March Madness : ทัวร์นาเมนต์บาสเกตบอลมหา'ลัยที่สร้างความบ้าคลั่งระดับโลก

Home » March Madness : ทัวร์นาเมนต์บาสเกตบอลมหา'ลัยที่สร้างความบ้าคลั่งระดับโลก
March Madness : ทัวร์นาเมนต์บาสเกตบอลมหา'ลัยที่สร้างความบ้าคลั่งระดับโลก

หากพูดถึงทัวร์นาเมนต์กีฬาที่มีดวงตานับล้านจับจ้องให้ความสนใจ หลายคนอาจนึกถึง โอลิมปิกเกมส์, ฟุตบอลโลก หรือ ซูเปอร์โบวล์

แต่สำหรับคนที่รักอเมริกันเกมส์แล้ว เมื่อเข้าสู่ช่วงท้ายของเดือนมีนาคม พอได้ยินสองคำอย่าง “March Madness” ร้อยทั้งร้อย จะมีรอยยิ้มบนใบหน้าพร้อมกับความรู้สึกตื่นเต้นในใจทันที เพราะนี้คือหนึ่งในมหกรรมกีฬาที่ยิ่งใหญ่ที่สุดในโลก แถมแฟน ๆ ยังมีส่วนร่วมในการชิงเงินรางวัลสูงหลักล้าน

อะไรคือ March Madness ? ทำไมถึงมีคนสนใจมากมาย ? และเพราะอะไร วอร์เรน บัฟเฟตต์ ถึงพร้อมเป็นมหาเศรษฐีใจป้ำ มอบเงินให้ใช้แบบฟรี ๆ เพียงแค่ “ทายผลให้ถูก” ?

ความเป็นมา

จุดเริ่มต้นของ March Madness ต้องย้อนกลับไปในปี 1939 เมื่อทาง NCAA หรือ National Collegiate Athletics Association ผู้ทำหน้าที่เป็นองค์กรหลักในการดูแลเรื่องของการแข่งขันกีฬาระดับมหาวิทยาลัยของสหรัฐอเมริกา เกิดไอเดียในการจัดทัวร์นาเมนต์หลังจบฤดูกาลที่เชิญแชมป์บาสเกตบอลมหา’ลัยจากแต่ละภูมิภาคมาแข่งกัน 


Photo : www.cnbc.com

ในปีนั้นมี 8 ทีมถูกเชิญมาแข่งขันกันที่รัฐอิลลินอยส์ ผลประกฎว่ามหาวิทยาลัย โอเรกอน ชนะ มหาวิทยาลัย โอไฮโอ สเตท ในรอบชิงชนะเลิศ จากการที่จัดเป็นครั้งแรก ประกอบรูปการจัดทัวร์นาเมนต์สไตล์น็อกเอาต์ แพ้คัดออก ทำให้มีกระแสตอนรับที่ดี แฟนกีฬาให้ความสนใจมากขึ้น

เวลาผ่านไป จำนวนทีมที่ถูกรับเชิญมาแข่งขันในแต่ละปีก็เพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ เริ่มจาก 16 ทีมในปี 1951 ก่อนจะขึ้นมาเป็น 32 ในปี 1975 แล้วก็ 64 ทีมในปี 1985 จนปัจจุบันอยู่ที่ 68 ทีม แต่สิ่งที่ยังคงยึดติดมาโดยตลอดจากปีแรกเริ่ม คือการใช้กฎน็อกเอาต์ ชนะไปต่อ แพ้กลับบ้าน หรือ “Win or Go Home” ทำให้ทีมแชมป์ต้องชนะทุกทีมที่ขวางหน้าแบบห้ามปราชัยโดยเด็ดขาด

 

สถาบันที่คว้าแชมป์มากที่สุดตลอดการก็คือ มหาวิทยาลัย UCLA ชนะไปถึง 11 สมัย ลองลงมาก็คือ มหาวิทยาลัย เคนตั๊กกี้ 8 สมัย และ มหาวิทยาลัย นอร์ทแคโรไลนา 6 สมัย

ส่วนเรื่องชื่อที่ใช้สำหรับทัวร์นาเมนต์ “March Madness” ถูกใช้ครั้งแรกหลังจบการแข่งขันในปี 1939 โดย เฮนรี่ พอร์เตอร์ เจ้าหน้าที่โรงเรียนมัธยมแห่งหนึ่งของรัฐอิลลินอยส์


