"Metaverse" จะเปลี่ยนโลกและชีวิตประจำวันของเราไปอย่างไร

Home » "Metaverse" จะเปลี่ยนโลกและชีวิตประจำวันของเราไปอย่างไร
"Metaverse" จะเปลี่ยนโลกและชีวิตประจำวันของเราไปอย่างไร

เมื่อกลางสัปดาห์สุดท้ายของเดือนตุลาคมที่ผ่านมา มีการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่เกิดขึ้นในวงการเทคโนโลยี ทำให้จู่ ๆ คำคำหนึ่งก็กลายเป็นคำที่ใคร ๆ ต่างพยายามหาคำตอบเพียงช่วงข้ามคืน ความเปลี่ยนแปลงที่ว่านั้น คือการบริษัทยักษ์ใหญ่ในวงการเทคโนโลยีอย่าง Facebook ประกาศเปลี่ยนชื่อ

โดยชื่อใหม่ที่ Facebook จะใช้นั้นมีชื่อว่า Meta (เมทา) และคำนี้นี่เองที่ทำให้หลายคนต้องรีบหาคำตอบ เดี๋ยวจะคุยกับใครเขาไม่รู้เรื่อง

หลายคนอาจจะเคยรู้มาบ้างแล้วว่า Meta มันจะมีคำตอบไปในทิศทางไหน แต่หลาย ๆ คนก็ไม่เคยรู้ มากกว่าการหาว่า Meta คืออะไร คือความสงสัยว่าทำไมมาร์ก ซักเคอร์เบิร์ก ซีอีโอของเฟซบุ๊ก ถึงจะเปลี่ยนชื่อบริษัทของตัวเองเป็น Meta มาร์ก กำลังจะทำอะไรกันแน่ นี่เป็นข่าวที่ทั่วโลกต่างจับตา เพราะมันต้องมีความหมายอยู่แล้วที่ผู้บริหารจะเปลี่ยนชื่อบริษัทของตัวเอง ทั้งที่เป็นเวลาเกือบ 20 ปี ที่มาร์ก ใช้ชื่อเฟซบุ๊กจนเป็นชื่อที่ทุกคนรู้จัก จดจำกันได้ทั่วโลก และมีผู้ใช้งานแพลตฟอร์มนี้นับพันล้านคน

ในงาน Facebook Connect 2021 มาร์ก ซักเคอร์เบิร์กได้ออกมาประกาศว่าบริษัทเฟซบุ๊ก จะรีแบรนด์และเปลี่ยนชื่อบริษัทใหม่เป็น Meta เพื่อเดินหน้าวิสัยทัศน์ “เมทาเวิร์ส” (Metaverse) อย่างเต็มตัว ซึ่งนี่จะเป็นทิศทางใหม่ของบริษัท ที่เขาพร้อมจะมุ่งมั่นและเดิมพันกับมัน โดยตัวเขาเองก็เคยออกมาบอกเมื่อเดือนกรกฎาคมแล้วรอบหนึ่ง ว่าเขาต้องการเปลี่ยนให้เฟซบุ๊ก กลายเป็น “Metaverse Company” เต็มตัว ภายในระยะเวลา 5 ปี

ในฐานะผู้ใช้เฟซบุ๊ก อย่างเรา ๆ หลังจากได้ยินข่าวก็อาจจะคิดกันไปต่าง ๆ นานา ว่าการเปลี่ยนชื่อครั้งนี้จะส่งผลกระทบอะไรกับบัญชีเฟซบุ๊กของเราไหม ซึ่งไม่มีอะไรเกิดขึ้น เขาแค่เปลี่ยนชื่อบริษัท แต่ทั้งนี้ทั้งนั้น Meta จะเปรียบได้กับยานแม่ ส่วนเฟซบุ๊กและแพลตฟอร์มต่าง ๆ ที่เคยเป็นของเฟซบุ๊กจะลดขนาดลงมาเป็นบริษัทลูกที่อยู่ภายใต้การดูแลของ Meta แทน ทั้งธุรกิจโซเชียลมีเดีย Facebook, Instagram, WhatsApp, Facebook Messenger และธุรกิจ AR, VR และ Metaverse ที่เขากำลังทำ

