กีฬาคือพื้นที่ของความสงบสุขและความเป็นหนึ่งเดียวกันของโลก แต่บางครั้งสิ่งต่าง ๆ ก็ผันแปรไปตามสถานการณ์ของโลก โดยเฉพาะเมื่อมี 2 ประเทศที่เกลียดกันเข้ากระดูกดำ และมีใครสักคนที่อยากเริ่มเรื่องด้วยความรุนแรง
นี่คือเรื่องราวในโอลิมมปิกปี 1972 ที่นครมิวนิค ประเทศเยอรมัน การแข่งขันที่เริ่มต้นดั่งวันฟ้าใส แต่จบลงด้วยเหตุการณ์ที่ทำให้ฟ้ามืดที่สุดตลอดกาล … และน่าเศร้าที่ทุกวันนี้ก็ยังแก้ปัญหาไม่ได้
ติดตามเรื่องราวชีวิตแลกชีวิตในโอลิมปิก 1972 ได้ที่นี่กับ Main Stand
เยอรมัน … วันใหม่
กีฬาโอลิมปิก ถือว่าเป็นมหกรรมที่สามารถบอกอะไรเกี่ยวกับประเทศเจ้าภาพได้เป็นอย่างมาก ไม่ใช่แค่ความสำเร็จและความเป็นเลิศด้านกีฬาเท่านั้น แต่การจัดโอลิมปิกสะท้อนได้ถึงวิถีชีวิต การเมือง คุณภาพ และทุก ๆ อย่างที่คุณพอจะนึกออก มันทำให้พอจะสำรวจได้ด้วยสายตาและความรู้สึกได้ว่า “ประเทศนี้เป็นประเทศที่ดีหรือแย่”
ไม่ต้องแปลกใจเลยว่าทำไมใคร ๆ ก็อยากจะเป็นเจ้าภาพโอลิมปิก เพราะถึงแม้อาจจะขาดทุนในแง่ของรายรับที่เป็นเงิน แต่หากวางแผนดี ๆ งบประมาณดังกล่าวก็สามารถเอามาพัฒนาประเทศในภาคส่วนต่าง ๆ สร้างเป็นมรดกในระยะยาวได้ บางประเทศสามารถเปลี่ยนภาพลักษณ์ที่มีต่อสายตาชาวโลกได้เลย นั่นคือเหตุผลที่ว่าทำไมในนครมิวนิค ประเทศเยอรมัน (เยอรมันตะวันตก ณ เวลานั้น) จึงหมายมั่นปั้นมือกับการแข่งขันโอลิมปิกปี 1972 เป็นอย่างมาก
ก่อนหน้าโอลิมปิกครั้งดังกล่าว ประเทศเยอรมันถูกมองในแง่ลบเนื่องจากเคยถูกปกครองโดย อดอล์ฟ ฮิตเลอร์ ชายผู้สั่นสะเทือนทั้งโลก และมีความสำคัญในเรื่องราวของสงครามโลกครั้งที่ 2 ทั้งการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ชาวยิว และแนวคิดอารยัน ที่สร้างความเกลียดชังแบบสุดโต่ง จนกลุ่มประเทศสัมพันธมิตร ผู้ชนะสงคราม ต้องแบ่งประเทศออกเป็นสองฟาก เยอรมันตะวันตก ดูแลโดยสหรัฐอเมริกาและอังกฤษ กับ เยอรมันตะวันออก ที่ดูแลโดยสหภาพโซเวียต หลังจากแดนอินทรีเหล็กพ่ายแพ้สงครามในปี 1945
นอกจากนี้ ภาพจำในการเป็นเจ้าภาพโอลิมปิกของเยอรมันก็ไม่ดีนัก จากโอลิมปิกที่กรุงเบอร์ลิน ในปี 1936 ซึ่ง ฮิตเลอร์ ใช้เป็นเวทีประกาศศักดาความยิ่งใหญ่ของนาซีเยอรมัน ด้วยการโกงการแข่งขัน และปฏิบัติต่อนักกีฬาต่างสีผิวและไม่ใช่ชาวอารยันอย่างไม่เท่าเทียม ตลอดจนการใช้อิทธิพลนอกสนามแทรกแซงการแข่งขัน รวมถึงการโฆษณาชวนเชื่อแบบเล่นใหญ่
