโยบายต่อรัฐบาลใหม่ ซึ่งเนื้อหาโดยสรุประบุว่า ท่ามกลางสถานการณ์การจัดตั้งรัฐบาลในขณะนี้ที่ยังมีความไม่แน่นอนหลายประการ แต่มีสิ่งหนึ่งที่แน่นอนคือ รัฐบาลใหม่ที่จะตั้งขึ้นมามีโจทย์ท้าทายมากมายรออยู่ ทำให้ทีดีอาร์ไอประเมินผลงานของรัฐบาลประยุทธ์ 2 เพื่อเป็นส่วนหนึ่งของการระบุโจทย์ท้าทาย และเพื่อนำเสนอข้อเสนอแนะทางนโยบายต่อรัฐบาลใหม่

ในช่วง 4 ปีของรัฐบาลประยุทธ์ 2 เกิดเหตุการณ์สำคัญคือ การระบาดของโควิด-19 ตั้งแต่ต้นปี 2563 มีผลทำให้หนี้ครัวเรือนเพิ่มขึ้นจากร้อยละ 79.9 ในช่วงต้นของรัฐบาลเป็นร้อยละ 86.9 เมื่อสิ้นปี 2565 และหนี้สาธารณะสูงขึ้นจากร้อยละ 41 ในช่วงต้นของรัฐบาลเป็นร้อยละ 61.6 ของ GDP เมื่อเดือนพฤษภาคม 2566 ซึ่งส่วนหนึ่งเกิดจากการที่รัฐบาลมีโครงการต่างๆ เพื่อช่วยเหลือประชาชนในช่วงวิกฤติโควิด-19 อีกส่วนหนึ่งเกิดจากการลงทุนในด้านโครงสร้างพื้นฐานขนาดใหญ่หลายโครงการและการดำเนินนโยบายอื่นๆ ของรัฐบาล

สำหรับการประเมินจะให้ความสำคัญต่อสิ่งที่ผู้ประเมินเห็นว่าเป็นนโยบายหลัก (Flagship) ของรัฐบาล โดยมุ่งเน้นด้าน “มั่งคั่งและยั่งยืน” แต่ไม่รวมด้านความ “มั่นคง” ซึ่งคณะผู้ประเมินไม่มีความถนัด  โดยการประเมินผลงานนี้มุ่งหวังเพื่อเสนอให้รัฐบาลใหม่ รัฐสภา พรรคการเมือง องค์กรต่างๆ และประชาชนให้การสนับสนุนในการสานต่อนโยบายที่เราเห็นว่าเป็นประโยชน์ต่อประเทศ ริเริ่มนโยบายที่สมควรทำแต่ยังไม่ได้ทำ และยกเลิกนโยบายที่ดำเนินการอยู่ที่ก่อให้เกิดปัญหา

ผลงานของรัฐบาลด้านความ “มั่งคั่ง” ประกอบไปด้วย การพัฒนาเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC), การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคม, การพัฒนาเศรษฐกิจดิจิทัล, การพัฒนาภาคเกษตร และการปฏิรูปการศึกษาขั้นพื้นฐาน

TDRI-11-8-66-9-min

การพัฒนาเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC)

เป็นนโยบายหลักของรัฐบาลประยุทธ์ 2 ในการยกระดับความสามารถในการแข่งขันของประเทศไทย ควบคู่ไปกับการส่งเสริมการพัฒนาอุตสาหกรรมเป้าหมาย (S-Curve industries) ต่อเนื่องจากร้ฐบาลประยุทธ์ 1 โดยโครงการที่มีความคืบหน้าอย่างมีนัยสำคัญมีหลายโครงการ เช่น การพัฒนากำลังคนระดับสูงเพื่อรองรับอุตสาหกรรมเป้าหมาย และการพัฒนาอุตสาหกรรมการแพทย์แม่นยำ ตลอดจนการดึงดูดการลงทุนมายังพื้นที่ EEC โดยรวม

