FootNote:สถานะของ ธรรมนัส พรหมเผ่า โจทย์ของ ประยุทธ์ จันทร์โอชา
ถึงแม้ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ จะยืนยันอย่างหนักแน่นว่า สถานะของ 21 ส.ส.ที่ถูกขับออกจากพรรคพลังประชารัฐ จะยังสนับสนุนรัฐบาล สนับสนุน พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา
กระนั้น คำถามอันแหลมคมเป็นอย่างยิ่งว่า เมื่อ 21 ส.ส.สนับสนุนรัฐบาลแล้ว จะได้อะไรเป็นเครื่องตอบแทน
เป็นคำถามบนความจริงที่ว่า ‘โลกนี้ไม่มีของฟรี’ ดำรงอยู่
เนื่องจากมูลเชื้ออันเป็นที่มาแห่งการต้องขับ ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า และ ส.ส.อีก 20 คนออกจากพรรคพลังประชารัฐ มาจากความขัดแย้งอันก่อรูปขึ้นเมื่อเดือนกันยายน 2564
นั่นก็คือความพยายามสำแดงพลังทางการเมืองเพื่อนำไปสู่การต่อรองตำแหน่งทางการเมือง ที่อย่างน้อยกลุ่มของ ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า ควรจะได้รับความสนใจมากยิ่งกว่าที่เป็นอยู่
ในฐานะที่ ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า เป็นเลขาธิการพรรคใหญ่
ไม่ว่าจะเมื่อเทียบศักดิ์ศรีกับพรรคภูมิใจไทย ไม่ว่าจะเมื่อเทียบศักดิ์ศรีกับพรรคประชาธิปัตย์ ไม่ว่าจะเมื่อเทียบศักดิ์ศรีกับพรรคชาติไทยพัฒนา
การที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ตัดสินใจใช้อำนาจจากมาตรา 170 ปลด ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า นางนฤมล ภิญโญสินวัฒน์ ออกจากตำแหน่งในคณะรัฐมนตรีอาจเพื่อเป็นการเตือน
แต่สถานการณ์อันเป็นความต่อเนื่องจากเดือนกันยายน 2564 มายังเดืนมกราคม 2565 ก็เด่นชัดยิ่งว่าไม่เป็นผล
เพราะในความเป็นจริงปฏิบัติการขับ ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่าและ 20 ส.ส.ออกจากพรรคพลังประชารัฐ ก็เพื่อให้สามารถไปอยู่กับ พรรคการเมืองอื่นและกลายเป็นพลังเปรียบเทียบอันแหลมคม
ในเมื่อพรรคชาติไทยพัฒนามี 12 ส.ส.ได้ 2 ตำแหน่งรัฐมนตรี หากมี 21 ส.ส.อยู่ในมือก็สมควรตอบแทนให้มากยิ่งกว่านั้น
ตรงนี้ต่างหากเป็นโจทย์การเมืองจาก ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า
เมื่อสภาพความเป็นจริงภายหลังมติขับ ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่าและ 20 ส.ส.จากพรรคพลังประชารัฐ ดำรงอยู่เช่นนี้จึงเท่ากับเป็นโจทย์อันแหลมคมยิ่งในทางการเมือง
เป็นโจทย์ที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ต้องขบคิด พิจารณา
ไม่ว่าจะชอบ ไม่ว่าจะไม่ชอบในฐานะนายกรัฐมนตรี ในฐานะหัวหน้ารัฐบาลจึงยากเป็นอย่างยิ่งที่จะปัดปฏิเสธ
หากต้องการอยู่ในตำแหน่ง ‘นายกรัฐมนตรี’ จนครบวาระ