"Shortchange" แปลว่าอะไร เปิดความหมายที่ชาวเน็ตใช้ หลัง "เศรษฐา" ขึ้นปก TIME

Home » "Shortchange" แปลว่าอะไร เปิดความหมายที่ชาวเน็ตใช้ หลัง "เศรษฐา" ขึ้นปก TIME
"Shortchange" แปลว่าอะไร เปิดความหมายที่ชาวเน็ตใช้ หลัง "เศรษฐา" ขึ้นปก TIME

เป็นประเด็นร้อนในโลกโซเชียลโดยทันที หลังจาก “เศรษฐา ทวีสิน” นายกรัฐมนตรีของประเทศไทย ได้ขึ้นปกนิตยสาร TIME (ไทม์) นิตยสารชื่อดังของสหรัฐอเมริกา ฉบับวันที่ 25 มีนาคม 2567 พร้อมพาดหัวว่า “THE SALEMAN – Thai Prime Minister Srettha Thavisin is open for business in a country that feels shortchanged by his election” ซึ่งชาวเน็ตได้แปลข้อความพาดหัวดังกล่าวออกมาหลากหลายเวอร์ชั่น โดยเฉพาะคำว่า “shortchanged” ที่กลายเป็นหัวข้อถกเถียงอย่างร้อนแรงในช่วงค่ำคืนที่ผ่านมา แล้วชาวเน็ตให้ความหมายคำศัพท์คำนี้อย่างไร Sanook พาทุกคนเปิดความหมายของ “shortchanged” และดูคำนิยามที่ชาวเน็ตในโซเชียลใช้กัน

  • “เศรษฐา” ขึ้นปกนิตยสารไทม์ TIME ใช้คำว่า นายก-เซลส์แมน พร้อมพาดหัวอ่านแล้วจี๊ด!
  • ทุบสถิติโลก! “เศรษฐา” นายกฯ 6 เดือน บินนอก 15 ประเทศ ย้อนดูอีกครั้งไปไหนมาบ้าง?

Shortchange แปลว่าอะไร

หากคุณลองพิมพ์คำว่า “Shortchange” เพื่อหาความหมายและคำแปลเป็นภาษาไทยใน Google คุณจะได้พบว่าคำๆ นี้ มีความหมายว่า “โกง ทอนเงินขาด” ขณะที่พจนานุกรมแปลอังกฤษ ไทย อ.สอ เสถบุตร ตามเว็บไซต์ Sanook ก็ให้ความหมายคำศัพท์คำนี้ว่า “โกง ทอนเงินขาด” เช่นเดียวกัน

แต่ถ้าคุณลองหาความหมายและคำแปลภาษาอังกฤษของคำว่า “Shortchange” คุณจะพบว่า Google ได้ให้คำจำกัดความจาก Oxford Languages ระบุว่า “verb. cheat (someone) by giving insufficient money as change” (กริยา. โกง​ (คนอื่น) ด้วยการทอนเงินไม่ถูกต้อง) 

ด้านเว็บไซต์ Cambridge Dictionary ก็ให้คำนิยามคำว่า Shortchange ไว้ว่า 

  • to give someone back less money than they are owed when the person is buying something from you (ให้เงินทอนที่น้อยเกินกว่าที่เขาคนนั้นควรได้รับ เมื่อเขาซื้อของบางอย่างจากคุณ) 
  • to treat someone unfairly, by giving them less than they deserve (ปฏิบัติกับคนอื่นอย่างไม่เป็นธรรม ด้วยการให้สิ่งที่น้อยกว่าสิ่งที่พวกเขาควรได้รับ)

ชาวเน็ตแปล Shortchange ยังไง

ด้านชาว X ก็ออกมาร่วมกันแปลคำศัพท์และพาดหัวของนายกฯ​ บนปกนิตยสาร TIME อย่างแพร่หลาย เริ่มจากสุทธิชัย หยุ่น นักข่าวอาวุโส ที่โพสต์ข้อความบน X ระบุว่า “ศัพท์ร้อนๆ วันละคำ วันนี้จาก ‘เศรษฐา’ ขึ้นปก Time: Shortchange: ฉ้แโกง, แกล้งทอนผิด, ทอนขาด!”