อย่างไรก็ตาม มีหลายโครงการที่ยังไม่มีความคืบหน้านัก ทั้งที่มีความสำคัญสูงในระดับเป็น “เรือธง” เช่น การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานที่สำคัญ (Flagship project) โดยเฉพาะอย่างยิ่งโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อมสามสนามบิน และโครงการสนามบินอู่ตะเภาและเมืองการบินภาคตะวันออก ซึ่งมีความล่าช้ากว่าเป้าหมายที่กำหนดไว้มาก ส่วนการลงทุนในอุตสาหกรรมเป้าหมายใหม่ (New S-Curve) ยังมีสัดส่วนต่ำมาก โดยเฉพาะอุตสาหกรรมหุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติ

สำหรับข้อเสนอแนะต่อรัฐบาลใหม่นั้น ควรสนับสนุนการพัฒนาพื้นที่ EEC ไปต่อเนื่อง แต่ควรทบทวนอุตสาหกรรมเป้าหมายใหม่ให้สอดคล้องกับผลการดำเนินงานที่ผ่านมาและสถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลงไป เพื่อกำหนดยุทธศาสตร์ใหม่ให้เหมาะสม ควบคู่ไปกับการเร่งรัดการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานที่สำคัญ ขณะเดียวกันควรเร่งแก้ไขปัญหาด้านสิ่งแวดล้อมในพื้นที่ EEC อย่างจริงจัง พร้อมกับใช้การพัฒนาพื้นที่ EEC เป็นต้นแบบขยายผลไปสู่การปฏิรูปกฎระเบียบในการประกอบธุรกิจของประเทศในวงกว้าง

TDRI-11-8-66-2-min

การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคม

รัฐบาลประยุทธ์ 2 มีการลงทุนด้านโครงสร้างคมนาคมต่อเนื่องจากรัฐบาลประยุทธ์ 1  สามารถผลักดันโครงการบางส่วนสำเร็จอย่างเป็นรูปธรรม คือ รถไฟฟ้าสายสีแดงและสายสีเหลือง รวมถึงสายสีชมพูที่กำลังจะเปิดให้บริการ นอกจากนี้ยังอนุมัติเส้นทางรถไฟทางคู่สายใหม่ 2 เส้นทาง คือ เส้นทางเด่นชัย-เชียงราย และบ้านไผ่-นครพนม แต่ไม่สามารถผลักดันโครงการสำคัญ อย่างน้อย 4 โครงการให้สำเร็จได้ คือ การก่อสร้างรถไฟทางคู่ ช่วงมาบกระเบา-จิระ ซึ่งทำให้เส้นทางรถไฟทางคู่ในภาคตะวันออกเฉียงเหนือที่เสร็จสิ้นไปมากแล้วไม่สามารถใช้งานได้อย่างเต็มศักยภาพ , โครงการรถไฟฟ้าสายสีส้มเกิดความล่าช้าในการประมูล และไม่มีความคืบหน้าดำเนินการให้เกิดตั๋วร่วมค่าโดยสารฯ , โครงการระบบขนส่งมวลชนในส่วนภูมิภาคและโครงการระบบขนส่งในพื้นที่ EEC ยังไม่เกิดขึ้น

ข้อเสนอแนะต่อรัฐบาลใหม่ เร่งรัดการก่อสร้างโครงการรถไฟทางคู่ให้แล้วเสร็จโดยเร็ว และออกกฎหมายการขนส่งทางรางเปิดโอกาสให้เอกชนเข้ามาร่วมให้บริการเดินรถไฟได้ ขณะเดียวกันเร่งแก้ไขปัญหาการประมูลสัญญาสัมปทานสายสีส้ม และเร่งรัดให้เกิดตั๋วร่วมค่าโดยสารทั้งระบบรถไฟฟ้าและรถโดยสารประจำทาง เพื่อที่ประชาชนมีค่าใช้จ่ายน้อยลง รวมไปถึงเร่งแก้ไขกฎระเบียบที่เป็นอุปสรรค กระจายอำนาจและสนับสนุนงบประมาณให้ท้องถิ่นให้บริการขนส่งสาธารณะในพื้นที่ได้  

