"Harden Stepback" : รองเท้าจากท่าไม้ตายสุดระห่ำของ "เจมส์ ฮาร์เดน"

Home » "Harden Stepback" : รองเท้าจากท่าไม้ตายสุดระห่ำของ "เจมส์ ฮาร์เดน"
"Harden Stepback" : รองเท้าจากท่าไม้ตายสุดระห่ำของ "เจมส์ ฮาร์เดน"

หากกล่าวถึงนักบาสสักคนที่ไม่ได้มีเพียงฝีมือโดดเด่น แต่ยังมีท่าไม้ตายอันเป็นเอกลักษณ์ เขาคนนั้นคือ เจมส์ ฮาร์เดน ซูเปอร์สตาร์จากบรูคลิน เน็ตส์ ที่มีการเคลื่อนไหวแบบ “Stepback” เอาไว้ชู้ตสามแต้มเป็นประจำ

นับตั้งแต่ท่า Stepback กลายเป็นเครื่องหมายประจำตัวของฮาร์เดน การก้าวถอยหลังนี้กลายเป็นเครื่องมือหากินของเขา ทั้งในและนอกสนาม นั่นหมายถึงการถือกำเนิดของรองเท้าซิกเนเจอร์ด้วย

Main Stand นำเสนอเรื่องราวของ adidas Harden Stepback รองเท้าซิกเนเจอร์ของฮาร์เดน ที่พัฒนาจากท่าชู้ตสามแต้มทรงประสิทธิภาพ แต่ไปๆมาๆ.. ดันถูกผลิตเป็นรองเท้าเกรดรองที่ดีไซน์ไม่ก้าวหน้า แถมคุณภาพตกเสียอย่างนั้น

ย้อนประวัติท่า Stepback 

นักบาสระดับซูเปอร์สตาร์ส่วนใหญ่ใน NBA มักจะมีท่าประจำตัวเพื่อช่วยเปิดพื้นที่ว่างจากคู่แข่ง และสามารถทำแต้มได้ง่ายขึ้น ไม่ว่าจะเป็น ท่า Drop Step ของ จอร์จ ไมคาน, ท่า Sky Hook ของ คารีม อับดุล-จาบาร์, ท่า Fadeaway ของ วิลท์ แชมเบอร์เลน, ไมเคิล จอร์แดน, โคบี ไบรอันท์ และ เดิร์ก โนวิตซ์กี รวมถึงท่า Dream Shake ของ ฮาคีม โอลาจูวอน

สำหรับ เจมส์ ฮาร์เดน ท่าไม้ตายประจำตัวของเขา คือ Stepback แปลตรงตัวว่า “ก้าวถอยหลัง” อ่านแค่นี้คงพอรู้แล้วว่า วิธีทำคะแนนอันเป็นเอกลักษณ์ของฮาร์เดน ไม่มีอะไรมากกว่า การก้าวถอยหลังออกห่างคู่ต่อสู้ แทนจะก้าวไปข้างหน้า แล้วจัดการชู้ตสามแต้มลงไปอย่างง่ายดาย

เทคนิคที่ไม่ซับซ้อนอย่าง Stepback ทำไมถึงเพิ่งโด่งดังกับนักบาสที่สร้างชื่อในทศวรรษ 2010s? ความจริงแล้ว ท่า Stepback มีต้นกำเนิดตั้งแต่ช่วงปี 1960s จากการเคลื่อนไหวที่เรียกว่า “Zero Step”

“Zero Step คือ การเคลื่อนไหวแบบหนึ่ง-สองในทิศทางไหนก็ได้ที่คุณอยากจะไป เหมือนกับที่ เกล เซเยอร์ส (นักอเมริกันฟุตบอล) โยกซ้ายขวา แต่ไม่มีการพาลูกบอลไปไหน” รอนนี นันน์ อดีตกรรมการ NBA ช่วงปี 2003-2008 กล่าว

“วอลต์ เฟรเซอร์ (นักบาสชื่อดังยุค 70s) ก็เคยใช้ท่า Stepback ซึ่งช่วยให้เขาถอยหลังไปทางซ้ายหรือขวา เขาทำมันไม่บ่อยนัก แต่เขาก็เคยทำ”

2

Stepback ไม่ใช่ของใหม่ในโลกบาสเกตบอล เควิน ดูแรนท์ ผู้เล่นชื่อดังจากทีม บรูคลิน เน็ตส์ กล่าวว่า เขาเคยเห็นนักบาสอย่าง โคบี ไบรอันท์ หรือ เทรซี แม็คเกรดี ใช้ท่าก้าวถอยหลังอยู่บ่อยครั้ง ดูแรนท์ยังเชื่ออีกว่า นักบาสในศตวรรษที่ 21 ไม่มีใครสร้างอะไรเป็นของตัวเอง มีเพียงการปรับแต่งของเก่าเท่านั้น