“เมทาเวิร์ส (Metaverse)” คืออะไร

หลายคนน่าจะได้คำตอบแล้วว่าทำไม มาร์ก ถึงเปลี่ยนชื่อบริษัทเป็น Meta มันเป็นวิสัยทัศน์ของเขาที่ต้องการให้ เฟซบุ๊กเป็นมากกว่าโซเชียลมีเดีย โดยจะมุ่งสู่การสร้างโลกเสมือนอย่างเมทาเวิร์สมากกว่าจำกัดอยู่กับคำว่าเฟซบุ๊ก ต่อจากนี้ไป ทุกคนจะเชื่อมโยงถึงกันด้วยเทคโนโลยีโลกเสมือน ที่เราอาจเคยรู้จักโลกเสมือนในวงการเกม แบบที่ว่าแค่สวมแว่น VR ก็เหมือนกับเราได้เข้าไปอยู่ในเกมนั้นจริง ๆ การมาถึงของเมทาเวิร์สจะเปลี่ยนโลกที่เราเคยรู้จักให้กลายไปเป็นโลกใบใหม่อย่างที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อนแน่นอน

ซึ่งถ้าเขาทำให้มันเป็นจริงได้ในเวลา 5 ปี เท่ากับว่าต่อจากนี้อีก 5 ปี การติดต่อของพวกเราก็จะใกล้ชิดกันมากขึ้น เราจะสามารถเทเลพอร์ตตัวเองไปยังสถานที่ต่าง ๆ เพื่อพบปะกับคนอื่น ๆ ที่อยู่ในโลกเมทาเวิร์สเช่นเดียวกัน ซึ่งในขณะนี้ เขาก็กำลังพัฒนาโปรเจ็กต์หนึ่งในชื่อ Horizon Home ซึ่งเป็นแอปฯ สำหรับการเข้าสังคมในรูปของห้องนั่งเล่นที่คุณจะชวนใครมานั่งก็ได้ โดยใช้ระบบร่างอวตารหรือตัวแทนผู้ใช้งานเสมือนจริง

สิ่งที่กำลังจะเกิดขึ้นต่อจากนี้ หากมีคนพูดขึ้นเมื่อ 20 ปีก่อน ก็คงจะโดนค่อนแคะว่าเป็นเรื่องเพ้อฝัน อาจถึงขั้นโดนปรามาสว่าเพ้อเจ้อ แต่ ณ เวลานี้ เรากลับเริ่มที่จะเห็นมันเป็นรูปเป็นร่างขึ้นมาแล้ว โดยเริ่มมาจากเฟซบุ๊กอีกเช่นเคย ที่เคยพลิกโฉมโลกเทคโนโลยีมาครั้งหนึ่งแล้ว

แต่ครั้งนี้ เขาเล็งเห็นว่าเมทาเวิร์สคืออนาคตแห่งโลกอินเทอร์เน็ต บริษัทของเขาจึงหันมาโฟกัสและให้ความสำคัญกับเรื่องของการสร้างและใช้เทคโนโลยีเพื่อเชื่อมต่อผู้คนเข้าด้วยกันเป็นอันดับแรก ที่เขาย้ำว่าต่อจากนี้จะต้องเป็น Metaverse-First ไม่ใช่ Facebook-First และมองเมทาเวิร์สเป็นเครื่องมือยุคถัดจากโซเชียลมีเดีย ที่สามารถสร้างเศรษฐกิจ สร้างงาน และสร้างสรรค์สิ่งใหม่ ๆ ให้กับโลก

อะไรคือโลกเสมือน?

