FootNote:โลกออนไลน์ อุณหภูมิ สังคม “คำถาม” ที่รอคอย “คำตอบ”
ยิ่งสำรวจแต่ละ # ซึ่งติดอันดับ 1 ใน 10 อันดับทวิตเตอร์ เทรนด์ ยิ่งสัมผัสได้ในความรุ่มร้อนอย่างยิ่งยวดของสถานการณ์การเมืองไทย ก่อนได้รัฐบาล นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์
ทั้งเมื่อแหย่ลึกลงไปภายในแต่ละ “รายละเอียด” ของความรู้สึกก็เด่นชัดถึงแนวโน้มและทิศทาง
ไม่ว่าจะมองผ่าน #ภูมิใจไทย ไม่ว่าจะมองผ่าน #จัดตั้งรัฐบาล ไม่ว่าจะมองผ่าน #รัฐบาลก้าวไกล ไม่ว่าจะมองผ่าน #อุ๊ หฤทัย ไม่ว่าจะมองผ่าน #ปิดสวิตช์ส.ว.ไม่ว่าจะมองผ่าน #นายกคนที่ 30
มีความแจ่มแจ้งในการตั้งคำถามต่อแถลงการณ์อันมาจากพรรคภูมิใจไทย มีความแจ่มแจ้งในความชื่นชมยินดีต่อการตัดสินใจของ อุ๊ หฤทัย ที่พร้อมยอมรับต่อรัฐบาล นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์
ยิ่งการขับเคลื่อนในการจัดตั้งรัฐบาลโดย นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ มีความแข็งแกร่งแน่วแน่มากเพียงใด คำถามต่อการตัดสินใจ ของ 250 ส.ว. ยิ่งมากด้วยความแหลมคม ร้อนแรง
บรรยากาศแทบไม่แตกต่างไปจากที่เคยเกิดขึ้นก่อนร่างรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2540 ได้รับการพิจารณาในรัฐสภา
จะเลือก “เผด็จการ” หรือจะเลือก “ประชาธิปไตย”
ในที่สุดแล้ว สังคมประเทศไทยได้เข้าสู่ “จุดตัด” อย่างสำคัญอีกครั้งหนึ่ง นับแต่รัฐประหารเมื่อเดือนกันยายน 2549 นับแต่รัฐประหารเมื่อเดือนพฤษภาคม 2557
ปฏิเสธไม่ได้เลยว่า ทุกจังหวะก้าวของการเคลื่อนไหวล้วนเป็นคำถามและความสืบเนื่องจาก “รัฐประหาร”
ในการรุกของพรรคก้าวไกล พรรคเพื่อไทยและพันธมิตร ปรากฏการตั้งรับของพรรครวมไทยสร้างชาติ พรรคพลังประชารัฐ และพันธมิตรอย่างเด่นชัด
กระแสแห่งการรุก กระแสแห่งการรับไม่เพียงแต่พุ่งเข้าใส่การ ตัดสินใจของ 250 ส.ว.อันเป็นผลิตผลจากรัฐประหาร หากแต่ยังตั้งคำถามไปยังพรรคการเมืองบางส่วนอันมาจากการเลือกตั้ง
ถามไปยังพรรคภูมิใจไทย ถามไปยังพรรคประชาธิปัตย์ ถามไปยังพรรคชาติไทยพัฒนา ว่าจะเลือกเส้นทางใด
หากประเมินจากท่าทีอันมาจากภายในของ 250 ส.ว. หากประเมินจากท่าทีอันมาจากภายในของพรรคภูมิใจไทย พรรคประชาธิปัตย์ พรรคชาติไทยพัฒนา
เด่นชัดอย่างยิ่งว่าสามารถ “รับได้” แต่อย่างมี “เงื่อนไข”
คำถามจึงย้อนกลับไปยังพรรคก้าวไกล พรรคเพื่อไทย และพันธมิตรว่ามีความเห็นอย่างไรกับ “เงื่อนไข”
นี่ย่อมเป็นบรรยากาศแห่งการอธิบายอย่างแหลมคมสำคัญ