FootNote:บทบาท คสช. บทบาท รัฐบาล ต่อปัญหา หนี้แสนล้าน รถไฟฟ้า
เหมือนกับกรณีของรถไฟฟ้าสายสีเขียว จะเป็นความรับผิดชอบโดยตรงของกรุงเทพมหานคร ผ่านบริษัทกรุงเทพธนาคมไปยังบีทีเอสอย่างเป็นด้านหลัก
บังเอิญที่เป็นกรุงเทพมหานครในยุค นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ซึ่งวางอยู่บนฐานกว่า 1.3 ล้านคะแนนเสียง
กระบวนการต่างๆ ซึ่งกำลังคลี่คลายและขยายตัวผ่านความซับซ้อนของโครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียวจึงค่อยๆได้รับการวางแบ อยู่ ณ เบื้องหน้าสังคมด้วยความโปร่งใสยิ่งขึ้นเป็นลำดับ
เริ่มต้นจากการที่กรุงเทพมหานครมอบหมายให้กรุงเทพธนาคมไปทำสัญญากับบริษัทเอกชน ซึ่งแต่เดิมดำรงอยู่อย่างลี้ลับและไม่เคยมีการเปิดเผยมาก่อนก็เริ่มเปิดเผย
และด้วยความพยายามร่วมระหว่างกรุงเทพธนาคมกับกรุงเทพมหานครในยุคของ นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ นั้นเองประชาชนทั้ง ในกรุงเทพมหานครและทั่วประเทศในฐานะเจ้าของเงินจึงได้รับรู้
เป็นความรับรู้ว่าโครงการนี้ในห้วง 8 ปี หลังได้รับการผลักดัน
และขับเคลื่อนผ่านกระบวนการมาตรา 44 จากการลงนามโดย พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา
ภาพใหม่ของโครงการจึงมิได้เป็นความรับผิดชอบของกทม. เท่านั้น หากแต่ยังเป็นของคสช.และยังเป็นของรัฐบาลอีกด้วย
หากการโต้แย้งในแต่ละรายลเอียดได้รับความสนใจมากยิ่งขึ้น ไม่ว่าด้วยเรื่องของสัญญา ไม่ว่าด้วยเรื่องของหนี้สิน คำถามจะรวมศูนย์ไปสู่ประเด็นของการบริหารจัดการ
เป็นการบริหารที่รัฐบาลโดยกระทรวงคมนาคม กระทรวงมหาดไทย ที่จะต้องรับผิดชอบร่วมกับกทม.อย่างเด่นชัด
คำถามจึงมิได้พุ่งเข้าใส่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย และผู้ว่าฯกทม.เท่านั้น หากแต่ยังถามไปยังนายกรัฐมนตรี
เมื่อถามไปยังนายกรัฐมนตรีย่อมเป็นคำถามในเรื่องของการบริหารจัดการ ย่อมเป็นคำถามในเรื่องของการแก้ไขปัญหาและหา ทางทำอย่างไรให้ประชาชนได้รับประโยชน์สูงสุด
นั่นหมายถึงการบริหาร“ขนส่งสาธารณะ”โดย “องค์รวม”
ที่ผ่านมาไม่ว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ไม่ว่า พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย ทำราวกับว่าทุกอย่างเป็นเรื่องของกรุงเทพมหานคร
ไม่ว่าจะในยุค “แต่งตั้ง” ไม่ว่าจะในยุค “เลือกตั้ง”
ทั้งๆที่หนี้สินและภาระที่เกิดขึ้นนับแสนล้านบาทในขณะนี้มีพื้นฐานมาจากการตัดสินใจของคสช.และของรัฐบาล
ยิ่งมีการเปิดเผย “สัญญา” และ “บันทึกช่วยจำ” จึงยิ่งมีผลดี