Photo : www.sportscasting.com

“ความบ้าคลั่งเพียงเล็กน้อยในเดือนมีนาคม อาจช่วยเสริมสร้างความมีสติและช่วยให้สังคมมีความเท่าเทียมกัน” พอร์เตอร์เขียนใว้ในนิตยสารของโรงเรียนเพื่อเป็นการบรรยายการแข่งขันระดับมหาวิทยาลัยในปีนั้น

เขาเลือกคำว่า “March” เพราะการแข่งขันถูกจัดขึ้นช่วงเดือนมีนาคม ประกอบกับ คำว่า “Madness” ทำหน้าที่เป็นการอธิบายความรู้สึก บ้าคลั่ง และ สนุกสนานที่คนดูมีระหว่างการนั่งรับชมเกม

 

อย่างไรก็ตาม กว่าที่คำนี้จะถูกใช้อย่างเป็นทางการก็ต้องรอถึงปี 1982 เมื่อผู้ประกาศข่าว อย่าง เบรนท์ มัสเกบอร์เกอร์ ใช้คำนี้ในระหว่างการรายงานสด

เจ้าตัวอ้างว่า เขาได้ไอเดียคำ “March Madness” จากโฆษณาตัวแทนจำหน่ายรถยนต์ที่เขาเห็นขณะออกอากาศการแข่งขันบาสเกตบอลระดับมัธยมปลายของรัฐอิลลินอยส์ ต่อมา มัสเกบอร์เกอร์เริ่มใช้คำดังกล่าวระหว่างเกมบ่อยครั้ง จนในที่สุด CBS สถานีโทรทัศน์ที่ถ่ายทอดสดการแข่งขัน ได้นำไปใช้เป็นชื่อของการแข่งขันอย่างเป็นทางการจนถึงทุกวันนี้

ระบบการแข่งขัน 

เมื่อจบการแข่งขันของแต่ละฤดูกาล องค์กร NCAA ให้สิทธิแชมป์จาก 32 ลีกบาสเกตบอลมหาวิทยาลัยทั่วประเทศในระดับดิวิชั่น 1 ตีตั๋วเข้าไป March Madness ทันที หมายความว่า ไม่ว่าทีมจะเล่นอยู่ในลีกใหญ่ ๆ เช่น BIG TEN, BIG 12, SEC หรือ เป็นลีกที่ไม่ได้รับความสนใจระดับชาติอย่างพวก Mountain West, Southland Conference, Conference USA ก็ได้รับโอกาสเท่าเทียมกันหมดในการเข้าไปเล่นรอบ 68 ทีมสุดท้าย

หลังจากได้ทีมแชมป์จาก 32 ลีกทั่วประเทศ ทาง NCAA จะใช้วิธีคำนวณสถิติ เพื่อเลือกอีก 36 ทีม ที่ถึงแม้ไม่ได้แชมป์ของลีกตัวเองแต่มีสถิติดีเข้าไปใน March Madness โดยมีการใช้หลายปัจจัยเช่น จำนวนเกมที่ลงเล่น จำนวนเกมที่ชนะ หรือ แม้แต่จำนวนเกมที่แพ้ ในการคัดเลือกทีม

 


Photo : fightingillini.com

ต่อมา NCAA จะมีการจัด Seeding หรืออันดับทีมวางให้กับทุกทีม ไล่ตั้งแต่สูงสุด Seed #1 จนถึง ต่ำสุด Seed #16 โดยการจัด Seed นั้นจะใช้วิธีคำนวนความแข็งแกร่งของลีก รวมถึงเอาสถิติมาเปรียบเทียบกัน เพราะฉะนั้นทีมที่ได้แชมป์ แถมชนะเยอะก็จะได้ Seed สูง อย่างเช่นแชมป์ของ West Coast Conference ปีนี้ อย่าง มหาวิทยาลัย กอนซากา ชนะรวด 27 เกมแบบไม่แพ้ใคร ได้สิทธิเป็น Seed #1 ทันที ส่วนแชมป์ของลีกที่อาจไม่ค่อยแข็งแกร่งอย่าง มหาวิทยาลัย นอร์โฟล์ก สเตท ชนะ 17 แพ้ 8 ได้ Seed #16 