เมื่อเยอรมันได้เป็นเจ้าภาพโอลิมปิกอีกครั้งในปี 1972 ที่นครมิวนิค พวกเขาจึงมีความต้องการจะลบความเชื่อเหล่านั้นทิ้ง และบอกให้โลกรู้ว่า ประเทศแห่งนี้เปิดต้อนรับทุกคนทุกเชื้อชาติมากแค่ไหน และมีความตั้งใจจะทำให้ทุกอย่างที่เป็นสัญลักษณ์ของพรรคนาซี ถูกลบทิ้งไปอย่างสิ้นเชิง
นี่คือเยอรมันยุคใหม่ ยุคที่ทุกความแตกต่างจะอยู่ร่วมกันได้โดยไร้ความเกลียดชัง พวกเขาคิดเช่นนั้น แต่โชคร้ายที่บริบททางการเมืองไม่ได้ช่วยให้มันง่ายขึ้นเลย เพราะ 2 ประเทศที่ตีกันมาหลายชั่วอายุคน กำลังพัฒนาความเคียดแค้นมาถึงจุดพีคพอดิบพอดี … อิสราเอล และ ปาเลสไตน์ ไม้เบื่อไม้เมาที่ตีกันแทบทุกเรื่อง ศาสนา, พรมแดน, การกดขี่ ตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน
ประเด็นคือ โอลิมปิกคือมหกรรมกีฬาที่นักกีฬาจากทุกชาติต้องมารวมตัวกัน กิน อยู่ แข่งขัน และใช้ชีวิตร่วมกันเป็นเวลาเกือบ 1 เดือน … ไม่มีใครคาดเดาได้เลยว่าจะเกิดอะไรขึ้น แต่กันไว้ย่อมดีกว่าแก้ ทางเดียวที่จะมั่นใจได้คือการล้อมคอกไว้ก่อนวัวหาย ฝ่ายจัดการแข่งขันต้องวางกำลังเจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัยไว้ที่หมู่บ้านนักกีฬาเพื่อคอยควบคุมสถานการณ์ให้เรียบร้อย
ทุกอย่างดูจะเป็นไปด้วยดี เมื่อพิธีเปิดจบลงและการแข่งขันเริ่มต้นขึ้น เสียงชื่นชมในการจัดงานเริ่มเป็นในทิศทางในแง่บวก อย่างไรก็ตาม อย่าเพิ่งมั่นใจอะไรก่อนที่ทุกอย่างจะสำเร็จครบ 100% ดีกว่า เพราะในระหว่างนั้น คนบางกลุ่มกำลังเฝ้ารอจังหวะที่มาตรการต่าง ๆ กำลังตายใจจากคำชมเหล่านั้น จนค่อย ๆ คลายความระมัดระวังออก ไม่เข้มงวดเหมือนเก่า พวกเขารออยู่ 2 สัปดาห์ และสบโอกาสสำคัญจนได้
กลุ่ม Black September ได้เวลาออกโรงแล้ว…
เปิดตัว Black September
อย่างที่กล่าวไว้ในข้างต้น ความสงบนำมาซึ่งความสบาย และความสบายนำมาซึ่งการคลายความเข้มข้นของการทำงาน … เรื่องนี้ทำให้ใครบางคนกำลังกังวล เขาคนนั้นคือ ชมูเอล ลัลกิน (Shmuel Lalkin) หัวหน้าคณะนักกีฬาของประเทศอิสราเอลในเวลานั้น ที่คิดว่าการมีเจ้าหน้าที่คอยดูแลความสะดวกสบายและความปลอดภัยเป็นสิ่งที่ดี แต่สิ่งที่เขาเป็นห่วงคือ สัดส่วนของการ์ดที่ติดอาวุธนั้นมีน้อยมาก
เยอรมัน อาจจะเชื่อว่าหากจัดการได้ดี ความรุนแรงก็ไม่จำเป็น เพราะพวกเขากำลังแสดงตัวในฐานะเจ้าภาพที่เตรียมการมาดี ที่กำลังสร้างภาพลักษณ์ที่สะท้อนภาพเยอรมันยุคใหม่ … แต่สำหรับอิสราเอล พวกเขาคิดว่าเจ้าหน้าที่ติดอาวุธคือสิ่งที่จะขาดไม่ได้ในสถานการณ์สุ่มเสี่ยงแบบนี้
ทำไมพวกเขาต้องกังวลขนาดนั้นล่ะ มาแข่งกีฬาไม่ใช่หรือ ทำไมต้องอยากให้มีคนถือปืนเดินป้วนเปี้ยนในหมู่บ้านนักกีฬาด้วย ?
