FootNote:ชะตากรรม ประยุทธ์ จันทร์โอชา เหมือนกับ บรรหาร ศิลปอาชา
สภาพการณ์ทางการเมืองที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา กำลังประสบอยู่ในขณะนี้ ละม้ายเหมือนกับสภาพการณ์ทางการเมืองที่ นายบรรหาร ศิลปอาชา เคยประสบเมื่อปี 2539 อย่างยิ่ง
การตัดสินใจยุบสภาแทนที่จะลาออกของ นายบรรหาร ศิลปอาชา กระทำจึงทรงความหมายเป็นอย่างสูง
ต้องยอมรับว่าการเผชิญกับญัตติขอเปิดอภิปรายทั่วไป เพื่อลงมติไม่ไว้วางใจของ นายบรรหาร ศิลปอาชา ในฐานะนายกรัฐมนตรีจากพรรคประชาธิปัตย์ หนักหนาอย่างสาหัส
หนักหนาอย่างสาหัสยิ่ง ไม่เพียงเพราะกระหน่ำฟาดจากบรรดาขุนพลนักพูดจากพรรคประชาธิปัตย์อย่างเป็นระบบ หากแต่ยังมีการบ่อนเซาะจาก “ภายใน” ของรัฐบาล
นั่นก็คือ การร่วมมือกันอย่างลับระหว่าง พล.อ.ชวลิต ยงใจยุทธ หัวหน้าพรรคความหวังใหม่ กับ นายเสนาะ เทียนทอง เลขาธิการพรรคชาติไทย
ข้อมูลบางส่วนเชื่อกันว่ามาจากการประมวลและส่งให้โดยกลไกจากความจัดเจนระดับ พล.อ.ชวลิต ยงใจยุทธ จึงสร้างความคับแค้นให้กับ นายบรรหาร ศิลปอาชา เป็นอย่างสูง
คำถามก็คือ ณ วันนี้ สภาพแทบไม่ต่างไปจากเมื่อปี 2539
ถามว่ามีความขัดแย้งเกิดขึ้นและดำรงอยู่ภายในรัฐบาล อันส่งผลกระทบโดยตรงต่อสถานะของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา หรือไม่และอย่างไร
สถานการณ์เดือนกันยายน 2564 ย่อมเป็น “คำตอบ”
การแลกเปลี่ยนข้อมูลระหว่างคนของพรรคพลังประชารัฐกับคนของพรรคเพื่อไทยเกิดขึ้นหรือไม่ ตอบได้เลยว่าเกิดขึ้นอย่างเปิดเผย ไม่มีความเกรงใจ
ยิ่งการดำเนินแผนเพื่อคว่ำสูตรเลือกตั้ง 500 หารที่เสนอและกดดันโดย พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา กลับมาเป็นสูตรเลือกตั้ง 100 หารก็เกิดขึ้นอย่างอึกทึกครึกโครม
เพราะหากไม่มีการรู้เห็นเป็นใจระหว่าง 250 ส.ว.กับพรรคพลังประชารัฐ และพรรคเพื่อไทยสถานการณ์ “สภาล่ม” คงไม่เกิด
ทั้งหมดนี้ล้วนดำรงอยู่ในสถานะ “หอกข้างแคร่” ทางการเมือง
ข่าวลือในเรื่อง “ยุบสภา” ที่ถูกปล่อยออกมาอย่างเป็นระบบ จึงมิได้เป็นการหาหนทางเพื่อเอาตัวรอดจากเดดล็อก 8 ปี ในตำแหน่งนายกรัฐมนตรีที่เผชิญหน้าอยู่เท่านั้น
หากแต่ยังเป็นความอึดอัดจากสถานการณ์กันยายน 2564
ยืดเยื้อและเรื้อรังมาจนถึงเดือนสิงหาคม 2565 ก็ยิ่งรุมเร้าเข้ามา โดยรอบและขาดความเกรงใจเป็นทบเท่าทวีคูณ
จึงตกที่นั่งเหมือน นายบรรหาร ศิลปอาชา เมื่อปี 2539