ด้วยการที่ March Madness มีทีมเข้าแข่งขันมากมายจากทั่วประเทศ จึงทำให้ต้องมีการแบ่ง Seed #1-16 ออกเป็นสี่โซน ภาคตะวันออก ภาคตะวันตก ภาคกลาง และ ภาคใต้ เมื่อเสร็จแล้วก็จะทำให้เกิดเป็น Bracket หรือ ตารางทัวร์นาเมนต์ที่มีทีม Seed #1-16 ของแต่ละภาครวมแล้วเป็น 64 ทีม (16 ทีมในแต่ละภาค) โดยทีม Seed #1 จะถูกจัดให้ต้องเจอกันทีม Seed #16 ส่วนทีม Seed #2 จะแข่งกับ ทีม Seed #15 แล้วก็ไล่ลงมาเรื่อย ๆ 

อ้าว ! แต่ทำไมมีทีมที่ได้เข้ามาเล่นในรอบสุดท้าย 68 ทีม ? 

บางทีมที่เข้าไปเล่นใน March Madness อาจจะมีสถิติที่เหมือนกันหรือใกล้เคียงกันจนะยากเกินที่จะเลือกทีมใดทีมหนึ่ง NCAA เลยจับเอาทีมเหล่านี้ 8 ทีม มาแข่งกันก่อนในรอบ First Four ซึ่งเรามักเห็น Seed #11 หรือต่ำกว่า ถูกจับมาเจอกันก่อน

 

เมื่อได้ผู้ชนะจากรอบนี้ ก็จะทำให้เหลือ 64 ทีม และเป็นการเริ่มต้นการแข่งขันอย่างเป็นทางการ

มหกรรมทายผล

เมื่อกีฬา กับ ความบันเทิงเป็นสองอย่างคู่กัน สื่อกีฬาดังของสหรัฐอเมริกาเลยคิดไอเดียให้แฟน ๆ มีส่วนร่วมกับการแข่งขันบาสเกตบอลมหา’ลัยมากขึ้น นั่นคือการทำ Bracket ให้ทายผลการก่อนการแข่งขันจะเริ่ม 


Photo : www.cbssports.com

ย้อนกับไปในปี 1977 ที่รัฐนิวยอร์ก มีแฟน ๆ 88 คน อยากเพิ่มอรรถรสในการรับชมการแข่งขัน ทำให้ตัดสินใจมารวมตัวกันเพื่อเดาผล แต่นี่ไม่ใช่เป็นการเดาเล่น ๆ หรือ ทายแบบเกมต่อเกมเหมือนการพนันกีฬาทั่วไป แต่เป็นการทำนายผลของทุกเกม (ย้ำ ! ทุกเกม) ตั้งแต่รอบแรกจนจบทัวร์นาเมนต์ มีค่าเดิมพันคนละ 10 ดอลลาร์สหรัฐฯ หรือประมาณ 300 บาท ใครเดาถูกแม่นที่สุดเหมาเงินทั้งหมด

 

เมื่อเวลาผ่านไป สื่อดังไม่ว่าจะเป็น ESPN, Yahoo Sports หรือ แม้แต่ช่องเจ้าของลิขสิทธิ์ถ่ายทอดสดอย่าง CBS ต่างก็เปิดโอกาสให้แฟน ๆ เข้ามาทายผลการแข่งขัน หรือที่เรียกกันในภาษาอังกฤษว่า Bracketology กัน ซึ่งทุกคนสามารถร่วมสนุกได้ฟรี ไม่ต้องเสียค่าใช้จ่าย แถมยังได้ลุ้นของรางวัล ใหญ่บ้างเล็กบ้างแล้วแต่ว่าจะไปร่วมกับเจ้าไหน

ยิ่งเข้าสู่ยุคสมัยใหม่ การร่วมสนุกก็ยิ่งง่าย เพราะในเว็บไซต์จะมีตารางของการแข่งขันครบทุกแมตช์ เรียงออกมาให้ผู้เล่นได้ติดตามแบบสด ๆ เพียงแค่เข้าไปเลือกผู้ชนะของแต่ละคู่ ไล่จากรอบแรกจนถึงเลือกทีมที่คิดว่าจะได้แชมป์ ก็ได้เป็นส่วนหนึ่งของมหกรรม Bracketology แล้ว