TDRI-11-8-66-4-min

การพัฒนาเศรษฐกิจดิจิทัล 

รัฐบาลประยุทธ์ 2 ได้ประกาศให้ความสำคัญต่อการพัฒนา “เศรษฐกิจดิจิทัล” และ “บริการรัฐบาลดิจิทัล” เพื่อพัฒนาขีดความสามารถของประเทศ ปฏิรูปการบริหารจัดการของภาครัฐ และยกระดับทักษะของคนไทย ผลงานที่สำคัญ มีการออกกฎหมายที่เกี่ยวข้องหลายฉบับ ซึ่งอาจเป็นเหตุผลหนึ่งที่ช่วยให้อันดับ E-government Development Index (EDGI) ของประเทศไทยเพิ่มขึ้นจากอันดับที่ 73 ในปี 2561 เป็นอันดับที่ 55 ในปี 2565 อย่างไรก็ตามการบังคับใช้กฎหมายต่างๆยังไม่เห็นผลเป็นรูปธรรมนัก อาทิ ความล่าช้าของการบังคับใช้ พ.ร.บ. คุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล พ.ศ. 2562  รวมไปถึงการที่รัฐบาลจัดทำ (ร่าง) พ.ร.ฎ. กำหนดลักษณะกิจการหรือหน่วยงานที่ได้รับการยกเว้นไม่ให้นำ พ.ร.บ.คุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล พ.ศ 2562 บางส่วนมาใช้บังคับ ซึ่งจะกระทบต่อการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลทั้งในภาครัฐและเอกชน

สำหรับข้อเสนอต่อรัฐบาลใหม่ ควรพัฒนาบริการรัฐบาลดิจิทัลเพื่ออำนวยความสะดวกแก่ประชาชน ด้วยการบูรณาการบริการของหน่วยงานรัฐทั้งหลายเข้าด้วยกัน โดยยึดประชาชนเป็นศูนย์กลาง และเร่งออก พ.ร.บ. เศรษฐกิจแพลตฟอร์ม เพื่อกำกับดูแลธุรกิจแพลตฟอร์มดิจิทัลได้อย่างเต็มที่โดยเร็วและคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลของประชาชนตามที่กฎหมายกำหนด

TDRI-11-8-66-5-min

การพัฒนาภาคเกษตร

รัฐบาลประยุทธ์ 2 ให้ความสำคัญต่อการให้ความช่วยเหลือเกษตรกรมากกว่าการพัฒนานวัตกรรมและเพิ่มผลิตภาพของภาคเกษตร โดยโครงการที่ให้ความสำคัญมากที่สุดคือ การช่วยเหลือเกษตรกร  6 โครงการ คือ  โครงการประกันรายได้เกษตรกรที่ปลูกพืช 5 ชนิด (ข้าว มันสำปะหลัง ข้าวโพด ยางพารา และปาล์ม) และสนับสนุนการพัฒนาคุณภาพการทำนา ซึ่งใช้งบประมาณรวม 158,626 ล้านบาท ในปี 2565-2566 จุดแข็งของโครงการนี้มีการรั่วไหลน้อย และน่าจะมีทุจริตน้อยกว่าโครงการจำนำข้าวทุกเม็ด เนื่องจากรัฐไม่ได้เข้าแทรกแซงการค้าสินค้าเกษตร แต่มีจุดอ่อนคือ เกษตรกรบางส่วนจดทะเบียนเกินโควตาที่รัฐบาลกำหนด เพราะหน่วยงานรัฐไม่ได้ตรวจสอบอย่างจริงจัง  นอกจากนี้ยังพบว่ามีการอุดหนุนชาวนา 2 โครงการที่ซ้ำซ้อนกันคือ โครงการประกันรายได้และโครงการสนับสนุนค่าบริหารและพัฒนาคุณภาพผลผลิต ทำให้เกิดภาระการคลังสูงเกินความจำเป็น ขณะเดียวกันเงินที่อุดหนุนเกษตรกรที่ปลูกพืช 5 ชนิด เป็นการใช้เงินนอกงบประมาณขนาดใหญ่ ซึ่งเป็นการผิดวินัยทางการคลัง

ข้อเสนอสำหรับรัฐบาลใหม่ควรให้ความสำคัญเพิ่มขึ้นต่อการยกผลิตภาพของภาคเกษตร ซึ่งเป็นแนวทางเดียวในการเพิ่มรายได้ให้แก่เกษตรกรอย่างยั่งยืน โดยการนำเทคโนโลยีที่ช่วยลดแรงงาน วิเคราะห์จุดอ่อนของโครงการต่างๆ ที่ดำเนินมาและแก้ไขจุดอ่อนเหล่านั้น แทนการริเริ่มโครงการใหม่โดยไม่ได้ถอดบทเรียนที่ผ่านมา  นอกจากนี้การให้การอุดหนุนเพื่อช่วยเหลือเกษตรกรของรัฐบาลควรใช้เงินงบประมาณอย่างโปร่งใส หลีกเลี่ยงการใช้เงินนอกงบประมาณ

