เมื่อเวลา 09.30 น. วันที่ 2 กรกฎาคม ที่สามย่านมิตรทาวน์ฮอลล์ ชั้น 5 ศูนย์การค้าสามย่านมิตรทาวน์ บริษัท มติชน จำกัด (มหาชน) ผนึกกำลังพันธมิตรชั้นนำ ทั้งโรงพยาบาลรัฐและเอกชน 14 แห่ง หน่วยงานสังกัดกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ตลอดจนภาคเอกชน จัดมหกรรมสุขภาพเฮลท์ แคร์ 2022 ภายใต้ธีม ‘Healthcare 2022 จักรวาลผู้สูงวัย’ ตอกย้ำความแกร่งผู้นำงานแฟร์สุขภาพอันดับ 1 ของประเทศไทย ต่อเนื่องเป็นปีที่ 14 ระหว่างวันที่ 30 มิถุนายน-วันที่ 3 กรกฎาคมนี้
ผู้สื่อข่าวรายงานบรรยากาศการจัดงานวันที่ 3 ตั้งแต่เวลา 09.30 น. มีประชาชน ผู้สูงวัยทั้งชายและหญิง ให้ความสนใจเดินทางมาร่วมงานคับคั่ง โดยยอดผู้เข้าร่วมยังคงเพิ่มขึ้นทุกวัน วันแรก 5,000 ราย วันที่ 2 มีผู้เข้าร่วมกว่า 6,000 ราย
ต่อมาเวลา 10.00 น. มีผู้สูงวัยแห่มาต่อคิวแถวยาวเหยียดถึง 4 จุด เพื่อเข้ารับบริการตรวจรักษา โดยมีเจ้าหน้าที่คอยดูแลและจัดกลุ่มการตรวจรักษา ทั้ง 7 รายการ พร้อมแนะนำอย่างใกล้ชิดทุกขั้นตอน เพื่อให้เกิดความสะดวกแก่ผู้เข้าร่วมงานทุกคน
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ภายในงานโซนที่ยังคงได้รับความสนใจอย่างต่อเนื่องทุกวัน คือ “เมืองสุขภาพ” ที่ตั้งอยู่ด้านขวามือของฮอลล์ อัดแน่นด้วยบริการตรวจสุขภาพหลายรายการ จากแพทย์ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะทางหลากหลายด้าน ดังนี้
รพ.กรุงเทพคริสเตียน การบำบัดด้วยเครื่องนวัตกรรมลดปวดกระดูกกล้ามเนื้อด้วยเครื่องเลเซอร์ เปิดรับวันละ 20 ราย, ศูนย์การแพทย์กาญจนาภิเษก ม.มหิดล ตรวจหาอัลไซเมอร์โดยผู้เชี่ยวชาญ วันละ 20 ราย, รพ.แพทย์รังสิต ตรวจคลื่นหัวใจด้วยเสี่ยงความถี่สูง (ECHO) วันละ 20 ราย, รพ.จุฬาภรณ์ โปรแกรมเฉพาะวันนี้ ตรวจข้อเข่า 50 ราย ตรวจหาไวรัสตับอักเสบบีและซี 300 ราย, รพ.หัวเฉียว อัลตราซาวน์ลดปวด 50 ราย
“คณะการแพทย์แผนจีน ม.หัวเฉียวเฉลิมพระเกียรติ รักษาด้วยศาสตร์แผนจีน ฝังเข็ม ครอบแก้ว วันละ 50 ราย, รพ.ธนบุรี บำรุงเมืองในเครือ THG ตรวจวิเคราะห์โครงสร้างร่างกาย วันละ 30 ราย INDIBA คลื่นความถี่สูงลดอักเสบ วันละ 20 ราย, สำนักการแพทย์ กทม. ตรวจคลื่นหัวใจด้วย EKG วันละ 30 ราย, คณะทันตกรรม จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ถอนฟัน วันละ 50 ราย เคลือบฟันฟลูออไรด์ วันละ 50 ราย ตรวจสุขภาพช่องปาก วันละ 50 ราย และ รพ.จักษุบ้านแพ้ว ตรวจคัดกรองโรคดวงตา ต้อกระจก วัดความดันลูกตา วัดค่าสายตา วันละ 50 ราย และรายการที่ฮอตสุด คือ ผ่าตัดต้อกระจกฟรี 50 ราย”