Photo : www.sbnation.com

ร่วมสนุกน่ะง่าย แต่การได้รางวัลเนี่ยสิ ยากถึงขั้นโคตรยาก เพราะตั้งแต่ที่เริ่มจัดมา ไม่เคยมีใครทายผลทุกคู่ ตั้งแต่รอบ 68 ทีมจนรอบชิงชนะเลิศ ได้ถูกต้องมาก่อน เพราะโอกาสความเป็นไปได้อยู่ประมาณ 0.0000000000000000000000000000092 หรือ 1 ใน 9.2 ล้านล้านล้าน

ว่ากันตามตรง คือแทบจะเป็นไปไม่ได้ แต่นั่นก็ไม่ทำให้คนร่วมทายผลน้อยลง ในทางกลับกัน ทำให้เพิ่มขึ้นอีกด้วยซ้ำ เพราะตั้งแต่เริ่มทำระบบให้เดาผลแบบออนไลน์ได้ในปี 2007 ผู้ร่วมสนุกก็ยิ่งเพิ่มขึ้นเป็น 60 ล้านคนจากทั่วโลก ซึ่งความสนุกของการทายผล อยู่ที่ความหวังที่ทุกคนมีก่อนเริ่มทัวร์นาเมนต์ เหมือนกับซื้อหวยนั่นเอง

ยิ่งไปกว่านั้นในปี 2014 หนึ่งในตำนานนักเล่นหุ้นที่รวยที่สุดในโลกอย่าง วอร์เรน บัฟเฟตต์ ยังเพิ่มอรรถรสในการเชียร์สำหรับแฟน ๆ ทุกคน ด้วยการประกาศว่า หากใครสามารถทายผลถูกได้ทุกคู่ตั้งแต่เกมแรกถึงเกมสุดท้าย รับไปเลย 1,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ หรือตีเป็นเงินไทยประมาณ 30,000 ล้านบาท ทำให้ Perfect Bracket หรือการทายผลให้ถูกทุกคู่จึงเป็นเรื่องที่ทุกคนล้วนแล้วพยายามทำกันให้ได้ทุกปี แต่ถึงปัจจุบันยังไม่มีใครทำได้สำเร็จ 


Photo : time.com

อย่างไรก็ตาม วอร์เรน บัฟเฟตต์ ได้มีการเปลี่ยนกติกาในการชิงเงินรางวัลทุกปีเพื่อเพิ่มสีสัน บางครั้งก็เปิดให้ทุกคนได้มีส่วนร่วม บางครั้งก็จำกัดวงให้เฉพาะพนักงานของ Berkshire Hathaway บรรษัทข้ามชาติที่บัฟเฟตต์เป็นประธานและซีอีโอเท่านั้นที่ได้ลุ้น เช่นเดียวกับเงื่อนไขและจำนวนเงินรางวัล ที่เปลี่ยนได้ทุกปี

โดยในปี 2021 เขาเปิดโอกาสสำหรับพนักงานของ Berkshire Hathaway ได้ลุ้น โดยใครสามารถเดาผลของทุกคู่ในรอบแรกและรอบสองได้ถูกต้อง บัฟเฟตต์ จะมอบเงินปีละ 1 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ หรือ 30 ล้านบาท จนกว่าชีวิตของผู้รับจะหาไม่ และหากทายถูกทุกคู่ของทั้งสองรอบแรก พร้อมกับที่ทีมบ้านเกิดของ บัฟเฟตต์ อย่าง มหาวิทยาลัย เครตัน ทะลุเข้าไปรอบสี่ทีมสุดท้าย หรือ Final Four ได้ รางวัลจะถูกคูณสองทันที นอกจากนี้ ยังมีรางวัลรองอื่น ๆ อีกมากมาย

การเปิดโอกาสให้กับทุกคนมีส่วนร่วม แสดงให้เห็นถึงความเท่าเทียมที่ทุกคนจะได้รู้สึก นักวิเคราะห์เกม ประธานาธิบดี เด็กข้างถนน หรือ ใครก็แล้วแต่ต่างก็มีโอกาสเท่ากันในการเดาผล การมีโอกาสเท่ากันหมด จึงเป็นจุดเด่นในการดึงดูดผู้คนให้อยากมีส่วนร่วม แม้จะไม่ดูกีฬาก็ตาม