TDRI-11-8-66-6-min

การปฏิรูปการศึกษาขั้นพื้นฐาน

การประเมินผลนโยบายด้านนี้พิจารณา 2 เป้าหมายหลัก คือ ยกระดับคุณสภาพการศึกษา และการลดความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา โดยหลักสูตรแกนกลางในปัจจุบันถูกใช้มานานเกือบ  15 ปี จึงค่อนข้างล้าสมัยและไม่ส่งเสริมให้เกิดการเรียนรู้สมรรถนะที่จำเป็นสำหรับศตวรรษที่ 21 แม้ในช่วงแรก รัฐบาลได้พยายามพัฒนาหลักสูตร แต่ฝ่ายการเมืองกลับห้ามนำหลักสูตรไปใช้ ขณะที่นโยบายด้านบุคลากร ได้ปรับเกณฑ์อัตรากำลังครูให้อิงกับภาระงานสอนมากขึ้น รวมไปถึงเรื่องงบประมาณที่มีการปรับอัตราเงินอุดหนุนรายหัวให้สอดคล้องกับต้นทุนการจัดการศึกษาที่เพิ่มขึ้น

นอกจากนี้ยังมีการสานต่อนโยบาย “พื้นที่นวัตกรรมการศึกษา” ซึ่งช่วยกระจายอำนาจให้โรงเรียนมีอิสระในการจัดการศึกษามากยิ่งขึ้น สำหรับนโยบายลดความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา สนับสนุนให้กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) จัดสรรเงินทุนเพิ่มเติมแก่นักเรียนกลุ่มยากจนพิเศษ และปรับปรุงแก้ไขกฎหมายกองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา (กยศ.) โดยเปิดให้ประชาชนสามารถกู้เงินเพื่อเรียนรู้ทักษะในสาขาวิชาที่ขาดแคลนได้ ขณะที่ในด้านการป้องกันการละเมิดสิทธิเสรีภาพของนักเรียน แม้กระทรวงศึกษาธิการได้ประกาศห้ามลงโทษนักเรียนด้วยความรุนแรงและยกเลิกระเบียบทรงผมนักเรียน แต่ยังมีเหตุการณ์ครูกล้อนผมนักเรียนเพราะผมยาว หรือด่าทอนักเรียนด้วยถ้อยคำรุนแรงตามที่เป็นข่าวอยู่บ่อยครั้ง

สำหรับข้อเสนอแนะต่อรัฐบาลใหม่ควร เร่งปรับหลักสูตรการศึกษาขั้นพื้นฐานให้อิงกับสมรรถนะโดยเร็ว โดยอาจขยายผลการทดลองนำร่องในพื้นที่นวัตกรรมการศึกษาและถอดบทเรียนเพื่อนำไปใช้ทั่วประเทศ , ควรปรับระบบการบริหารทรัพยากรด้านการศึกษาให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น โดยกำหนดเป้าหมายการบริหารจัดการโรงเรียนขนาดเล็กที่ชัดเจน  ,ประกาศนโยบายป้องกันการละเมิดสิทธิเสรีภาพของนักเรียนและไม่ยอมรับความรุนแรงในสถานศึกษา และปรับปรุงการบริหาร กยศ. ให้มีความยั่งยืนทางการเงินมากขึ้น

ผลงานของรัฐบาลด้านความ “ยั่งยืน”  ประกอบไปด้วย การแก้ปัญหาคอร์รัปชัน ,การคุ้มครองทางสังคม ,การแก้ปัญหาแรงงาน ,นโยบายด้านสุขภาพ  และการแก้ปัญหาสิ่งแวดล้อม