ผู้สื่อข่าวรายงานอีกว่า “เอกซเรย์ปอดคัดกรองมะเร็งปอด” โดย รพ.บ้านแพ้ว เปิดให้บริการวันละ 150 ราย แบ่งเป็นรอบเช้า 60 ราย และบ่าย 90 ราย โดยการจัดงาน 2 วันที่ผ่านมาพบว่ามีผู้สนใจเข้ารับการคัดกรองเกินเป้าหมาย ผลการเอกซเรย์เบื้องต้นเป็นเพียงการคัดกรอง พบว่ามีผู้ที่มีปัญหาปอดเฉลี่ยวันละ 40 ราย ซึ่งจะมีแพทย์ให้คำแนะนำไปเข้ารับบริการตรวจที่สถานพยาบาลอย่างถูกต้อง “ฉีดวัคซีนไข้หวัดใหญ่ใน 7 กลุ่มเสี่ยง” โดยคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล สนับสนุนโดยสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) จำกัดวันละ 125 ราย
เวลา 11.00 น. ผช.ศ.นพ.พิชยา ธานินทร์ธราธาร แพทย์ผู้เชี่ยวชาญสาขาออร์โธปิดิกส์ เฉพาะทางด้านโรคมะเร็งกระดูกและเนื้อเยื่ออ่อน หัวหน้างานศัลยกรรมกระดูกและข้อ โรงพยาบาล (รพ.) จุฬาภรณ์ กล่าวในเวทีทอล์กหัวข้อ “กระดูกพรุน ภัยเงียบที่มองไม่เห็น” กล่าวว่า โรคกระดูกพรุนสามารถเกิดขึ้นได้กับทุกคนไม่ว่าจะเพศใดวัยใด แต่มักจะพบมากในเพศหญิง เนื่องจากสัมพันธ์กับฮอร์โมนที่ลดลง
โดยเฉพาะช่วงวัยทอง ที่ระยะ 5 ปีแรกหลังหมดประจำเดือนมวลกระดูกจะลดลงเร็วมาก จึงมีคำแนะนำให้รับประทานแคลเซียมคู่กับวิตามินดีเสริมเพื่อป้องกันและคัดกรองภาวะกระดูกพรุนด้วยเครื่องตรวจมวลกระดูกซึ่งจะเป็นการวินิจฉัยมาตรฐาน เน้นตรวจกระดูกข้อสะโพก และกระดูกสันหลัง
ทั้งนี้ ภาวะมวลกระดูกแบ่งเป็น 3 กลุ่ม คือ กลุ่มปกติเกณฑ์สีเขียว ค่ามวลกระดูกจะยังไม่ต่ำมาก แต่คนวัยกลางคนถึงสูงอายุเข้ามาจะพบแพทย์ ก็ตอนที่อยู่ในเกณฑ์สีเหลืองคือ มวลกระดูกเริ่มบาง ซึ่งเราก็จะแนะนำให้รับประทานแคลเซียมวันละ 800-1,000 มิลลิกรัม คู่วิตามินดีเสริม หรือวิตามินรวม ไปจนถึงตรวจสุขภาพกับแพทย์ที่จะมีการตรวจดูระดับแคลเซียม ระดับวิตามินดี ค่าไตของร่างกายเพื่อดูว่าจริงๆ แล้วเราขาดมากหรือน้อยแค่ไหน เพื่อให้เลือกวิตามินดีรับประทานได้อย่างเหมาะสม ส่วนกลุ่มสีแดงคือภาวะกระดูกพรุนจริง มีความจำเป็นในการรักษาเพิ่มเติม เช่นให้ยาลดการสลายของมวลกระดูก
