FootNote:ประชาธิปัตย์บนเส้นทาง ‘เลือก’ กรณีจะนะ กับ ‘ระบอบประยุทธ์’
จากการเข้าสลายการชุมนุมและจับกุมชาวจะนะ บริเวณหน้าทำเนียบรัฐบาล ได้ก่อให้เกิดปฏิกิริยาอย่างกว้างขวาง ก่อผลสะเทือน อย่างลึกซึ้งในทางการเมือง
ไม่ว่าจะเป็นพรรคก้าวไกล ไม่ว่าจะเป็นพรรคเพื่อไทย ต่างแสดงบทบาทอย่างรวดเร็วและฉับไว
แม้กระทั่งคณะก้าวหน้าก็ไม่ยอมอยู่นิ่งเฉย
เป้าหมายอันดับแรกอยู่ที่รัฐบาล อยู่ที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา อย่างเด่นชัด ไม่ว่าจะในฐานะเป็นผู้ริเริ่มโครงการ ไม่ว่าจะในฐานะมีส่วนในปฏิบัติการสลายการชุมนุมไม่เป็นตามหลักสากล
กระนั้นผลข้างเคียงหนึ่ง ซึ่งจะตกกระทบอย่างหลีกเลี่ยงไม่พ้น นั่นก็คือพรรคประชาธิปัตย์ ซึ่งเป็นเจ้าของพื้นที่ร่วมกับพรรคพลังประชารัฐ พรรคภูมิใจไทย
กล่าวสำหรับพรรคประชาธิปัตย์ก็ที่นายนิพนธ์ บุญญามณี
กรณีของนิคมอุตสาหกรรมจะนะ จึงเป็นอีกตัวอย่างหนึ่ง ที่จะลากดึงพรรคประชาธิปัตย์ให้แนบแน่นอยู่กับรัฐบาล
เป็นความแนบแน่นกับ ‘ระบอบประยุทธ์’ อย่างเด่นชัดยิ่ง
จะทำความเข้าใจต่อโครงการนิคมอุตสาหกรรมจะนะ จะต้องให้ความสนใจไปยังบทบาทของคณะก้าวหน้าประสานเข้ากับบทบาทของพรรคก้าวไกล
อุปกรณ์สำคัญอย่างที่สุดก็คือคำอภิปรายยาวเหยียดของ นายประเสริฐ ศรนุวัตร์ ในห้วงแห่งการอภิปรายทั่วไปเพื่อลงมติไม่ไว้วางใจ
พุ่งตรงไปยังบทบาทของ นายนิพนธ์ บุญญามณี ในห้วงที่ดำรงตำแหน่งเป็นนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดสงขลา และต่อมาอยู่ในตำแหน่งรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย
ยิ่งเมื่อ นายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ มาช่วยเสริมเติมขยาย ยิ่งส่งผลให้พรรคประชาธิปัตย์กลายเป็น ‘ตำบลกระสุนตก’ ทางการเมือง
จากนี้จึงทำให้เห็นอย่างเด่นชัดว่าสถานการณ์ของการสลายการชุมนุม เมื่อประสานเข้ากับโครงการนิคมอุตสาหกรรมจะนะ ก็ยิ่งทำให้ระยะห่างระหว่างพรรคประชาธิปัตย์กับ ‘ระบอบประยุทธ์’ น้อยลง
คำถามอยู่ที่ว่าพรรคประชาธิปัตย์จะเลือกเส้นทางสายใด
จะเลือกความเป็นสถาบันทางการเมือง จะเลือกเส้นทางประชาธิปไตยที่ ‘สุจริต’ อย่างที่เคยเปล่งประกาศอย่างหนักแน่นจริงจัง ก่อนการเลือกตั้งเมื่อเดือนมีนาคม 2562
หรือว่าจะเป็น ‘หางเครื่อง’ ให้กับ ‘ระบอบประยุทธ์’ ต่อไป