TDRI-11-8-66-7-min

การแก้ปัญหาคอร์รัปชัน

รัฐบาลประยุทธ์ 2 กำหนดให้การต่อต้านทุจริตเป็นวาระแห่งชาติตามแผนยุทธศาสตร์ชาติ  20 ปี ด้วยงบประมาณด้านต่อต้านทุจริตรวม 1.5 หมื่นล้านบาทในปี 2563–2566 ในขณะที่อันดับภาพลักษณ์คอร์รัปชัน (CPI) ของไทยกลับลดลงจากที่ 96 จาก 180 ประเทศในปี 2560 อยู่ที่อันดับ 101 ในปี 2565 จึงกล่าวได้ว่า งบประมาณที่ใช้จ่ายไปไม่สามารถลดการทุจริตอย่างได้ผล อย่างไรก็ตามรัฐบาลประยุทธ์ 2 มีผลงานแก้คอร์รัปชันเป็นรูปธรรม 2 เรื่อง ได้แก่ การปฏิรูปจัดซื้อจัดจ้างให้โปร่งใส และการ “กิโยตินกฎระเบียบ” (Regulatory Guillotine) ซึ่งเป็นการปฏิรูปกฎระเบียบครั้งใหญ่เพื่อลดดุลพินิจของเจ้าหน้าที่อันเป็นต้นตอสำคัญของคอร์รัปชัน

อย่างไรก็ตามรัฐบาลไม่ได้แสดงถึงความพยายามในการปฏิรูปตำรวจและกองทัพซึ่งถูกตั้งคำถามด้านความโปร่งใสอยู่บ่อยครั้งเมื่อเกิดข่าวอื้อฉาว  ทั้งที่การปฏิรูปตำรวจเป็นวาระสำคัญตั้งแต่รัฐบาลประยุทธ์ 1 และมีการเสนอร่าง พ.ร.บ. ตำรวจแห่งชาติเพื่อกำจัดการซื้อขายตำแหน่ง และร่าง พ.ร.บ. การสอบสวนคดีอาญาเพื่อให้งานสอบสวนและการทำสำนวนคดีเป็นอิสระจากกัน แต่สุดท้ายแล้วมีเพียงร่าง พ.ร.บ. ตำรวจแห่งชาติผ่านรัฐสภาได้ในปลายปี 2565 การดำเนินการในรัฐบาลประยุทธ์ 2 จึงยังไม่ได้นำไปสู่การปฏิรูปตำรวจอย่างแท้จริง เนื่องจากขาดการปฏิรูปกระบวนการทำงานของเจ้าหน้าที่ตำรวจที่มีการถ่วงดุลอำนาจและตรวจสอบได้ ในช่วงเวลาเดียวกันนั้นรัฐบาลปล่อยให้เกิดกรณีทุจริตที่มีนายตำรวจพัวพันหลายกรณี อาทิ กรณี “ตั๋วช้าง” ส่วยรถบรรทุก และกรณีเครือข่ายเว็บพนันออนไลน์

ในทำนองเดียวกันยังไม่แสดงถึงความพยายามที่จะปฏิรูปกองทัพให้มีความโปร่งใสและสามารถตรวจสอบได้ เช่น กองทัพขอผ่อนผันไม่เข้าร่วมข้อตกลงคุณธรรมในโครงการจัดซื้ออาวุธ และเกิดข่าวการยักยอกเบี้ยเลี้ยงกำลังพล และการคุกคามทหารผู้เปิดโปงทุจริต

ข้อเสนอแนะต่อรัฐบาลใหม่ควรขยายผลข้อตกลงคุณธรรมให้ครอบคลุมโครงการจัดซื้อจัดจ้างในวงกว้างขึ้น โดยเฉพาะโครงการที่มีมูลค่าสูง ควรเร่งปรับปรุงกฎระเบียบเกี่ยวกับการขออนุญาตจากหน่วยงานรัฐ โดยเฉพาะการขออนุญาตก่อสร้าง และเร่งสะสางปัญหาที่ค้างคาจากรัฐบาลประยุทธ์ 2 โดยเร่งปฏิรูปกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับหน้าที่ของเจ้าหน้าที่ตำรวจ เช่น ร่าง พ.ร.บ. การสอบสวนคดีอาญา และออกกฎหมายลูกของ พ.ร.บ. ตำรวจแห่งชาติฉบับใหม่ เพื่อทำให้การปฏิบัติหน้าที่ของเจ้าหน้าที่ตำรวจโปร่งใสขึ้น และควรเร่งปฏิรูปการใช้งบประมาณของกองทัพให้สามารถตรวจสอบได้ 