ผช.ศ.นพ.พิชยากล่าวว่า สำหรับผู้สูงอายุก็ไม่ใช่ทุกรายที่จะพบโรคกระดูกพรุน แต่หากพบความสัมพันธ์ของผู้ที่มีประวัติในครอบครัวเป็นโรคกระดูกพรุน คนในครอบครัวก็อาจจะมีสิทธิที่จะเป็นโรคกระดูกพรุนได้เช่นกัน
“เราควรป้องกันไม่ให้เกิดภาวะเหล่านี้ ไม่ใช่มาถึงหมอตอนที่กระดูกหักไปแล้ว เราจึงต้องเน้นโฟกัสว่าทำยังไงไม่ให้เกิดกระดูกพรุน ซึ่งมีข้อแนะนำในการเช็กอัพมวลกระดูก โดยเฉพาะผู้หญิงวัยทองอายุ 65 ปีขึ้นไป และผู้ชายอายุ 70 ปีขึ้นไป” ผช.ศ.นพ.พิชยากล่าว และว่า สำหรับการรับประทานแคลเซียมเสริมกระดูก สามารถรับประทานได้เรื่อยๆ ได้ในคนทุกวัย ต้องดูเรื่องปัญหาท้องผูกด้วย เพราะว่าแคลเซียมอาจจะก่อให้เกิดปัญหาท้องผูกได้ง่าย เราจึงแนะนำให้กินน้ำเยอะขึ้น
ผช.ศ.นพ.พิชยา กล่าวว่า สิ่งที่เรากลัวในผู้สูงอายุคือ 1.ภาวะกระดูกหลังยุบ ซึ่งผู้ป่วยจะหลังค่อม ตัวยื่นมาด้านหน้า สาเหตุหนึ่งเกิดจากภาวะของกระดูกที่พรุน ทำให้ส่วนสูงลดลง 2.ปัญหากระดูกข้อสะโพกหัก ซึ่งจะทำให้ผู้ป่วยเดินไม่ได้ บางคนต้องเป็นภาวะติดเตียง ข้อสำคัญของการรักษา ข้อกระดูกหลังยุบ คือป้องกันไม่ให้ข้อต่อไปยุบ และไม่เกิดภาวะกระดูกพรุนและหัก
ผช.ศ.นพ.พิชยากล่าวต่อว่า ปัจจุบันคนยังเข้าใจผิด การปวดข้อกระดูก ข้อเสื่อม ปวดหลัง กับภาวะกระดูกพรุนคนละเรื่องกัน ฉะนั้น การกินแคลเซียมเพื่อหวังให้ไปรักษาการปวดข้อเสื่อม ตรงนี้ไม่สามารถช่วยได้ ทั้งนี้ เราต้องไปดูว่าภาวะข้อเสื่อมส่งผลต่ออะไรต่อร่างกาย เช่น ปวดหลัง ปวดเข่า หรือมีการเคลื่อนไปทับกระดูกสันหลัง อย่างไรก็ตาม ที่เราเห็นคนใส่สายรัดเอวเป็นบล็อกหลัง นั่นเป็นการช่วยภายนอก แต่เป็นการช่วยชั่วคราว แต่หากอยู่ในจุดที่เสื่อมมากๆ ก็อาจจะไม่ช่วยอะไร
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สำนักพิมพ์มติชน ได้ตั้งบูธ Healthy Book Fair บริเวณโถงเข้า สามย่าน มิตรทาวน์ฮอลล์ จำหน่ายหนังสือในเครือมติชน และเพื่อนสำนักพิมพ์ ในราคาพิเศษ โดยหนังสือขายดีและหนังสือหมวดสุขภาพ ลดถึง 20 เปอร์เซ็นต์ และลดทั้งบูธสูงสุด 25 เปอร์เซ็นต์ ซึ่งตั้งแต่ช่วงชาวมีผู้แวะเวียนมาเลือกซื้อไม่ขาดสาย ร่วมสร้างสังคมผู้สูงวัยให้แข็งแรงและมีความสุขไปด้วยกัน ใน ‘Healthcare 2022 จักรวาลผู้สูงวัย’ โดยเครือมติชน จนถึงวันพรุ่งนี้ (3 กรกฎาคม) เข้างานได้ตั้งแต่เวลา 10.30 – 20.00 น. ที่สามย่านมิตรทาวน์ฮอลล์ ชั้น 5 ศูนย์การค้าสามย่านมิตรทาวน์