ความหมายของเสมือน มันคือ ความเหมือน ความคล้ายคลึง แต่ไม่ใช่สิ่งนั้นจริง ๆ นั่นหมายความว่าผู้ชายที่ชื่อ มาร์ก ซักเคอร์เบิร์ก กำลังจะสร้างโลกขึ้นมาอีกใบ เป็นจักรวาลที่คู่ขนานกับโลกที่เป็นจริงอยู่ทุกวันนี้ เขามีแนวคิดที่จะพัฒนาโลกเสมือนจริง 3 มิติผสานเข้ากับเทคโนโลยี Virtual Reality (VR) และ Augmented Reality (AR) หากเราได้เข้าไปอยู่ในโลกเสมือนใบนี้ เราจะ “ได้มีส่วนร่วม” ในโลกเสมือนที่ระบบคอมพิวเตอร์สร้างขึ้น

มันจะเหมือนกับการที่เราเอาตัวเองเข้าไปเล่นเกม แทนที่จะสัมผัสปุ่มต่าง ๆ ผ่านหน้าจอ ก็เข้าไปวิ่ง ไปชกต่อยได้เองเลยในเกม จินตนาการต่อว่าตัวจริงเราอาจจะอยู่ที่บ้าน แค่สวมแว่นที่ใช้เทคโนโลยี VR แต่ร่างอวตารที่เราสร้างขึ้นอาจจะกำลังไปกินข้าวกับเพื่อน ๆ ในโลกเสมือนก็ได้

แน่นอนว่าการที่มาร์ก ซักเคอร์เบิร์ก กำลังจะกรุยทางโลกเสมือนขึ้นมาผ่านการเปลี่ยนชื่อบริษัทเฟซบุ๊ก ซึ่งเป็นชื่อที่คนรู้จักกันทั่วโลก มันจึงเป็นการสร้าง “โลก” เสมือนจริง ๆ ไม่ใช่แค่สังคมเสมือนเท่านั้น โลกจริงมีอะไร โลกเสมือนก็ควรต้องมีแบบนั้นคู่ขนานกันไป นั่นหมายความว่ามันจะมีโครงสร้างและระบบเศรษฐกิจและสังคมอยู่ในโลกเสมือนนั้นด้วย มีการซื้อขายอะไรบ่างอย่างกันในโลกเสมือน ซื้อขายกันจริง ๆ มีการจ่ายเงิน มีหลักฐานซื้อขาย แต่ไม่มีของให้จับต้อง ทุกอย่างอยู่ในโลกเสมือน โลกที่เราเคยคิดว่ามันอยู่ในจินตนาการ ก็เกิดคู่ขนานขึ้นมาจริง ๆ

นั่นคือ แม้แต่ NFT ก็เป็นตัวอย่างของสินทรัพย์และการซื้อขายที่เกิดในระบบเศรษฐกิจของโลกเสมือนแบบเมทาเวิร์ส โดยอาศัยการแลกเปลี่ยนซื้อขายโดยใช้คริปโตเคอร์เรนซีมาเป็นสื่อกลาง ซึ่งนี่ก็จะเป็นหน่วยเงินดิจิทัลอีก เงินที่รู้ว่ามีอยู่จริง แต่จับต้องไม่ได้ ต่อไปเราอาจจะเข้าไปขายงานศิลปะ ซื้อของสะสม แล้วแสดงความเป็นเจ้าของโดยทำ NFT ส่วนหลักฐานต่าง ๆ ไปหาเอาได้ในบล็อกเชน แบบนี้ก็เป็นได้

istock-1170065455

ย้ายชีวิตไปอยู่บนโลกเสมือนดีไหม?