TDRI-11-8-66-8-min

การคุ้มครองทางสังคม

ผลงานที่เด่นชัดที่สุดด้านการคุ้มครองทางสังคม (social protection) ของรัฐบาลประยุทธ์ 2 คือการช่วยเหลือประชาชนกลุ่มเปราะบางที่ประสบปัญหาจากการระบาดของโควิด-19 โดยรัฐบาลใช้เทคโนโลยีดิจิทัลในการส่งความช่วยเหลือและกระจายเม็ดเงินกระตุ้นเศรษฐกิจอย่างมีประสิทธิภาพกว่าในอดีต แต่หากประเมินนโยบายในระดับโครงสร้างแล้ว อาจกล่าวได้ว่ารัฐบาลประยุทธ 2 ไม่มีความโดดเด่นแต่อย่างใด และพบการขาดนโยบายความคุ้มครองทางสังคมเชิงรุก อีกทั้งรัฐบาลเน้นแนวคิดในการให้สวัสดิการแบบเจาะจงเฉพาะกลุ่ม ทำให้เกิดปัญหาการตกหล่นคนจนในสัดส่วนสูง

ข้อเสนอแนะรัฐบาลใหม่ควรจัดสวัสดิการที่ผสมผสานอย่างเหมาะสมระหว่างสวัสดิการเฉพาะกลุ่มและสวัสดิการถ้วนหน้า อีกทั้งควรเพิ่มประสิทธิภาพการแก้ปัญหาความยากจนและให้สวัสดิการแบบมุ่งเป้า ใช้ฐานข้อมูลคนจนหรือผู้สมควรได้รับสวัสดิการระดับพื้นที่ โดยใช้ข้อมูลชุดนี้ในการจัดสรรงบประมาณกระจายตามพื้นที่ แล้วใช้กลไกรัฐบาลท้องถิ่นหรือชุมชนในการกระจายงบประมาณไปสู่คนจนหรือผู้สมควรได้รับสวัสดิการต่อไป นอกจากนี้เสนอแนะให้รัฐบาลใหม่ควรหลีกเลี่ยงนโยบายที่อาจก่อให้เกิดผลเสียระยะยาวต่อระบบความคุ้มครองทางสังคม เช่น นโยบาย “ขอเลือก ขอคืน และขอกู้” ของรัฐบาลประยุทธ 2 ที่ให้ผู้ประกันตนในระบบประกันสังคมสามารถนำเงินกรณีชราภาพออกมาใช้ก่อนบางส่วน ซึ่งผิดหลักการประกันสังคมและจะทำให้ประชาชนสูงอายุไม่มีเงินบำนาญเพียงพอในอนาคต

TDRI-11-8-66-3-min

การแก้ปัญหาแรงงาน

ผลของการดำเนินนโยบายโดยรวมยังไม่ประจักษ์ชัด ทำให้ทั้งศักยภาพและคุณภาพชีวิตของแรงงานไม่แตกต่างจากก่อนที่รัฐบาลนี้เข้ามาบริหารประเทศ  สำหรับการขึ้นค่าแรงนั้น พรรคพลังประชารัฐซึ่งเป็นแกนนำของรัฐบาลเสนอขึ้นค่าแรงขั้นต่ำเป็น 400 บาท และสูงสุดเป็น 425 บาทต่อวัน  ในช่วงที่บริหารประเทศ รัฐบาลประยุทธ์ 2 ได้ขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำ 2 ครั้งในปี  2562 และ 2565 ซึ่งทำให้ค่าจ้างขั้นต่ำถูกปรับขึ้นเป็น 328-354 บาทในแต่ละพื้นที่ หรือเพิ่มโดยรวมประมาณร้อยละ 2.6 ต่อปี ซึ่งต่ำกว่าอัตราเงินเฟ้อที่เพิ่มสูงขึ้นร้อยละ 3.6 ต่อปีในช่วงเดียวกันและต่ำกว่าที่หาเสียงไว้มาก