คำตอบคือ อิสราเอลไม่สามารถวางใจได้เลย เพราะความบาดหมางระหว่างอิสราเอลและปาเลสไตน์ กำลังดำเนินไปอย่างร้อนแรง ก่อนโอลิมปิกปี 1972 จะเริ่ม ปาเลสไตน์พยายามกดดันรัฐบาลอิสราเอลให้ปล่อยตัวนักโทษชาวปาเลสไตน์จำนวน 234 คน ที่ถูกจับขังอยู่ในกรุงเยรูซาเลม เมืองหลวงของอิสราเอล อันเป็นดินแดนที่ปาเลสไตน์ก็อ้างสิทธิ์ถือครองเช่นกัน ซึ่งทางอิสราเอลก็ปฏิเสธการปล่อยตัว และยืนกรานอย่างแข็งขันแม้จะมีคำขู่มากมาย
อิสราเอลไม่มีทางรู้ได้เลยว่า ปาเลสไตน์จะทำอะไรตอนไหน ตามที่พวกเขาได้ขู่ว่าความรุนแรงจะเกิดขึ้น ดังนั้นพวกเขาจึงพยายามเรียกร้องมาตรการความปลอดภัยมาตั้งแต่ก่อนการแข่งขันจะเริ่มขึ้นแล้ว ยิ่งเมื่อเห็นทำเลที่พักของทีมนักกีฬาอิสราเอลแล้ว เขายิ่งกังวลมากขึ้น เพราะเป็นที่พักที่ค่อนข้างโดดเดี่ยวแยกตัวออกมาจากทีมอื่น ๆ
ฝ่ายจัดการแข่งขันพยายามสร้างความสบายใจให้กับทุกฝ่าย ด้วยการวางกำลังไว้ที่นี่มากกว่าที่อื่น นอกจากนี้ยังมีการจำลองเหตุการณ์ก่อการร้ายมากถึง 26 สถานการณ์ … พวกเขาคาดว่าทุกอย่างคงอยู่ในระดับที่รับมือไหวแม้จะมีอะไรเกิดขึ้นก็ตาม แต่แล้วสถานการณ์ที่ 21 ก็เกิดขึ้นจริง ๆ แบบไม่ใช่การซ้อม
สถานการณ์ที่ 21 คืออะไร ? … การบุกเข้าหมู่บ้านนักกีฬาและจับคนในนั้นเป็นตัวประกันยังไงล่ะ
ตี 4 ของวันที่ 5 กันยายน ขณะที่ทุกคนกำลังพักผ่อน กลุ่มผู้ก่อการร้ายก็เริ่มปฏิบัติการ และพวกเขาเอาจริง ไม่เกี่ยงที่จะต้องใช้ความรุนแรง ด้วยเป้าหมายเดียวเท่านั้นคือ อิสราเอลจะต้องปล่อยนักโทษชาวปาเลสไตน์ที่พวกเขาจับเอาไว้ทั้งหมด … ไม้แข็งได้เริ่มต้นขึ้นแล้วโดยกลุ่มก่อการร้ายที่ก่อตั้งขึ้นมาเพื่อการณ์นี้โดยเฉพาะ กลุ่ม Black September ที่กำลังสร้างชื่อในโลกใต้ดินหลังจากเข้าสู่ยุค 1970s
Black September ก่อตั้งในปี 1970 เพื่อจุดประสงค์ในการก่อการร้ายโดยเฉพาะ พวกเขาเคยทำเรื่องนี้สำเร็จมาแล้ว กับการสังหารนายกรัฐมนตรี วาสฟี ทัล ของจอร์แดนในปี 1971 เพื่อตอบโต้การที่จอร์แดนตัดหางกลุ่มนักรบเฟดายีน ที่องค์การปลดปล่อยปาเลสไตน์ (PLO) ให้การสนับสนุน เช่นเดียวกับการจี้เครื่องบิน และวางระเบิดอีกหลายครั้ง
นอกจากนี้เป้าหมายที่ชัดเจนอีกอย่างของพวกเขาคืออิสราเอล เนื่องจากปมขัดแย้งกันมานานนม พวกเขาส่งจดหมายขู่วางระเบิดไปยังสถานทูตอิสราเอลทั่วโลก และยังเคยสังหารนักการทูตมาแล้วด้วย
