FootNote:มุมเด่น กปปส. เข้าทำเนียบรัฐบาล ฉายภาพ สมคบคิด รัฐประหาร 57
การเดินทางเข้าทำเนียบรัฐบาลของ นายณัฏฐพล ทีปสุวรรณ พร้อมกับ นายสกลธี ภัททิยกุล มากด้วยความแหลมคมเป็นอย่างสูงใน ทางการเมือง
เป็นความแหลมคมและบ่งบอกถึงกระบวนการเลือกตั้งเพื่อชิงตำแหน่ง ‘ผู้ว่าฯกทม.’ โดยตรง
สะท้อนให้เห็นว่า ‘แคนดิเดต’ นี้ยังไม่อยู่ในจุด ‘ลงตัว’
แม้จะมีชื่อของ พล.ต.อ.อัศวิน ขวัญเมือง แม้จะมีชื่อของ นางนวลพรรณ ล่ำซำ เนื่องจากคำปฏิเสธของ นายณรงค์ศักดิ์ โอสถธนากร ก่อให้เกิดภาวะระส่ำระสาย
ยิ่งเห็นการเปิดตัวของ นายสุชัชวีร์ สุวรรณสวัสดิ์ ประสานเข้ากับการบุกหน้าอย่างแข็งแกร่งของ นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ พร้อมกับ นายพิจิตต รัตตกุล ยิ่งจำเป็นต้องมีการเคลื่อนไหว
จาก นายณัฏฐพล ทีปสุวรรณ นายสกลธี ภัททิยกุล
เด่นชัดยิ่งว่า การเคลื่อนไหวนี้มิได้เพื่อหนุนส่ง พล.ต.อ.อัศวิน ขวัญเมือง หากแต่เป้าอยู่ที่ นายสกลธี ภัททิยกุล เป็นด้านหลัก
นี่ย่อมเป็นภารกิจ ‘กปปส.’ โดย นายณัฏฐพล ทีปสุวรรณ
ต้องยอมรับว่าการแปรเปลี่ยน ‘แคนดิเดต’ ผู้ลงสมัครชิงผู้ว่าฯกทม. จากซีกของรัฐบาล โดยพรรคพลังประชารัฐ หากปล่อยเลยตามเลย จะกลายเป็นบูมเมอแรงย้อนกลับเข้าสู่รัฐบาล
ไม่เพียงเป็นรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา หากแต่ย้อนไปยังรัฐประหารเมื่อเดือนพฤษภาคม 2557
เห็นได้จากการถอยของ พล.ต.อ.จักรทิพย์ ชัยจินดา เห็นได้จากการไม่ยอมเปิดทางให้ พล.ต.อ.อัศวิน ขวัญเมือง เห็นได้จากการถอยของ นายณรงค์ศักดิ์ โอสถธนากร
ทั้งหมดนี้ไม่เป็นผลดีต่อภาพลักษณ์และความนิยมของรัฐบาล ไม่ว่าจะมองผ่าน พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ไม่ว่าจะมองผ่าน พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ ก็มีแต่เสียและเสีย
เหมือนกับการเสนอตัวมาของ นายณัฏฐพล ทีปสุวรรณ และ นายสกลธี ภัททิยกุล จะเป็นการหาหนทางออกให้กับ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ
กระนั้น ก็ต้องยอมรับในภาพแห่ง ‘กปปส.’ อย่างเด่นชัด
มองผ่าน นายณัฏฐพล ทีปสุวรรณ นายสกลธี ภัททิยกุล ไปยัง นายสุเทพ เทือกสุบรรณ และการสมคบคิดทางการเมือง
ปูทาง สร้างเงื่อนไขให้กับ รัฐประหารพฤษภาคม 2557