คำพูดของดูแรนท์มีความถูกต้องไม่มากก็น้อย เพราะถึงฮาร์เดนจะไม่ได้เป็นผู้คิดค้นท่า Stepback แต่ทันทีที่เขาเลือกใช้การเคลื่อนไหวนี้เป็นเทคนิคในการชู้ตสามแต้ม ท่า Stepback จึงพัฒนาไปอีกขั้น

ฤดูกาล 2012-13 ถือเป็นซีซั่นแรกที่ฮาร์เดนเล่นให้กับ ฮิวสตัน รอกเก็ตส์ และเป็นซีซั่นแรกที่เขาเริ่มใช้ท่า Stepback อย่างจริงจัง ก่อนจะพัฒนาการเคลื่อนไหวนี้อย่างช้าๆ ในปี 2016 ฮาร์เดนใช้ท่า Stepback ทั้งหมด 60 ครั้ง ก่อนที่ปี 2017 เขาจะเพิ่มมันเป็น 175 ครั้ง

3

“ผมคิดว่าท่า Stepback พัฒนาขึ้น เพราะ เจมส์ และคริส พอล (เพื่อนร่วมทีมของฮาร์เดน) เล่นบาสด้วยกันมากเกินไป” เอิร์ฟ โรแลนด์ อดีตผู้ช่วยโค้ชของ ฮิวสตัน รอกเก็ตส์ กล่าวถึงความสามารถที่พัฒนาขึ้น หลัง คริส พอล ย้ายมาร่วมทีมในปี 2017

“พวกเขาคือสองผู้เล่นที่แยกตัวประกบได้ดีที่สุดในลีก พวกเขาฝึกฝนด้วยกันตลอดช่วงพรีซีซั่น หลายปีผ่านไป พวกเขาจึงทำให้ท่า Stepback ออกพาเพอร์เฟ็คต์ที่สุด”

ฮาร์เดนก้าวถึงจุดสูงสุดของอาชีพนักบาสเกตบอลในฤดูกาล 2017-18 ด้วยการคว้าตำแหน่ง MVP จากผลงานทำแต้มเฉลี่ย 30.4 แต้มต่อเกม และเราคงไม่ต้องบอกว่า ท่า Stepback มีอิทธิพลกับความสำเร็จนี้มากแค่ไหน เพราะในปี 2019 ฮาร์เดนทำลายสถิติผู้เล่นที่สามารถทำสามแต้มด้วยตัวเองมากที่สุดใน NBA (Unassisted 3-pointers) ด้วยวัยเพียง 29 ปี

ท่วงท่าในสนาม สู่รองเท้าเกรดรอง

นักบาสระดับซูเปอร์สตาร์แบบฮาร์เดน ไม่ใช่เรื่องแปลกที่เขาจะมีรองเท้าซิกเนเจอร์เป็นของตัวเอง

ฮาร์เดนเซ็นสัญญากับ adidas แบรนด์ดังสัญชาติเยอรมัน และปล่อยสนีกเกอร์ซีรีส์ adidas Harden วางขายต่อเนื่องมาตั้งแต่ปี 2017 โดยในช่วงปลายปี 2020 adidas Harden ได้ก้าวมาสู่รุ่นที่ 5 วางขายในสหรัฐอเมริกา ด้วยราคา 130 ดอลลาร์สหรัฐ และที่ไทยก็มีขายเช่นกัน ราคา 5,200 บาท

การออกรองเท้ารุ่นใหม่ทุกปี ถือเป็นความสำเร็จที่น่าพอใจสำหรับผู้เล่นแถวหน้าของ NBA แต่สำหรับฮาร์เดนที่ควบตำแหน่งอดีตผู้เล่น MVP และซูเปอร์สตาร์ที่มีคาแรกเตอร์โดดเด่นในสนาม ดูเหมือนว่าการวางขายรองเท้าซิกเนเจอร์หนึ่งรุ่นต่อปี จะไม่เพียงพอสำหรับฮาร์เดน

4

adidas จึงทำช็อกแฟนบาสเกตบอลทั่วโลกด้วยการเปิดตัว adidas Harden Stepback รองเท้าซิกเนเจอร์รุ่นใหม่ที่ผลิตขึ้นมา เพื่อตอบโจทย์การใช้งานของทุกคนที่อยากเลียนแบบท่า Stepback ของฮาร์เดน และก้าวสู่ความเป็นสุดยอดในสนาม