สิ่งเดียวที่กลุ่ม Black September ต้องการจากการแข่งขันโอลิมปิกครั้งนี้ คือการบุกเข้าไปยังบ้านพักนักกีฬาของทีมชาติอิสราเอล จับตัวพวกเขาเหล่านั้นเป็นตัวประกัน เล่นเกม “ชีวิตและชีวิต” กับนักโทษชาวปาเลสไตน์ที่ถูกจับในอิสราเอล
และเหตุการณ์นี้ ใครยอม = แพ้ ดังนั้นมันจึงไม่จบลงง่าย ๆ และโอลิมปิก 1972 ก็กลายเป็นสังเวียนเลือดเพราะเหตุการณ์นี้
จบด้วยชีวิต
แม้เป้าหมายจะมาเพื่อจับคนเป็นตัวประกัน แต่การบุกเข้าไปนั้นเกิดการต่อสู้ และทำให้เกิดการเสียชีวิตของฝั่งนักกีฬาอิสราเอล
กลุ่ม Black September มากัน 8 คน สวมหมวกไอ้โม่งคลุมหน้า พกอาวุธปืนไรเฟิลจู่โจม AKM นอกจากนี้ยังมีปืนพก Tokarev และระเบิดครบมือ … การยิง โมเซ เวียนเบิร์ก โค้ชของทีมมวยปล้ำ และ ยูสเซฟ โรมาโน่ นักยกน้ำหนัก ที่ต่อสู้กับกลุ่มผู้ก่อการร้ายจนเสียชีวิตทั้งคู่ เป็นการส่งสัญญาณว่าใครไม่ฟังพวกเขาจะมีอันตรายถึงชีวิตแน่นอน
นักกีฬาชาวอิสราเอลต่างเข้าใจถึงสิ่งที่กำลังเกิดขึ้น บางคนหนีรอด บางคนสู้ และโชคร้ายที่มี 9 คนโดนจับเป็นตัวประกัน กลุ่มก่อการร้ายยืนยันว่าต้องใช้ 9 แลก 234 คน และฝั่งอิสราเอลก็ไม่ยอมง่าย ๆ
โกลดา เมียร์ นายกรัฐมนตรีอิสราเอลในเวลานั้น แถลงการณ์และร้องขอความช่วยเหลือจากประเทศอื่น ๆ โดยบอกถึงเหตุผลที่พวกเขาจะไม่แลกตัวประกันว่า “ถ้าเรายอมแพ้ จะไม่มีชาวอิสราเอลคนไหนในโลกที่จะรู้สึกว่าชีวิตของพวกเขาปลอดภัยอีกเลย นี่คือการขู่และเล่นสกปรกที่เลวร้ายที่สุดในประวัติศาสตร์”
การไม่ยอมเจรจานำมาซึ่งความชุลมุน เพราะนอกจากอิสราเอลจะแข็งข้อแล้ว พวกเขายังพร้อมรุกกลับด้วยการส่งเจ้าหน้าที่ฝีมือดีของตัวเองเข้ามาจัดการเรื่องนี้ ทว่ารัฐบาลเยอรมันไม่ยอมให้กลุ่มทหารของอิสราเอลเข้ามาในประเทศ เพราะพวกเขาจะจัดการเอง และไม่ต้องการให้มีความรุนแรงเกิดขึ้นอีก … การปฏิเสธนี้ทำให้เกิดความตึงเครียดเพิ่มขึ้น ไม่ใช่แค่กับแค่ปาเลสไตน์และอิสราเอลเท่านั้น ฝ่ายเยอรมันเองก็ถูกมองในแง่ลบเกี่ยวกับเรื่องนี้ด้วย เพราะพวกเขาไม่ได้เชี่ยวชาญเรื่องการรับมือการก่อการร้าย ทำให้จัดการกับสิ่งที่เกิดขึ้นได้ไม่ดีพอ
