Moonfall: ดวงจันทร์จะถูกผลักให้หลุดจากวงโคจร จนพุ่งชนโลกเหมือนกับในภาพยนตร์ได้หรือไม่

Home » Moonfall: ดวงจันทร์จะถูกผลักให้หลุดจากวงโคจร จนพุ่งชนโลกเหมือนกับในภาพยนตร์ได้หรือไม่


Moonfall: ดวงจันทร์จะถูกผลักให้หลุดจากวงโคจร จนพุ่งชนโลกเหมือนกับในภาพยนตร์ได้หรือไม่

(คำเตือน: บทความต่อไปนี้เปิดเผยเนื้อหาบางส่วนของภาพยนตร์)

ดวงจันทร์เป็นดาวบริวารที่อยู่คู่กับโลกมานานหลายพันล้านปี จนมนุษย์ส่วนใหญ่เคยชินต่อการเห็นดวงจันทร์อยู่บนท้องฟ้าทุกเมื่อเชื่อวัน คงมีน้อยคนที่จะคิดจินตนาการว่า สักวันหนึ่งอาจเกิดเหตุหายนะแบบฟ้าถล่มดินทลาย จนทำให้ดวงจันทร์หลุดวงโคจรพุ่งมาชนโลกได้

แต่ในภาพยนตร์ฮอลลีวูดแนวหายนะล้างโลก “มูนฟอล” (Moonfall) ที่เพิ่งลงโรงเรื่องล่าสุด เหตุการณ์ดวงจันทร์พุ่งชนโลกเพราะถูกแรงลึกลับผลักออกจากวงโคจรนั้น เกิดขึ้นอย่างปัจจุบันทันด่วน จนมีเวลาให้มนุษยชาติหาทางกู้โลกเพื่อรอดพ้นจากการถูกล้างเผ่าพันธุ์เพียงไม่กี่สัปดาห์เท่านั้น

Moonfall: ดวงจันทร์จะถูกผลักให้หลุดจากวงโคจร จนพุ่งชนโลกเหมือนกับในภาพยนตร์ได้หรือไม่

Getty Images

สาเหตุที่ทำให้ดวงจันทร์กลายเป็นภัยคุกคามต่อโลกในภาพยนตร์เรื่องนี้ ก็คือการเปิดเผยความจริงที่ว่า ดวงจันทร์ไม่ใช่ดาวเคราะห์บริวารที่เกิดขึ้นตามธรรมชาติ แต่เป็น “ดาวเทียม” หรือโครงสร้างขนาดยักษ์ที่เอเลียนสร้างไว้ตั้งแต่หลายพันล้านปีก่อน และในตอนนี้มันถูกบังคับให้เคลื่อนที่โดยพุ่งตรงมายังโลก

แม้เราจะยังไม่มีหลักฐานยืนยันการมีอยู่ของเอเลียน แต่มีความเป็นไปได้หรือไม่ว่าปรากฏการณ์ธรรมชาติในจักรวาล เช่นการพุ่งเฉียดหรือกระทบกระทั่งกันระหว่างดาวหางและดาวเคราะห์น้อยจำนวนนับแสนในระบบสุริยะ จะสามารถก่อให้เกิดแรงผลักต่อดวงจันทร์เหมือนการเล่นสนุกเกอร์ จนส่งผลเปลี่ยนทิศทางการโคจรให้ดวงจันทร์มุ่งตรงมายังโลกได้

ดาวเคราะห์น้อยชนโลก

ที่มาของภาพ, NASA / JPL-CALTECH

อันที่จริงแล้ว ทฤษฎีว่าด้วยกำเนิดของดวงจันทร์ที่นักวิทยาศาสตร์ในปัจจุบันยอมรับนั้นมีอยู่ 2 แนวคิดด้วยกัน ทฤษฎีแรกเชื่อว่าดวงจันทร์ที่มีขนาดเล็กเพียง 1 ใน 4 ของโลก ถือกำเนิดขึ้นมาแทบจะในเวลาเดียวกันกับโลกเมื่อราว 4.5 พันล้านปีก่อน หลังจากดาวเคราะห์โบราณ “ธีอา” (Theia) ชนและรวมตัวเข้ากับโลกที่ยังมีอายุน้อย ทำให้เกิดเศษซากของการชนที่กลายเป็นดวงจันทร์ในเวลาต่อมา ส่วนอีกทฤษฎีหนึ่งเชื่อว่า การชนกันของวัตถุอวกาศขนาดยักษ์ 2 ชิ้น ที่ต่างก็ใหญ่กว่าดาวอังคารถึง 5 เท่า ทำให้เกิดโลกและดวงจันทร์ขึ้นพร้อมกัน

