FootNote:เปิดความลี้ลับ ของ “กลาโหม” พลังกรรมาธิการงบประมาณ
การปรากฏขึ้นของข้อมูลว่าด้วย “รถควบคุมสั่งการ” พร้อมกับตัวเลขว่าด้วย “เงินพิเศษ” ว่าด้วยการอุดหนุนการใช้รถภายในงบประมาณของกระทรวงกลาโหม ถือว่าเป็นนวัตกรรม
มิได้เป็นเพียงตวัตกรรมอันดำรงอยู่ภายในกระทรวงกลาโหม หากแต่ยังเป็นนวัตกรรมอันมาแต่ “กรรมาธิการ” อย่างมีนัยสำคัญ
หากเปรียบเทียบกับบทบาทของ “คณะกรรมาธิการ” พิจารณาร่างพรบ.งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ ในกาลอดีตต้องถือว่าเป็นบทบาทในลักษณะ “ก้าวกระโดด”
เหมือนที่กรรมาธิการคนหนึ่งนำเอารายละเอียด “โครงการจัดหาระบบเทคโนโลยีสารสนเทศทดแทนระบบเดิม” ของกองบริหารงานสารสนเทศ สำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรี ออกมาเปิด
เหมือนที่ผบ.เหล่าทัพคนสำคัญท่านหนึ่ง เมื่อไปทำหน้าที่ในการชี้แจงและแถลงรายละเอียดตามข้อซักถามของกรรมาธิการ กลับทำหน้าที่เหมือนกับ “ดีเจ นักขี่จาน” ในการเปิดเพลง
เมื่อรายละเอียดของงบประมาณรายจ่ายกระทรวงกลาโหม มีการพิจารณาในระยะกาลเดียวกันกับการขอเปิดอภิปรายทั่วไป เพื่อลงมติไม่ไว้วางใจในที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎร
สายตาที่ทอดมองไปยัง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม จึงมากด้วยความคาดหมายเป็นอย่างสูง
การเมืองไทยในห้วงหลังรัฐประหารเมื่อเดือนพฤษภาคม 2557 และในห้วงหลังการเลือกตั้งอย่างเป็นการทั่วไป ในเดือนมีนาคม 2562 จึงก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงอย่างชนิดเหนือคาด
ไม่ว่าจะเป็นการพิจารณาร่างพรบ.งบประมาณ ไม่ว่าจะเป็น การดำเนินญัตติขอเปิดอภิปรายทั่วไปเพื่อลงมติไม่ไว้วางใจ
โดยกฎกติกาที่ 250 ส.ว.มีบทบาทในการหนุนช่วยอาจทำให้ได้นายกรัฐมนตรีชื่อ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เมื่อประสานกับการดำรงอยู่ของส.ส.ที่ได้มาจากบทบาทของกกต.
แต่เมื่อมี “ผู้แทนราษฎร” และ “กรรมาธิการงบประมาณ” จากนักการเมืองในพรรคการเมืองยุคใหม่อย่างพรรคอนาคตใหม่ พรรคก้าวไกล พรรคเสรีรวมไทย ก็ก่อให้เกิดสถานการณ์ใหม่
ด้านที่เคย “ปิด” อย่างเร้นลับก็เริ่มถูก “เปิด” ออกมาให้ปรากฏ
กระทรวงกลาโหม ซึ่งเคยเป็นความเร้นลับภายใต้เสื้อคลุมแห่งวาทกรรม “ความมั่นคง” ก็เริ่มถูกตั้งคำถาม ไม่ว่าจะด้วยปริมาณของนายพล ไม่ว่าจะด้วยกระบวนการจัดทำงบประมาณ
ผบ.เหล่าทัพที่เคยนั่งมองจาก “กองทัพ” ก็ต้องออกมา “แถลง”
แม้กระทั่งจำนวนงบประมาณที่ใช้ไปในโครงการของการเกณฑ์ทหาร ก็เริ่มมีความจำเป็นต้องให้รายละเอียด
“ผู้แทนราษฎร” เริ่มตระหนักใน “ภาษี” ที่รีดจาก “ประชาชน”