การดูแลสวัสดิการและการคุ้มครองแรงงานของรัฐบาลก็เป็นไปในเชิงรับ ซึ่งส่วนหนึ่งเกิดจากปัญหาการระบาดของโควิด-19  โดยมาตรการที่ออกมาส่วนใหญ่มุ่งลดผลกระทบโดยเฉพาะจากการว่างงานในภาคบริการ โดยจนถึงเดือนเมษายน 2566 สำนักงานประกันสังคมได้จ่ายเงินดังกล่าวไปแล้วกว่า 18 ล้านครั้งคิดเป็นเงินประมาณ 42,000 ล้านบาท  และยังไม่เห็นนโยบายในเชิงรุกของรัฐบาลในการนำแรงงานนอกระบบเข้าสู่ระบบเพื่อให้ได้รับสวัสดิการและการคุ้มครองตามกฎหมาย

ข้อเสนอแนะต่อรัฐบาลใหม่ควรดำเนินนโยบายดังต่อไปนี้  ประการแรก รัฐบาลควรกำหนดกรอบอัตราค่าจ้างขั้นต่ำเป้าหมายที่ต้องการโดยให้สอดคล้องกับอัตราเงินเฟ้อและผลิตภาพแรงงาน และปรับขึ้นอย่างเป็นระยะเช่น ทุกปี หรือทุก 2 ปี แลพควรดำเนินนโยบายในเชิงรุกในการนำแรงงานนอกระบบเข้าสู่ระบบเพื่อให้ได้รับสวัสดิการและการคุ้มครองตามกฎหมาย

TDRI-11-8-66-10-min

นโยบายด้านสุขภาพ 

ตั้งแต่ต้นปี 2563 เวลาส่วนใหญ่ของรัฐบาลประยุทธ์ 2 ใช้ไปกับการรับมือกับการระบาดของโควิด-19 โดยการรับมือส่วนใหญ่เป็นแบบตั้งรับ และไม่ได้เน้นการบริหารความเสี่ยงโดยเฉพาะในการจัดหาวัคซีน ขณะเดียวกันในช่วงท้ายรัฐบาลของรัฐบาลประยุทธ 2 มีข่าวแพทย์ลาออกจากภาครัฐจำนวนมาก ซึ่งสะท้อนปัญหาการขาดแคลนบุคลากรเรื้อรังในระบบสุขภาพของรัฐ ส่วนนโยบายใหม่ที่เป็นของรัฐบาลนี้เองคือนโยบายกัญชา ที่เริ่มจากการใช้กัญชาทางการแพทย์ทั่วประเทศในปี 2562 และนำไปสู่การเปิดเสรีกัญชาเมื่อกลางปี 2565 จากภาวะสุญญากาศด้านกฎหมาย จนต้องกลับมากำหนดให้ช่อดอกกัญชาให้เป็นสมุนไพรควบคุมเมื่อปลายปี 2565

ข้อเสนอแนะสำหรับรัฐบาลใหม่ควรทบทวนนโยบายกัญชาโดยสร้างกลไกควบคุมที่รัดกุมและโปร่งใส เพื่อป้องกันผลข้างเคียงที่อาจเป็นอันตรายต่อเยาวชน สตรีมีครรภ์ ผู้สูงอายุและผู้ขับขี่ยานพาหนะ ไม่ให้ได้รับกัญชาจากอาหารโดยไม่รู้ตัว  นอกจากนี้รัฐบาลใหม่ควรลดการส่งเสริมการนำเข้าผู้ป่วยจากต่างประเทศให้มารักษาพยาบาลในประเทศไทย ที่สำคัญ รัฐบาลใหม่ควรยกระดับศักยภาพของระบบสุขภาพของประเทศในระยะยาว ให้สามารถรับมือกับโรคอุบัติใหม่ โรคอุบัติซ้ำ และอุบัติภัยต่างๆ

