ผู้มีความหลากหลายทางเพศในจีนหลายรายเดินทางมาเที่ยวและอยู่อาศัยในไทย แม้กฎหมายยังไม่อนุญาตให้แต่งงานกันและยังมีการเลือกปฏิบัติ แต่ก็มีความเปิดกว้างกว่าประเทศที่พวกเขาและเธอจากมา
สำนักข่าวเอพีรายงานว่า กลุ่มคนผู้มีความหลากหลายทางเพศจากจีน ซึ่งมักถูกตีตราในประเทศบ้านเกิด กำลังเดินทางเข้ามายังประเทศไทย เนื่องจากพบว่าพวกเขามีอิสระในการที่จะเป็นตัวเอง
ซินหยู เหวิน อายุ 28 ปี หนึ่งในผู้ให้สัมภาษณ์กับเอพีระบุว่า เดิมทีเธอตั้งใจเดินทางมาที่ไทยเพียงสองสัปดาห์ในช่วงเดือนมิถุนายน เพื่อพักผ่อนและร่วมงาน ‘ไพรด์ พาเหรด’ หรือการเดินขบวนของผู้มีความหลากหลายทางเพศเท่านั้น แต่พอได้ค้นพบชุมชนชาว LGBTQ+ ในไทย และได้มีบทสนทนาในเรื่องราวต่างๆ เธอตัดสินใจอยู่ที่ไทยต่อถึงหนึ่งเดือนครึ่ง
การเดินทางด้วยเครื่องบินจากกรุงปักกิ่ง เมืองหลวงของประเทศจีน มายังกรุงเทพมหานคร ใช้เวลาเพียง 5 ชั่วโมง และหน่วยงานด้านการท่องเที่ยวของประเทศไทย ก็มีความกระตือรือร้นในการประชาสัมพันธ์ว่าไทยเป็นพื้นที่ที่เปิดกว้างต่อ LGBTQ+ ที่สุดในภูมิภาค
ทางด้าน อภิชัย ฉัตรเฉลิมกิจ รองผู้ว่าการด้านสินค้าและธุรกิจท่องเที่ยว การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) กล่าวกับสื่อเนชั่น เมื่อ 9 สิงหาคมที่ผ่านมา โดยระบุว่า นักท่องเที่ยวที่เป็น LGBTQ+ ถือเป็นนักท่องเที่ยวกลุ่ม “ศักยภาพสูง” เพราะมีแนวโน้มที่จะจับจ่ายใช้สอยมากกว่า และเดินทางท่องเที่ยวบ่อยกว่านักท่องเที่ยวกลุ่มอื่น
ประเทศไทยไม่ได้บันทึกสถิติของนักท่องเที่ยวที่มีความหลากหลายทางเพศ แต่ในภาพรวม สถิติจนถึงกลางเดือนสิงหาคมแสดงให้เห็นว่า มีนักท่องเที่ยวจีนเดินทางเข้าประเทศไทยแล้ว 2.2 ล้านคน จากนักท่องเที่ยวทั้งหมด 16 ล้านคน
ขณะที่ โอเวน จู ชาวจีนที่ทำงานขายบ้านให้กับลูกค้าชาวจีน กล่าวกับเอพีว่า ลูกค้าหลายคนมาไทยเพื่อที่จะอยู่ยาว และลูกค้าจำนวน 2 ใน 3 ของเขาเป็นชาว LGBTQ+
“ในหมู่เกย์ชาวจีน ประเทศไทยถูกเรียกว่าเป็นสวรรค์ของเกย์” โอเวน จู กล่าว และยังเพิ่มเติมด้วยว่า มีกรุ๊ปแชทหลายกรุ๊ปที่เกย์ชาวจีนจะร่วมกันจัดทริปเที่ยวไทยและแบ่งปันข้อมูลข่าวสารเกี่ยวกับงานปาร์ตี้และกิจกรรมต่างๆ
แม้การเป็นเกย์จะไม่ผิดกฎหมายในประเทศจีน แต่หลายประเทศในเอเชีย มีกฎหมายที่เข้มงวดเกี่ยวกับการรักเพศเดียวกัน ยกตัวอย่างเช่นมาเลเซีย ที่เพิ่งมีการประกาศเมื่อเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา ว่าใครก็ตามที่ครอบครองนาฬิกาที่ออกแบบมาในธีม LGBTQ+ อาจถูกจำคุกเป็นเวลา 3 เดือนได้
อย่างไรก็ดี การเป็นเพศหลากหลายในจีน ก็ต้องเจอกับแรงกดดันที่ทำให้การแสดงออกตัวตนกลายเป็นเรื่องยาก โดย อดิศักดิ์ ว่องไวการค้า เจ้าของบาร์เกย์ Silver Sand ในกรุงเทพฯ กล่าวว่า ลูกค้า 30% ของร้านคือ LGBTQ+ จากจีน และจำนวนกำลังเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