แจ็คผู้ฆ่ายักษ์ 

อย่างที่ได้กล่าวไปข้างต้นว่า ตั้งแต่มีการทำนายผลมา ไม่เคยเลยสักครั้งที่จะมีใครเดาได้ถูกต้องทั้งหมด เพราะอุปสรรคคือเรื่องราวของทีมม้ามืด ไม่ต่างจากมหัศจรรย์แห่ง เอฟเอ คัพ ฟุตบอลถ้วยรายการเก่าแก่ที่สุดในโลก ที่ทีมเล็ก ๆ สามารถเขี่ยทีมใหญ่ตกรอบได้

อย่างที่ได้กล่าวไว้ก่อนหน้านี้ NCAA จะทำการวาง Seed #1-16 ให้กับทุกทีมในทัวร์นาเมนต์ คนส่วนใหญ่พอเห็นทีมที่มี Seed สูง ๆ อย่างเช่น #1 หรือ #2 มักมองว่ามีสิทธิชนะสูงกว่า สามารถเข้าไปเล่นในรอบลึก ๆ ได้ แต่จริง ๆ แล้ว ตัวเลขทีมวางเป็นเพียงแค่ตัวเลขบ่งบอกสถิติเท่านั้น

นับตั้งแต่ทัวร์นาเมนต์เปลี่ยนมาใช้ระบบ 68 ทีม โดยเฉลี่ยแล้ว จะมีอย่างน้อยสามทีมที่เป็น Seed #12 หรือต่ำกว่า พลิกชนะทีม Seed #1-5 ได้ในรอบแรก รวมถึง ในทุก ๆ ปี ต้องมีอย่างน้อยหนึ่งทีม ที่มีอันดับ Seed #10 หรือต่ำกว่า หลุดเข้าไปเล่นในรอบ 16 ทีมสุดท้ายได้


Photo : richmond.com

ยกตัวอย่างเช่นในปี 2018 รอบแรกของการแข่งขัน Seed #1 มหาวิทยาลัย เวอร์จิเนีย พลาดท่าแพ้ให้กับ Seed #16 มหาวิทยาลัย UMBC 54-74 แบบช็อกกันทั้งประเทศ หรือ อย่างในปี 2021 Seed #15 มหาวิทยาลัย ออรัล รอเบิร์ตส์ สามารถคว่ำ Seed #2 มหาวิทยาลัย โอไฮโอ สเตท ได้ในรอบแรก 75-72 

ทั้งหมดนี้เป็นไปได้ และ เกิดขึ้นมาให้เห็นแล้ว จึงเป็นอีกประเด็นสำคัญที่ทำให้ชาวอเมริกันหลงรักใน March Madness ความไม่แน่นอนส่งผลให้ทุกคนต้องลุ้นทุกเกม ทุกนาที ทุกช็อต

ยิ่งใหญ่กว่าลีกอาชีพ 

นอกจากประวัติศาสตร์อันยาวนาน กับระบบการคัดเลือกแบบแชมป์ชนแชมป์แล้ว มนต์ขลังของ March Madness คือเอกลักษณ์ในการจัดการแข่งขันแบบที่ไม่มีใครเคยทำมาก่อน NCAA ทำทุกวิถีทางเพื่อทำให้ทัวร์นาเมนต์บาสเกตบอลระดับมหาวิทยาลัย ออกมาดูยิ่งใหญ่พร้อมกับมีความสนุกสนานมากกว่าลีกอาชีพทั่วโลก


Photo : time.com

หากว่ากันที่เรื่องสเกลของทัวร์นาเมนต์ ต้องยอมรับว่า March Madness มีความอลังการไม่แพ้อเมริกันเกมส์ระดับแนวหน้าของชาติ ไม่ว่าจะเป็น NBA หรือ NFL เพราะในแต่ละปี NCAA จะมีการวางสนามแข่งขันของแต่ละรอบในทัวร์นาเมนต์ แบ่งออกไปจัดทั่วประเทศ ทั้งอารีนาของมหาวิทยาลัย กับสนามของทีมลีกอาชีพจะถูกเลือกมาใช้ การทำเช่นนี้ เพื่อให้นักกีฬาได้ลงเล่นในสนามแข่งขันระดับชาติ แล้วยังเปิดโอกาสให้คนทั่วประเทศได้มีส่วนร่วมในการเข้าไปเชียร์ทีมรักของตัวเองอีกด้วย