TDRI-11-8-66-11-min

การแก้ปัญหาสิ่งแวดล้อม

การประเมินนโยบายด้านสิ่งแวดล้อมของรัฐบาลประยุทธ์ 2 จะพิจารณาจาก 2 เรื่องหลักคือ นโยบายด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และการแก้ไขปัญหาฝุ่น PM2.5 ทั้งนี้รัฐบาลได้ให้คำมั่นในที่ประชุม COP26 โดยประกาศเป้าหมายที่จะบรรลุความเป็นกลางทางคาร์บอน ภายในปี ค.ศ. 2050 และเป้าหมายการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ ภายในปี ค.ศ. 2065 และจะเร่งเป้าหมายการลดก๊าซเรือนกระจกของประเทศลง นอกจากนี้ยังเห็นชอบร่างพ.ร.บ.การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศด้วย แต่อย่างไรตามยุทธศาสตร์และร่างกฎหมายยังขาดความชัดเจนอยู่ ซึ่งรัฐบาลใหม่ควรมีนโยบาย เร่งนำกลไกราคาคาร์บอนมาใช้ เช่น ภาษีคาร์บอนหรือตลาดคาร์บอนภาคบังคับ และเปิดให้เกิดการซื้อขายไฟฟ้าจากพลังงานสะอาดแบบ peer-to-peer รวมไปถึงปรับปรุงร่าง พ.ร.บ. การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศให้เข้มข้นมากขึ้น

ในส่วนของปัญหา PM2.5 แม้รัฐบาลประยุทธ์ 2 ได้กำหนดให้เป็นวาระแห่งชาติ และมีการตั้งคณะทำงานวิชาการเฉพาะกิจเพื่อจัดทำข้อเสนอแนะเกี่ยวกับการแก้ไขปัญหาอย่างเป็นรูปธรรม แต่ไม่ปรากฏว่ามีการดำเนินการตามข้อเสนอ รัฐบาลยังเน้นจัดการปัญหาเฉพาะหน้าในแต่ละปี โดยไม่ได้ดำเนินการอย่างต่อเนื่อง ดังนั้นสิ่งที่รัฐบาลใหม่ควรทำ คือ สนับสนุนให้เจ้าของรถปรับเปลี่ยนมาใช้รถที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมมากขึ้น โดยให้มาตรการจูงใจเช่นสิทธิในการลดหย่อนภาษี ขณะเดียวกับสนับสนุนให้เกษตรกรสามารถเข้าถึงเครื่องจักรเพื่อลดการเผา รวมไปถึงควรกำหนดให้ผู้ประกอบการขนาดใหญ่เปิดเผยข้อมูลการผลิตฝุ่น PM2.5 ตลอดห่วงโซ่อุปทาน เพื่อสร้างแรงกดดันทางสังคมให้ลดการก่อมลพิษ และควรปรับปรุงแก้ไขกฎหมายเพื่อลดการผลิตฝุ่น PM2.5 ที่มาจากแหล่งกำเนิดในประเทศและจากประเทศเพื่อนบ้าน

“ตลอดระยะเวลา 4 ปี รัฐบาลประยุทธ์ 2 ได้สร้างผลงานที่สำเร็จออกมาเป็นรูปธรรมไว้หลายด้าน และดำเนินโครงการจำนวนหนึ่งที่มีประโยชน์ต่อประเทศซึ่งสมควรได้รับการสานต่อ ในทางกลับกัน รัฐบาลก็ดำเนินนโยบายอีกหลายด้านที่ไม่ประสบความสำเร็จ หรือแม้กระทั่งก่อให้เกิดปัญหา ซึ่งเกิดขึ้นจากทั้งความเข้าใจผิด การกำหนดนโยบายโดยไม่ผ่านการปรึกษาหารืออย่างรอบด้าน การรวมศูนย์อำนาจเข้าสู่ส่วนกลางแทนที่จะกระจายอำนาจให้แก่ท้องถิ่น การใช้กลไกของระบบราชการและรัฐวิสาหกิจเป็นหลักในการขับเคลื่อนนโยบายทั้งที่มีประสิทธิภาพต่ำ ตลอดจนการที่นโยบายของรัฐบาลได้รับอิทธิพลจากกลุ่มผลประโยชน์บางกลุ่ม นโยบายเหล่านี้สมควรได้รับการทบทวนและปรับปรุงให้ดีขึ้น หรือแม้กระทั่งยกเลิกไปโดยรัฐบาลใหม่”

ติดตามข่าวสาร Bright Today ช่องทางอื่นๆ
Website : BRIGHT TODAY
Facebook : BRIGHT TV
Line Today : BRIGHT TODAY

แท็กที่เกี่ยวข้อง

เรื่องอื่นที่น่าสนใจ