เยอรมันจัดการเรื่องนี้ด้วยการยอมให้กลุ่มผู้ก่อการร้ายได้ตามที่หวัง นั่นคือเครื่องบิน 1 ลำสำหรับการหลบหนี แต่เตรียมจะซ้อนแผนชิงตัวประกันที่สนามบิน ทว่าสถานการณ์พลิกผัน มีการรายงานว่าแผนชิงตัวประกันของเยอรมัน รู้ไปถึงหูกลุ่มผู้ก่อการร้าย เพราะพวกเขาเห็นการถ่ายทอดสดทางโทรทัศน์…
พวกเขาเปลี่ยนท่าทีทันที และรู้แล้วว่าถ้าไม่สู้พวกเขาจะต้องตายอยู่ที่นี่ เมื่อบวกกับการประสานงานของเจ้าหน้าที่หน่วยต่าง ๆ ของเยอรมันที่ได้รับคำสั่งมาชิงตัวประกัน การยิงปะทะ 2 ฝั่งแบบซัดกันนัวจึงเกิดขึ้น การรายงานสถานการณ์มีเพียงเท่านั้น เพราะมันชุลมุนเกินกว่าที่จะบอกได้ว่าเกิดอะไรขึ้น ใครรอด และมีใครที่โชคร้าย
การก่อการร้ายที่เริ่มต้นตั้งแต่ตี 4 ของวันที่ 5 กันยายน มาได้บทสรุปในเวลาตี 2 ของวันที่ 6 กันยายน เมื่อการดวลปืนสิ้นสุดลง สถานการณ์สงบ และการรายงานความเสียหายก็เกิดขึ้น
ผู้ก่อการร้าย 8 คน เสียชีวิตไป 5 รอดชีวิตไป 3 จากการแกล้งตาย และถูกจับระหว่างที่เจ้าหน้าที่ตำรวจเข้าตรวจความเรียบร้อยในพื้นที่ มีการรายงานและค้นหากลุ่มตัวประกันตลอดเวลาแบบนาทีต่อนาที ทว่าน่าเศร้า ผู้ก่อการร้ายที่ถูกจับให้การสารภาพว่า ตัวประกันทุกคนถูกมัดติดเก้าอี้ของเฮลิคอปเตอร์ที่ลำเลียงมายังสนามบิน ทว่าหลังถูกจับได้ว่ากำลังจะโดนซ้อนแผน ผู้ก่อการร้ายคนหนึ่งก็ยิงกราดตัวประกันทุกคนเสียชีวิต จากนั้นจึงค่อยหันหน้ามาสู้กับฝั่งเจ้าหน้าที่ของเยอรมัน
ตัวประกันทั้ง 9 คน ไม่มีใครมีชีวิตรอดจากเหตุการณ์วันนั้น มีผู้เสียชีวิตของฝั่งอิสราเอลรวม 11 คน และยังมีตำรวจเยอรมันที่เสียชีวิตขณะปฏิบัติหน้าที่อีก 1 คน สิริรวมมีผู้เสียชีวิตจากเหตุการณ์นี้ 17 คน
เหตุการณ์ดังกล่าว ทำให้คณะกรรมการโอลิมปิกสากล หรือ IOC ตัดสินใจหยุดการแข่งขันโอลิมปิก 1 วัน เพื่อไว้อาลัยให้กับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น ก่อนจะแข่งขันกันต่อจนจบได้ตามกำหนด
อย่างไรก็ตาม มันเป็นโอลิมปิกที่กร่อย เพราะความรู้สึกของนักกีฬาถูกกระทบจากเหตุการณ์นั้นเป็นอย่างมาก และไม่ได้จบแค่การเสียชีวิตของตัวประกันจากทีมชาติอิสราเอลเท่านั้น เพราะทันที่รู้ว่ามีการเสียชีวิต ทางการอิสราเอลก็เรียกนักกีฬาของพวกเขากลับบ้านทันที พวกเขาเริ่มโทษว่าเยอรมันนั้นเหมือนแค่อยากผลักปัญหาให้พ้นตัว ไม่ได้ตั้งใจจะช่วยเหลือพวกเขาจริง ๆ เพราะหลังจากนั้น ผู้ก่อการร้ายทั้ง 3 คนก็ได้รับการปล่อยตัวทั้งหมด เพื่อแลกกับการปล่อยตัวประกันในเหตุจี้เครื่องบินของสายการบิน Lufthansa เที่ยวบิน 615 ที่เกิดขึ้นในเดือนตุลาคม 1972