คอนเซปต์ของรองเท้าฟังดูดี จนหลายคนอาจคิดว่า รองเท้ารุ่นใหม่ต้องดีกว่าซีรีส์เก่าแน่ๆ.. ความจริงนั้นตรงกันข้าม adidas Harden Stepback ที่วางขายในปี 2020 มีราคาเพียง 80 ดอลลาร์สหรัฐ ส่วนในไทย ราคาอยู่ที่ 3,200 บาท กล่าวคือ เป็นรองเท้าซีรีส์ adidas Harden เกรดรอง ซึ่งถูกผลิตขึ้นมาเพื่อวางขายให้แก่แฟนบาสที่งบในกระเป๋ามีจำกัด

adidas Harden Stepback รุ่นแรกจึงมีการออกแบบที่แฟนฮาร์เดนทั่วโลกไม่พึงปรารถนา นั่นคือการนำ adidas Harden Vol. 3 และ adidas Harden Vol. 4 มาผสมกันจนเป็นรองเท้ารุ่นใหม่ แต่ดีไซน์เดิม

ยิ่งไปกว่านั้น adidas Harden Stepback ยังมีคุณภาพต่ำกว่ารองเท้าจากซีรีส์ adidas Harden ปกติอย่างเห็นได้ชัด ซึ่งก็ไม่ใช่เรื่องแปลกอะไร เพราะ adidas Harden Stepback มีราคาถูกกว่า

5

เว็บไซต์ WearTesters รีวิวรองเท้ารุ่นนี้ว่า Harden Stepback มีน้ำหนักมากกว่า Harden ทั่วไป เนื่องจากไม่ได้ใช้เส้นใยสังเคราะห์น้ำหนักเบาบริเวณ Toebox (ช่วงหัวรองเท้า) และ Eyelet Panels (บริเวณรูร้อยเชือกรองเท้า) แต่ทั้งนี้ทั้งนั้น บทความดังกล่าวชี้ว่า adidas Harden Stepback ค่อนข้างคุ้มค่ากับใครก็ตามที่ตามหารองเท้าบาสเกตบอล ราคาต่ำกว่า 100 ดอลลาร์สหรัฐ เพียงแค่ความสะดวกสบายอาจไม่มากดั่งคาดหวัง

เมื่อคุณภาพเป็นรอง adidas จึงโปรโมตรองเท้ารุ่นนี้ให้ดูน่าสนใจด้วยคำว่า “#GoWitYoMov” หรือ “ก้าวไปด้วยท่วงท่าของคุณ” เพื่อกระตุ้นให้ผู้ซื้อรู้สึกเหมือนตัวเองเป็นฮาร์เดน ทันทีที่สวมใส่ adidas Harden Stepback

ไม่ว่าแฟนบาสเกตบอลจะชอบคอนเซปต์ของรองเท้านี้หรือไม่? adidas Harden Stepback ก็สอบผ่าน และสามารถออกรุ่นที่ 2 วางขาย เมื่อปลายปี 2020 ที่ผ่านมา พร้อมๆกับ adidas Harden Vol. 5

6

adidas Harden Stepback 2 ยังวางขายด้วยราคา 80 ดอลลาร์สหรัฐ เช่นเดียวกับในประเทศไทย ที่ยึดราคา 3,200 บาทเช่นเดิม แต่ได้รับคำชมว่าผลิตออกมาดูดีขึ้นมากหากเทียบกับรุ่นแรก เนื่องจากมีการนำเทคโนโลยี Bounce มาผลิตเป็น Midsole (พื้นส่วนกลางของรองเท้า) แสดงให้เห็นชัดเจนว่า adidas จริงจังกับรองเท้าซีรีส์นี้ และหวังปลุกปั้นให้ติดตลาดแบบยาวๆในอนาคต

adidas Harden Stepback คืออีกหนึ่งเครื่องยืนยันที่บอกกับเราว่า ความสำเร็จในสนามของนักกีฬาสามารถต่อยอดทางธุรกิจได้เสมอ แม้รองเท้ารุ่น Stepback จะห่างไกลจากความยอดเยี่ยมของท่า Stepback ในสนาม แต่ดูเหมือนว่าจะไม่มีใครสน..

เพราะท้ายที่สุด แฟนบาสเกตบอลทั่วโลกต่างมีโอกาสใส่รองเท้าจากนักกีฬาที่สร้างแรงบันดาลใจ ส่วนไอดอลของพวกเขาก็เพิ่มเงินในกระเป๋าจากรองเท้ารุ่นใหม่ เรียกว่า วิน-วิน กันไป ไม่มีใครเสียอะไรจากการถือกำเนิดของรองเท้ารุ่นนี้

แท็กที่เกี่ยวข้อง

เรื่องอื่นที่น่าสนใจ