Sanook คลุกข่าวเช้า 13 เม.ย. 64 ผู้ป่วยโควิด-19 กทม. ครบ 50 เขต – กรมการแพทย์ยันเตียงพอรับผู้ป่วย

Home » Sanook คลุกข่าวเช้า 13 เม.ย. 64 ผู้ป่วยโควิด-19 กทม. ครบ 50 เขต – กรมการแพทย์ยันเตียงพอรับผู้ป่วย



Sanook คลุกข่าวเช้า 13 เม.ย. 64 ผู้ป่วยโควิด-19 กทม. ครบ 50 เขต - กรมการแพทย์ยันเตียงพอรับผู้ป่วย

สวัสดีค่ะ พบกันอีกครั้งกับ Sanook คลุกข่าวเช้า ประจำวันอังคารที่ 13 เมษายน 2564 ซึ่งตรงกับวันสงกรานต์ หรือวันปีใหม่ของไทย แม้ว่าในปีนี้ เทศกาลสงกรานต์จะไม่คึกคักเท่าที่ควร เนื่องจากสถานการณ์โควิด-19 แต่ Sanook ก็ขอให้ทุกท่านมีความสุขในวันปีใหม่ไทย และขอเป็นกำลังใจให้ชาวไทยทุกคนผ่านวิกฤตโรคระบาดครั้งนี้ไปได้ด้วยดี แต่ไม่ว่าจะเทศกาลใด ระบบ AI ของเราก็ยังคงทำหน้าที่เสิร์ฟข่าวที่น่าสนใจให้คุณฟังทุกที่ทุกเวลา ด้วยฟังก์ชัน Text to Speech ซึ่งจะช่วยให้คุณไม่พลาดข่าวอัปเดต ไม่ว่าจะอยู่ที่ไหนหรือทำอะไรอยู่ก็ตาม

เริ่มกันที่ข่าวแรก กรุงเทพมหานคร รายงานสถานการณ์การแพร่ระบาดโควิด-19 ในพื้นที่ 50 เขต ข้อมูล ณ วันที่ 11 เม.ย.2564 พบว่า มีผู้ติดเชื้อสะสม 5,156 คน (วันที่ 18 ธ.ค.63-9 เม.ย.64) โดยพื้นที่ที่มียอดผู้ติดเชื้อสะสมสูงสุด 5 อันดับแรก ได้แก่ เขตบางแค 421 คน, บางเขน 359 คน บางขุนเทียน 225 คน ตามด้วย เขตภาษีเจริญ 212 คน และเขตวัฒนา 100 คน

สำหรับผลการดำเนินการให้บริการวัคซีนโควิด-19 ในพื้นที่กรุงเทพฯ ข้อมูล ณ วันที่ 12 เม.ย.2564 เวลา 18.00 น. มีผู้รับวัคซีนเพิ่ม 2,056 โดส ยอดผู้รับวัคซีนสะสม 120,312 โดส โดยผู้ที่ได้รับวัคซีนแล้ว ประกอบด้วย บุคลากรทางการแพทย์และสาธารณสุข, ผู้ที่มีอายุ 60 ปีขึ้นไป, เจ้าหน้าที่อื่นๆ ที่มีโอกาสสัมผัสผู้ป่วย, ผู้ที่มีโรคประจำตัว, ประชาชนในพื้นที่เสี่ยง และมีผู้ที่ได้รับวัคซีนครบ 2 เข็ม สะสมอยู่ที่ 14,903 คน

ต่อกันที่ประเด็นเรื่องการเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาล สำหรับผู้ป่วยโรคโควิด-19 ล่าสุด นพ.สมศักดิ์ อรรฆศิลป์ อธิบดีกรมการแพทย์ เปิดเผยว่า รัฐบาลได้มีการประชุมร่วมกับกรมการแพทย์ กทม. โรงพยาบาลมหาวิทยาลัย โรงพยาบาลกลาโหม ตำรวจ และโรงพยาบาลเอกชน เพื่อทำความเข้าใจกับทุกฝ่ายว่า ผู้ติดเชื้อทุกคนต้องได้เข้ารักษาตัวในโรงพยาบาล โดยไม่เสียค่าใช้จ่าย ยกเว้นมีประกันส่วนตัวโรงพยาบาลจะประสานขอให้ประกันช่วยเหลือออกค่าใช้จ่ายก่อน เมื่อพบผู้ป่วยต้องประสานงานในเครือข่ายเพื่ออัปเดตข้อมูล พร้อมทั้งยืนยันว่า ขณะนี้ยังมีเตียงผู้ป่วยว่างรองรับผู้ป่วยทั่วประเทศ