ยิ่งไปกว่านั้นในรอบ Final Four (รองชนะเลิศ) กับรอบชิงชนะเลิศ NCAA จะทำคอร์ทบาสขึ้นมาพิเศษ จัดไว้กลางสนามอเมริกันฟุตบอล อย่างเช่นในปี 2019 ได้จัดขึ้นใน US Bank Arena สนามของทีม มินเนโซตา ไวกิงส์ จุคนดูได้กว่า 66,000 คน แบบที่ไม่มีลีกอื่น ๆ ทำกัน


Photo : www.cbssports.com

สำหรับแฟน ๆ ที่ไม่สามารถไปเชียร์ได้ถึงขอบสนาม ไม่ต้องห่วง เพราะ NCAA ทำการเซ็นสัญญากับทาง CBS ช่องกีฬาดังในอเมริกา เพื่อถ่ายทอดสดทุกเกมการแข่งขันตั้งแต่รอบ First Four จนถึงรอบ ชิงชนะเลิศ โดยมูลค่าของลิขสิทธิ์ถ่ายทอดสดสูงถึง 770 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ต่อปี สูงเป็นอันดับสามของโลก หากนำมาเทียบกับดีลของลีกอาชีพทั่วโลก สูงกว่า พรีเมียร์ลีก ของประเทศอังกฤษ ที่เซ็นกับทาง SKY / BT Sports รวมถึงมากกว่า MLB ที่ทำสัญญากับ ESPN / FOX อีกด้วย 

ปัจจัยสำคัญที่ช่วยให้ March Madness เป็นที่นิยม สร้างรายได้มหาศาลจากดีลถ่ายทอดสด เป็นเพราะทัวร์นาเมนต์นี้จัดการแข่งขันในช่วงเดือนมีนาคม ซึ่งเป็นช่วงที่บาสเกตบอล NBA ยังอยู่ในฤดูกาลปกติ ส่วนอเมริกันฟุตบอล NFL ก็เพิ่งจะปิดซีซั่นไป การมีรายการแข่งขันกีฬามัน ๆ ให้ได้ดู ย่อมโกยรายได้อย่างมหาศาลอยู่แล้ว

สอนให้เห็นอะไร ?

ความสำเร็จทั้งหมดนี้ สะท้อนให้เห็นความเก่งกาจของคนอยู่เบื้องหลังการจัดการระบบกีฬามหาวิทยาลัยของสหรัฐอเมริกา เพราะนอกจากลีกอาชีพจะไม่สามารถสู้ได้แล้ว การทำให้ March Madness กลายเป็นประเพณีประจำปีที่คนกว่า 20% ของชาติต้องให้ความสนใจ แสดงให้เห็นถึงการอ่านเกมอันเหนือชั้น 

ส่วนในมุมของสังคม ทัวร์นาเมนต์นี้แสดงให้เห็นอิธพลของกีฬาต่อประชาชนอย่างชัดเจน เพราะนอกจากจะให้ความสนใจแบบล้นหลามแล้ว ยังเห็นถึงความรักสถาบันของชาวอเมริกัน ที่พร้อมจะช่วยเชียร์มหาวิทยาลัยของตนเอง


Photo : www.ncaa.com

สุดท้ายแล้ว หากมอง March Madness จากภาพใหญ่ ถือว่ามีครบทุกองค์ประกอบในการเป็นทัวร์นาเมนต์ระดับโลก การจัดการวางแผนสนามแข่งขันที่ครอบคลุมคนทั่วประเทศ ระบบคัดเลือกทีมและวางโปรแกรมการแข่งขันแบบที่น้อยคนเหมือน ค่าลิขสิทธิ์การถ่ายทอดสดหลักพันล้าน วิธีดึงดูดแฟน ๆ ให้มาร่วมสนุก อย่างการทำ Bracket ทำนายผล รวมถึง ผลการแข่งขันที่คาดเดาไม่ได้ ล้วนเป็นสูตรผสมลงตัว

และทำให้ March Madness กลายเป็น “ความบ้าคลั่งแห่งเดือนมีนาคม” ที่ทั้งโลกเฝ้ารออย่างแท้จริง

แท็กที่เกี่ยวข้อง

เรื่องอื่นที่น่าสนใจ