เมื่อเมทาเวิร์สนั้นเป็นแนวคิดที่เริ่มนำมาพัฒนาจริงจังจากแพลตฟอร์มโซเชียลมีเดีย ซึ่งเป็นแพลตฟอร์มที่ใช้สำหรับสื่อสารกันระหว่างบุคคล เมทาเวิร์สในระยะเริ่มต้นจึงน่าจะพุ่งเป้าไปที่การมีปฏิสัมพันธ์กันระหว่างมนุษย์เป็นหลัก ไอเดียจะคล้าย ๆ กับช่วงที่ทุกคนในโลกจำเป็นต้องเว้นระยะห่างระหว่างกันเนื่องมาจากโรคระบาด อยู่ห่างไกลแต่ยังจำเป็นต้องติดต่อสื่อสารกันให้ได้ เทคโนโลยีจึงเข้ามาบีบทบาทสำคัญอย่างมากในการติดต่อและปฏิสัมพันธ์ระหว่างกัน ดังที่เราได้ใช้เทคโนโลยีต่าง ๆ ติดต่อเพื่อนร่วมงานที่อยู่บ้านใครบ้านมันในช่วง WFH

ลักษณะนี้กำลังจะเกิดขึ้นอีกในอนาคตอันใกล้ แต่จะล้ำกว่าที่เคยเป็นไปมาก รวมถึงเป้าหมายก็อาจจะแตกต่างกันไปด้วยนิดหน่อย จากเดิมที่นำมาใช้งานในด้านการสังสรรค์ พบปะผู้คน และพูดคุยกันทางโลกออนไลน์

การมีเมทาเวิร์ส จะทำให้เรารู้สึกว่าโลกเสมือนมันมีตัวตนอยู่จริง ๆ และไม่ใช่แค่การมีปฏิสัมพันธ์พูดคุยกันธรรมดา เมื่อมีคนเข้าไปทดลองใช้งานกันมากขึ้นเรื่อย ๆ เมทาเวิร์สก็อาจจะสร้างระบบนิเวศใหม่ขึ้นมา ให้คนมีปฏิสัมพันธ์กันมากกว่าการพูดคุย ทำงาน หรือไปร่วมงานปาร์ตี้ อาจมีสังคมของการซื้อขายในลักษณะเดียวกันกับ NFT ที่มีขนาดใหญ่ขึ้น จนกลายเป็นตลาดแหล่งใหม่ของคนกลุ่มที่เป็นนักพัฒนา เข้าไปสร้างนวัตกรรมต่าง ๆ ให้เหมือนกับเป็นโลกจริง ๆ เป็นโลกทิพย์ที่สัมผัสได้อย่างสมจริงมากขึ้น

นอกจากนั้น การสร้างโลกเสมือนจริงขึ้นมา มันอาจจะเป็นการสร้างสถานที่พักผ่อนแบบใหม่ให้เป็นรูปธรรมมากกว่าเดิม ให้พวกเราได้รับความบันเทิงแบบเสมือนจริงแบบที่เคยเกิดขึ้นในวงการเกม อาจจะเป็นชมภาพยนตร์ การสังสรรค์กับเพื่อนที่อยู่กันคนละที่ หรือการชมคอนเสิร์ต เพราะไอเดียการสร้างโลกเสมือนหรือเมืองทิพย์ ก็เริ่มมีในวงการไอดอลเกาหลีและติ่งเกาหลีแล้วเช่นกัน

โดย SM Entertainment เขาก็ได้สร้างอาณาจักรควังยา (광야) ขึ้นเป็นโลกสมมติใน SMCU (SM Culture Universe) สำหรับศิลปินในสังกัด ศิลปินและแฟนคลับรู้ดีว่าควังยาเป็นดินแดนสมมติที่อยู่ในจินตนาการ แต่ในอนาคต หากเมทาเวิร์สเป็นรูปเป็นร่างชัดเจนกว่านี้ สายติ่งที่เรียกตัวเองว่าเป็นวัยรุ่นควังยาก็อาจจะได้ไปเที่ยวเมืองทิพย์ของศิลปินค่าย SM Entertainment ผ่านเทคโนโลยีต่าง ๆ ที่พัฒนาขึ้นเพื่อรองรับเมทาเวิร์สก็เป็นได้