แม้พื้นผิวของดวงจันทร์จะแสดงถึงร่องรอยการถูกชนนับครั้งไม่ถ้วนในอดีต จนเต็มไปด้วยแอ่งหลุมอุกกาบาตจำนวนมาก แต่ดร. พอล โชดัส ผู้เชี่ยวชาญจากศูนย์ศึกษาวัตถุใกล้โลก (CNEOS) ขององค์การนาซา ได้อธิบายกับเว็บไซต์ Live Science ว่า “เมื่อหลายพันล้านปีก่อน ระบบสุริยะในยุคแรกเริ่มยังคงเต็มไปด้วยหินอวกาศขนาดต่าง ๆ จำนวนมหาศาล แต่ในตอนนี้พวกมันหายไปจากห้วงอวกาศแถบที่เราอยู่และลดจำนวนลงมากแล้ว จนเหลือวัตถุที่เสี่ยงจะชนเข้ากับโลกและดวงจันทร์น้อยมาก”

จากการศึกษาของ CNEOS วัตถุอวกาศใกล้โลกที่มีโอกาสจะชนเข้ากับดวงจันทร์ได้นั้นถือว่ามีน้อยมาก โดยความเสี่ยงที่วัตถุเหล่านี้จะชนเข้ากับโลกยังสูงกว่าโอกาสชนปะทะเข้ากับดวงจันทร์เสียอีก เนื่องจากโลกมีขนาดใหญ่กว่าและมีแรงโน้มถ่วงซึ่งดึงดูดวัตถุที่ผ่านมาได้มากกว่าดวงจันทร์

รูปพื้นดวงจันทร์เห็นโลกอยู่ไกล ๆ

ที่มาของภาพ, Getty Images

ดร. โชดัส ยังบอกว่า “วัตถุอวกาศที่สามารถชนดวงจันทร์ให้หลุดจากวงโคจรได้ จะต้องพุ่งมาด้วยความเร็วสูงและมีขนาดใหญ่แทบจะเท่ากับขนาดของดวงจันทร์เองเลยทีเดียว ซึ่งหมายความว่าจะต้องมีเส้นผ่านศูนย์กลางไม่ต่ำไปกว่า 3,475 กิโลเมตร”

“ดาวเคราะห์น้อยขนาดใหญ่ที่สุดที่เรารู้จัก ยังมีมวลน้อยกว่าดวงจันทร์ถึง 70 เท่า โดยมันโคจรอยู่ตรงแถบดาวเคราะห์น้อยใกล้ดาวอังคารและดาวพฤหัสบดี ห่างจากโลกถึง 180 ล้านกิโลเมตร”

สำหรับความเป็นไปได้ที่วัตถุซึ่งมนุษย์สร้างขึ้นจะส่งผลกระทบต่อวงโคจรของดวงจันทร์ อย่างเช่นในกรณีส่วนขับดันของจรวดฟอลคอน 9 จากบริษัทสเปซเอ็กซ์ ซึ่งกำลังจะพุ่งชนด้านไกลของดวงจันทร์ในวันที่ 4 มีนาคมนั้น ดร. โชดัสชี้แจงว่าการชนโดยชิ้นส่วนจรวดหนัก 4.4 ตัน ที่พุ่งมาด้วยความเร็ว 9,288 กิโลเมตรต่อชั่วโมง จะไม่ส่งผลร้ายแรงต่อตำแหน่งที่อยู่และการเคลื่อนที่ของดวงจันทร์ เพียงแต่อาจทำให้เกิดแอ่งหลุมขนาดเล็กความกว้าง 20 เมตร บนพื้นผิวของดวงจันทร์ได้

ดังนั้นในคราวต่อไปเมื่อคุณแหงนหน้าขึ้นชมความงามของดวงจันทร์บนท้องฟ้า จงสบายใจได้ว่าดาวบริวารที่อยู่เคียงคู่กับโลกมาหลายพันล้านปี จะยังคงอยู่ตรงที่เดิมโดยไม่หลุดวงโคจรไปไหนอีกนานแสนนาน

………..

ข่าว BBCไทย ที่เผยแพร่ในเว็บไซต์ ข่าวสด เป็นความร่วมมือของสององค์กรข่าว

แท็กที่เกี่ยวข้อง

เรื่องอื่นที่น่าสนใจ