นอกจากนี้ กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ได้เตรียมโรงพยาบาลสนามมากกว่า 1,000 เตียง และประสานกับโรงแรมเพื่อใช้เป็นโรงพยาบาลชั่วคราว เพิ่มอีกว่า 3,900 เตียง พร้อมขอความร่วมมือผู้ติดเชื้อให้ความร่วมมือมารักษาตัวกับแพทย์ หลังมีผู้ติดเชื้อบางรายไม่แสดงอาการขอกักตัวเองอยู่ที่บ้าน แต่อาการผู้ติดเชื้ออาจไม่รุนแรงในช่วงแรก แต่หลังจากนั้นอาจแสดงอาการมากขึ้น จึงควรมาอยู่ในความดูแลของแพทย์ ซึ่งในช่วงแรกของการรักษาตัวผู้ติดเชื้อจะถูกส่งตัวเข้าโรงพยาบาลจนกว่าอาการจะดีขึ้น จึงจะส่งตัวไปติดตามอาการที่โรงพยาบาลสนาม

ปิดท้ายกันที่ การบินพลเรือนประกาศมาตรการดำเนินการในการบิน ได้แก่

  • ตรวจวัดอุณหภูมิร่างกาย ของผู้โดยสาร และสังเกตอาการโดยทั่วไป หากวัดอุณหภูมิได้สูงกว่า 37.3 องศาเซลเซียส หรือมีอาการระบบทางเดินหายใจ เช่น ไอ เจ็บคอ มีน้ำมูก หายใจเหนื่อยหอบ ให้รีบแจ้งเจ้าหน้าที่สาธารณสุขในพื้นที่ทันที หากการวินิจฉัยเห็นว่ามีความเสี่ยง ให้งดการออกบัตรขึ้นเครื่องแก่ผู้โดยสารนั้น
  • รักษาระยะห่างของผู้โดยสารตลอดระยะเวลาเดินทาง โดยรวมถึงขั้นตอนการลำเลียงผู้โดยสารขึ้นและลงจากอากาศยาน จำกัดการรวมกลุ่มในขณะจัดเก็บหรือหยิบสัมภาระในที่เก็บของเหนือศีรษะ การย้ายที่นั่งโดยไม่จำเป็น การเข้าแถวรอใช้ห้องน้ำในห้องโดยสาร
  • ผู้โดยสารต้องสวมหน้ากากอนามัยหรือหน้ากากผ้าตลอดเวลาที่อยู่ในอากาศยาน ยกเว้นในสถานการณ์จำเป็นหรือฉุกเฉิน ทั้งนี้ ในระหว่างขั้นตอนการตรวจสอบเพื่อออกบัตรขึ้นเครื่อง ให้ตรวจสอบด้วยว่าผู้โดยสารมีหน้ากากอนามัยหรือหน้ากากผ้า หากพบว่าผู้โดยสารไม่มีหน้ากากอนามัยหรือหน้ากากผ้า และไม่สามารถจัดหามาแสดงได้ ให้งดการออกบัตรขึ้นเครื่องให้แก่ผู้โดยสารนั้น
  • งดการให้บริการอาหารและเครื่องดื่มในระหว่างการปฏิบัติการบิน รวมทั้งห้ามผู้โดยสารรับประทานอาหารและเครื่องดื่มที่นำติดตัวมาด้วย ยกเว้น ในกรณีที่มีเหตุฉุกเฉินหรือจำเป็น ลูกเรืออาจพิจารณาจัดน้ำดื่มให้บริการแก่ผู้โดยสารได้ ทั้งนี้ ให้กระทำในพื้นที่ที่ห่างจากผู้โดยสารคนอื่นให้มากที่สุดเท่าที่จะเป็นได้
  • งดการให้บริการหนังสือพิมพ์ นิตยสาร หรือแผ่บพับโฆษณาต่าง ๆ สำหรับผู้โดยสารในระหว่างการปฏิบัติการบิน ยกเว้นเอกสารที่เกี่ยวข้องกับความปลอดภัยเท่านั้น
  • งดการจำหน่ายสินค้าที่ระลึกและสินค้าปลอดภาษีอากรในระหว่างการปฏิบัติการบิน