โลกเสมือนก็ยังเป็นโลกเสมือนอยู่วันยังค่ำ

แม้ว่าแนวคิดโลกเสมือนหรือเมทาเวิร์สที่มาร์ก ซักเคอร์เบิร์ก กำลังพัฒนาอยู่นี้จะน่าตื่นเต้น และดูมหัศจรรย์ที่คนเราจะสร้างโลกสมมติขึ้นมาได้จริง ๆ คู่ขนานไปกับโลกแห่งความเป็นจริง เราอาจจะรู้สึกสนุกสนานและทึ่งกับสิ่งที่เทคโนโลยีนี้ทำได้ หากเราได้ลองเล่นมันจริง ๆ ในวันที่มันสามารถใช้งานได้อย่างสมบูรณ์ แต่เรา ๆ ก็คงต้องย้ำเตือนตัวเองอยู่ตลอดเวลาว่าโลกเสมือนมันก็เป็นเพียงโลกเสมือน โลกเสมือนอาจจะเกิดขึ้นจริงได้ แต่ไม่ได้หมายความว่ามันจะเป็นความสุขที่แท้จริง หรือทำทุกอย่างได้เหมือนจริง ใด ๆ แล้วเราก็ต้องมาใช้ชีวิตกันในโลกจริงอยู่ดี

เพราะในมุมตรงข้าม คนที่เสพติดอยู่ในโลกเสมือน อาการก็น่าจะคล้ายกับคนที่เสพติดโซเชียลมีเดีย มันอาจทำให้คนบางคนฝังตัวเองอยู่ในโลกเสมือนนั้น แล้วละทิ้งชีวิตจริง ๆ ที่เป็นอยู่ จนเกิดเป็นปัญหาสุขภาพจิต เช่น ภาวะซึมเศร้า ความรู้สึกไร้ตัวตน อาการกลัวตกกระแส เพราะใช้ชีวิตในโลกออนไลน์แทบตลอดเวลา การโอ้อวดกันในสิ่งที่จับต้องไม่ได้ในโลกเสมือน ที่อาจทำให้เราเอาตัวเองไปเปรียบเทียบกับคนอื่น ๆ ในโลกออนไลน์โดยไม่รู้ตัว ที่สำคัญ การจะเข้าไปอยู่ในโลกเสมือน มันอาจต้องมีอุปกรณ์เพิ่มเติมนอกเหนือจากโทรศัพท์เครื่องเดียว และมันก็ต้องใช้เงินซื้ออยู่ดี

ต้องทำความเข้าใจว่าการได้เห็นชีวิตของคนที่สามารถซื้อข้าวของต่าง ๆ แล้วพาตัวเองไปอยู่ในโลกเสมือนได้ ก็เริ่มเห็นภาพชัดว่าตัวเราไม่มี ความรุนแรงของการเปรียบเทียบและอิจฉาของคนจะล้ำมากขึ้นไปตามเทคโนโลยีที่สูงกว่าโซเชียลมีเดีย หากคนผู้นั้นขาดสติที่จะควบคุมความคิดอยากได้อยากมีของตัวเอง อาจจะทำทุกอย่างให้ได้ลองเล่นโลกเสมือน หรือลองนึกถึงเรื่องการถือครองทรัพย์สิน NFT ดูก็ได้ คนที่เป็นเจ้าของสิ่งของหลาย ๆ อย่าง ที่แม้จะจับต้องไม่ได้ แต่มันมองเห็นความมั่งมีได้จากการที่เขาจ่าย NFT เพื่อแลกกับการได้เป็นเจ้าของ

ความฉลาดล้ำของเทคโนโลยีเหมือนกับดาบสองคม ที่ถ้าใช้แบบขาดสติและหลงระเริงกับมันจนไร้การควบคุม มันก็จะเป็นผลเสียมากกว่าผลดี ในฐานะมนุษย์ เราควรต้องเป็นผู้ควบคุมและใช้เทคโนโลยี ไม่ใช่ให้เทคโนโลยีมาควบคุมชีวิตเรา ต้องมีสติและใช้อย่างชาญฉลาด รู้เท่าทันเทคโนโลยีให้มาก เพื่อไม่ตกเป็นทาสของเทคโนโลยี

แท็กที่เกี่ยวข้อง

เรื่องอื่นที่น่าสนใจ