FootNote:เส้นแบ่งสถานะ ของประยุทธ์ 24 สิงหาคม ที่ไม่เหมือนเดิม
ตลอด 2 สัปดาห์ภายหลังการมีคำสั่ง “พัก” การปฏิบัติหน้าที่ในตำแหน่งนายกรัฐมนตรีของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา มีความพยายามอย่างเต็มกำลังจาก พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ
ทาง 1 แสดงความรับผิดชอบในฐานะรักษาการ “นายกรัฐมนตรี” แม้จะเป็นการ “ชั่วคราว” แต่ก็ด้วยความเต็มเปี่ยม
ขณะเดียวกันทาง 1 สามารถยืนยันได้อย่างเป็นรูปธรรมภายในชั่วระยะเวลาอันสั้นว่า พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ ทำได้เป็นอย่างดี งานบริหารราชการเดินหน้าไปด้วยความราบรื่น
ผลสะท้อนในลักษณะข้างเคียงที่ไม่ว่า พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ จะตั้งใจหรือไม่ก็ตาม แต่ในความเข้าใจและในความรู้สึกของชาวบ้านเห็นว่า อาจทำได้ดีกว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา
ในอีกด้านจึงนำไปสู่การทำลาย “มายาคติ” ที่ว่าตำแหน่งนายกรัฐมนตรีเหมาะสมและควรจะเป็นของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เท่านั้นค่อยๆหมดไปในความเชื่อ
บทสรุปเช่นนี้ก่อรูปขึ้นอย่างเงียบๆ แต่ทรงพลานุภาพอย่างสูงในทางการเมือง ปลุกจิตใจของนักการเมืองหลายคนให้เกิดความกล้าและมีความเชื่อมั่น
กลายเป็นคุณูปการอันมาจากฝีมือและความสามารถของ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ ขึ้นมาอย่างโดดเด่น
ความคึกคักซึ่งบังเกิดภายในเวลาเพียง 2 สัปดาห์เมื่อ พล.อ.ประ ยุทธ์ จันทร์โอชา ไม่อยู่ในฐานะนายกรัฐมนตรี จะสามารถเป็นอีกหนทางเลือกของสังคมไทยหรือไม่
หากจับจากการแสดงออกของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา และคนที่แวดล้อมกลับเป็นไปในทางตรงกันข้าม
นั่นก็คือ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ยังมีความมั่นใจเป็นอย่างสูงว่า มีแต่ตนเองเท่านั้นที่เหมาะสมและสมควรอยู่ในตำแหน่งนายกรัฐมนตรี
แม้การดำรงอยู่ในตำแหน่งนี้ตั้งแต่หลังรัฐประหารเมื่อเดือนพฤษภาคม 2557 จะครบ 8 ปีมาแล้ว แต่ก็ยังพยายามใช้อภินิหารของกฎหมายเพื่อ “ไปต่อ” ด้วยความมุ่งมั่น
ที่สำคัญ “ระบอบ” อันเป็นพื้นฐานก็ยังเห็นคล้อยไปตามด้วย
การดำรงอยู่ของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นับแต่วันที่ 24 สิงหาคม เป็นต้นมา จึงเป็นการดำรงอยู่บนปัจจัยอันละเอียดอ่อน เป็นอย่างสูงแห่งความขัดแย้ง
แตกต่างจากสถานการณ์เมื่อเดือนพฤษภาคม 2557
แตกต่างจากสถานการณ์เมื่อผ่านการเลือกตั้งในเดือนมีนาคม 2562 และท้าทายต่อความรู้สึกของประชาชนอย่างยิ่ง
เป็นไปได้ว่าการ “ไปต่อ” อาจมากด้วยปัญหา ความขัดแย้ง