  • จัดให้มีแอลกอฮอล์ที่มีความเข้มข้นไม่น้อยกว่าร้อยละ 70 (แอลกอฮอล์ 70%) เพื่อใช้สำหรับล้างมือไว้ให้บริการอย่างเพียงพอให้กับผู้โดยสารและพนักงานของผู้ดำเนินการเดินอากาศ
  • กำหนดให้ผู้ปฏิบัติหน้าที่ในอากาศยานใช้อุปกรณ์ช่วยป้องกันส่วนบุคคล (Personal Protective Equipment; PPE)
  • ทำความสะอาดชุดอุปกรณ์ในห้องโดยสารที่ต้องส่งต่อหรืออาจมีการส่งต่อ เช่น อุปกรณ์สาธิตเพื่อความปลอดภัย เข็มขัดนิรภัยส่วนต่อขยาย เข็มขัดนิรภัยส่วนต่อขยายสำหรับทารก เสื้อชูชีพสำหรับทารก เป็นต้น ด้วยน้ำยาฆ่าเชื้อหลังจากการใช้งานของผู้โดยสาร หรือก่อนส่งต่อให้ลูกเรือผู้ที่จะปฏิบัติหน้าที่
  • ให้ลูกเรือติดต่อสื่อสารกับนักบินผ่านอุปกรณ์สื่อสารภายในอากาศยาน (Interphone) เป็นหลัก และได้รับอนุญาตให้เข้าและออกห้องนักบินเพื่อตรวจสอบความปลอดภัยและอำนวยความสะดวกแก่นักบินเฉพาะเมื่อมีเหตุจำเป็นเท่านั้น
  • เที่ยวบินที่ปฏิบัติการบินโดยใช้ระยะเวลามากกว่า ๙๐ นาที ให้มีการสำรองที่นั่งสองแถวหลังสุดด้านใดด้านหนึ่งของอากาศยานไว้สำหรับแยกกักผู้ป่วยหรือสงสัยว่าจะป่วยเพื่อเฝ้าสังเกตอาการและป้องกันการแพร่กระจายของโรค
  • ในกรณีที่พบผู้โดยสารหรือลูกเรือที่มีอาการป่วยหรือสงสัยว่าจะป่วยเป็นโรคติดเชื้อไวรัส โคโรนา 2019 (COVID-19) ขณะอยู่ในอากาศยาน ให้ผู้ดำเนินการเดินอากาศดำเนินมาตรการ On-board Emergency Quarantine ได้แก่ แยกกักผู้ที่มีอาการป่วยหรือสงสัยว่าจะป่วยให้นั่งที่นั่งซึ่งสำรองไว้, กันห้องน้ำที่อยู่ใกล้บริเวณที่นั่งซึ่งสำรองไว้ สำหรับเฉพาะผู้ป่วยหรือผู้ที่สงสัยว่าจะป่วย, กันห้องน้ำห้องหนึ่งไว้สำหรับลูกเรือใช้โดยเฉพาะ, มอบหมายให้ลูกเรือคนหนึ่งปฏิบัติหน้าที่ในพื้นที่แยกกัก
  • ให้นักบินผู้ควบคุมอากาศยานแจ้งข้อมูลการตรวจพบผู้โดยสารหรือลูกเรือที่มีอาการป่วยหรือสงสัยว่าจะป่วยต่อพนักงานควบคุมการจราจรทางอากาศ เพื่อรายงานให้แก่ผู้ดำเนินการสนามบิน ณ ท่าอากาศยานปลายทางทราบ
  • กำหนดให้รถลำเลียงผู้โดยสารไป-กลับระหว่างอาคารผู้โดยสารและอากาศยาน สามารถบรรทุกผู้โดยสารได้ไม่เกินร้อยละ 70 ของความจุมาตรฐานของยานพาหนะนั้น ๆ โดยถือหลักหลีกเลี่ยงการติดต่อสัมผัสระหว่างกัน ทั้งนี้ ให้ทำความสะอาดพื้นผิวและอุปกรณ์ที่มีการสัมผัสบ่อย ๆ ทั้งก่อนและหลังการให้บริการ
  • หลังจากเสร็จสิ้นการปฏิบัติการบินทุกครั้ง ให้ทำการฆ่าเชื้อโรคในส่วนของห้องโดยสารตามมาตรฐานที่กระทรวงสาธารณสุขกำหนด

แท็กที่เกี่ยวข้อง

เรื่องอื่นที่น่าสนใจ