อิสราเอลตอบโต้เรื่องดังกล่าวด้วยตัวเอง พวกเขาส่งเครื่องบินของกองทัพยิงถล่มกองกำลังก่อการร้ายที่ซ่อนตัวอยู่ในประเทศอาหรับต่าง ๆ และก่อตั้งทีมล้างแค้นในชื่อปฏิบัติการว่า “Wrath of God” (ความโกรธของพระเจ้า) ทีม ๆ นี้ได้รับอนุญาตให้ใช้กฎ “ยิงก่อนถามทีหลัง” หากเจอใครก็ตามที่เกี่ยวข้องกับเหตุลักพาตัวและสังหารที่มิวนิค
ปฏิบัติการ Wrath of God ทำงานอย่างมีประสิทธิภาพ พวกเขาล้างบางกลุ่ม Black September ที่เกี่ยวข้องจนแทบเหี้ยนเตียน โดยใช้เวลาไปถึง 3 ปี สำหรับการล้างแค้นแบบ “เลือดแลกเลือด” ครั้งนี้ และเรื่องราวของปฏิบัติการ Wrath of God นี้ ก็ได้ถูกนำไปสร้างเป็นภาพยนตร์เรื่อง Munich ที่กำกับโดย สตีเว่น สปีลเบิร์ก และเข้าฉายปี 2005
Photo : dvdcover.com
นี่คือทุกสิ่งที่เกิดขึ้นในโอลิมปิกครั้งที่เศร้าและหดหู่ที่สุดในประวัติศาสตร์ มันทำให้ชาวโลกได้เห็นถึงการฟาดฟันกันไปสวนกลับกันมา ครั้งแล้วครั้งเล่าแบบไม่มีใครยอมแพ้ จนกระทั่งทุกวันนี้ ความขัดแย้งระหว่างอิสราเอลและปาเลสไตน์ก็ยังคงดำเนินต่อไปไม่มีหยุด
ไม่มีใครรู้จริง ๆ ว่าเรื่องนี้จะจบลงอย่างไร มันเป็นปัญหาที่แก้กันไม่ได้และไม่รู้ว่าทางออกที่แท้จริงคืออะไร แต่สิ่งที่เราเข้าใจได้อย่างหนึ่งคือ บางครั้งที่เราพูดว่าไม่ควรเอากีฬามาปะปนกับเรื่องอื่น ๆ แต่ในความเป็นจริงนั้นมันแทบเป็นไปไม่ได้เลย ตราบใดที่ในโลกแห่งความจริงยังมีประเทศคู่รัก-คู่แค้น, คู่ศัตรูที่เกลียดกันตั้งแต่สายเลือด พวกเขาก็จะยังคงมองหาวิธีล้างแค้นกันและกันอยู่ทุกลมหายใจ เมื่อสบโอกาสดี ๆ เรื่องร้ายก็พร้อมจะเกิดขึ้นได้เสมอ
มันจึงเป็นเหตุผลสำคัญที่ว่า จริง ๆ แล้วสิ่งที่โลกเราต้องการที่สุดคือความสงบสุขและความเท่าเทียม … เพราะทุกอย่างเกี่ยวพันกันหมด ปากท้องอิ่ม มีแผ่นดินอยู่ หรือแม้กระทั่งไม่ต้องไปรบราฆ่าฟันกับใคร ประเทศใดที่อยู่ในสถานการณ์นี้ได้ พวกเขาก็สามารถพัฒนาไปในทิศทางต่าง ๆ ได้ง่ายและมีประสิทธิภาพมากขึ้น ไม่ใช่แค่กีฬาเท่านั้น แต่ทุกอย่างล้วนดีขึ้นได้ทั้งสิ้น