ด้านหม่อมหลวงณัฏฐกรณ์ เทวกุล หรือคุณปลื้ม พิธีกรข่าว Voice ก็ออกมาอธิบายคำว่า Shortchange ในรายการ Wake Up Thailand โดยกล่าวว่า “Shortchange ไม่ได้เป็นคำแรง ไม่ได้มีไว้ด่า แต่มีไว้บ่น มันไม่ได้ลบแบบแย่ มันมีนัยยะลบ เหมือนประชาชนเขาไปเลือกฝ่ายประชาธิปไตย แต่เขาไม่ได้ฝ่ายประชาธิปไตยเต็มๆ เขาได้ข้ามขั้ว อันนี้เป็นคำที่เหมาะ เพราะว่าประชาชนไปเลือกก้าวไกลและเพื่อไทย รวมกันเกินกว่ากึ่งหนึ่งให้ตั้งรัฐบาล แต่ด้วยกลไกต่างๆ ประชาชนได้แค่ครึ่งเดียว” 

ส่วนแขก คำผกา พิธีกรชื่อดัง ก็โพสต์ X ระบุว่า “นายกรัฐมนตรีคนใหม่ของประเทศไทยพยายามกระตุ้นฟื้นฟูเศรษฐกิจอย่างหนักเพื่อทด (แทน) ความรู้สึกผิดหวังของประชาชนจากผลการเลือกตั้งครั้งล่าสุด (ที่เขาเป็นแคนดิเดตนายกฯ จากพรรคที่ได้ที่นั่ง สส. อันดับสอง) อันนี้แปลเอาความมากกว่าเอา ‘คำ’” 

ขณะที่สุนัย ผาสุข ที่ปรึกษา Human Right Watch ประจำประเทศไทย ก็ได้โพสต์ข้อความว่า “Shortchanged คือ “ถูกโกง” (เปรียบกับการถูกโกงเงินทอน) … ความหมายที่นิตยสารไทม์สื่อถึง คืิอ ประชาชนรู้สึกถูกโกงเพราะไม่ได้เลือก #เศรษฐา มาเป็นนายก (แต่ก้าวไกลซึ่งเป็นพรรคที่ได้คะแนนเสียงอันดับหนึ่งถูกกีดกันไม่ให้จัดตั้งรัฐบาล)” 

5 ประเด็นสำคัญสัมภาษณ์ “เศรษฐา” จากนิตยสาร TIME

ไม่ใช่แค่พาดหัวบนหน้าปกนิตยสาร TIME เท่านั้นที่ประชาชนและชาวเน็ตให้ความสนใจ แต่เนื้อหาการพูดคุยที่ปรากฏอยู่ในภายในเล่มก็กลายเป็นประเด็นการพูดคุยถกเถียงของคนในสังคมด้วยเช่นกัน โดย 5 ประเด็นสำคัญจากการพูดคุยของนายกฯ กับนิตยสาร TIME มีดังนี้ 

  • ไม่เลือกข้างระหว่างรัสเซียกับยูเครน
  • มาตรา 112 จะคงอยู่ต่อไป
  • ต้องการแก้ปัญหาสงครามกลางเมืองในเมียนมา
  • ยังเป็นผู้นำ – ในตอนนี้
  • แฟนหงส์แดงตัวยง

อย่างไรก็ตาม มีชาวเน็ตมากมายที่ออกมาแปลความหมายพาดหัวดังกล่าวบนนิตยสาร TIME ของนายกฯ เศรษฐา และการถกเถียงในประเด็นนี้ รวมถึงเนื้อหาการให้สัมภาษณ์ของนายกฯ ต่อประเด็นต่างๆ อีกด้วย ถือเป็นอีกหนึ่งสีสันการเมืองที่ประชาชนให้ความสนใจ

แท็กที่เกี่ยวข้อง

เรื่องอื่นที่น่าสนใจ