Mark Zuckerberg ขอโทษกรณี Facebook ล่ม และปฏิเสธว่าไม่เคยหากำไรจากเนื้อหาแย่ ๆ

Home » Mark Zuckerberg ขอโทษกรณี Facebook ล่ม และปฏิเสธว่าไม่เคยหากำไรจากเนื้อหาแย่ ๆ
Mark Zuckerberg ขอโทษกรณี Facebook ล่ม และปฏิเสธว่าไม่เคยหากำไรจากเนื้อหาแย่ ๆ

เมื่อเช้าที่ผ่านมาของวันนี้ (6 ตุลาคม) มาร์ก ซักเคอร์เบิร์ก (Mark Zuckerberg) ประธานและผู้ก่อตั้ง Facebook ได้ออกมาขอโทษต่อกรณีที่ Facebook ล่มเมื่อคืนวันจันทร์ถึงเช้าวันอังคารที่ผ่านมาเป็นเวลานานกว่า 7 ชั่วโมง โดยเขาให้คำมั่นว่าได้มีการหารือเกี่ยวกับการเสริมความเข้มแข็งให้กับระบบเพื่อป้องกันไม่ให้เกิดเหตุเช่นนี้อีกในอนาคต

นอกจากนี้ เขายังได้ปฏิเสธกรณีที่ แฟรนซิส เฮาเกน (Frances Haugen) อดีตผู้จัดการผลิตภัณฑ์กล่าวหาว่า Facebook ทำกำไรจากอัลกอริทึมที่เพิ่มการมองเห็นเนื้อหาสร้างความเกลียดชังให้กับผู้ใช้ โดยได้มีการส่งมอบเอกสารภายในจำนวนให้แก่สภาคองเกรสและสำนักข่าว Wall Street Journal รวมถึง ปฏิเสธข้อกล่าวหาที่ระบุว่า Instagram ส่งผลกระทบต่อสุขภาพจิตของผู้หญิงวัยรุ่น

ที่มา: Mark Zuckerberg

ซักเคอร์เบิร์กระบุว่าการกล่าวหาว่า Facebook ทำกำไรได้มากขึ้นจากการส่งเสริมเนื้อหายั่วยุให้เกิดความเกลียดชังนั้นเป็นเรื่องไร้เหตุผลและเป็นการสะท้อนตัวตนของ Facebook แบบผิด ๆ เพราะเจ้าของโฆษณาเองก็บอกต่อ Facebook อยู่เสมอว่าไม่อยากให้โฆษณาของตัวเองอยู่ใกล้กับเนื้อหาเชิงลบ

แฟรนซิส เฮาเกน (ที่มา: CBS)

นอกจากนี้ ที่ผ่านมาบริษัทได้มีการจ้างพนักงานจำนวนมากที่เข้ามาทำงานเพื่อจัดการกับเนื้อหาที่เป็นภัย มีการการพัฒนาระบบ Meaningful Social Interactions ที่ทำให้คลิปไวรัลปรากฎบน News Feed น้อยลง และเพิ่มเนื้อหาที่เพื่อนและครอบครัวเผยแพร่ให้มากขึ้น

เขาปฏิเสธว่า Facebook ส่งผลให้ความแตกแยกทางการเมืองทวีความรุนแรงขึ้น โดยตั้งคำถามว่าหากโซเชียลมีเดียมีผลสร้างความแตกแยกทางการเมืองจริง ทำไมในอีกหลายประเทศที่ใช้โซเชียลมีเดียมากพอ ๆ กันถึงไม่ประสบปัญหาความขัดแย้งทางการเมืองเช่นเดียวกับในสหรัฐฯ

สำหรับในกรณีที่มีการกล่าวหาว่า Instagram ส่งผลเสียต่อสุขภาพจิตของผู้ใช้ที่เป็นผู้หญิงวัยรุ่น นั้น ซักเคอร์เบิร์กอ้างว่าผู้หญิงวัยรุ่นหลายคนสะท้อนว่า Instagram ทำให้ผ่านช่วงเวลาที่ยากลำบากไปได้ง่ายขึ้น และที่ผ่านมาทางบริษัทเน้นย้ำถึงความสำคัญของความปลอดภัย ความเป็นอยู่ที่ดี และสุขภาพจิตของผู้ใช้ ทั้งยังให้ความสำคัญกับคุณภาพชีวิตของเยาวชน

“ผมใช้เวลาจำนวนมากไปกับการสะท้อนว่าประสบการณ์ออนไลน์แบบไหนที่ผมอยากให้ลูกของผมและคนอื่น ๆ มี และมันเป็นเรื่องสำคัญสำหรับผมมาก ๆ ที่ทุกอย่างที่เราสร้างจะต้องปลอดภัยและดีสำหรับเด็ก” ซักเคอร์เบิร์กระบุและเน้นย้ำว่า “มันเป็นความจริงที่เด็กใช้เทคโนโลยี”

ที่มา: Messenger Kids

ในทางตรงกันข้าม ซักเคอร์เบิร์กระบุว่าตลอดเวลาที่ผ่านมาทางบริษัทได้ส่งเสริมงานวิจัยในการส่งเสริมคุณภาพชีวิตของผู้ใช้ โดยเฉพาะเยาวชนมาโดยตลอด ทั้งการพัฒนา Messenger Kids และยังอยู่ระหว่างการพิจารณานำระบบการสอดส่องของผู้ปกครองมาใช้บน Instagram

ยิ่งไปกว่านั้น ยังได้เคยเสนอเรื่องการยกระดับมาตรการที่คุ้มครองเยาวชนในการใช้สื่อออนไลน์ต่อผู้กำหนดนโยบายของสหรัฐฯ อาทิ ระดับอายุที่เหมาะสมต่อการใช้บริการทางอินเทอร์เน็ต และวิธีการระบุอายุของผู้ใช้ และได้เคยแสดงความคิดเห็นในหลายโอกาสเกี่ยวกับการกำหนดมาตรการที่จำเป็นทั้งในประเด็นการเลือกตั้ง เนื้อหาที่เป็นภัย ความปลอดภัยของผู้ใช้ และการแข่งขันทางธุรกิจ

 

แท็กที่เกี่ยวข้อง

เรื่องอื่นที่น่าสนใจ