FootNote:การแยก การเมือง เรื่อง “ส่วนตัว” กรณีของ ชัยวุฒิ ธนาคมานุสรณ์
บรรยากาศแห่งการอภิปรายทั่วไป เพื่อลงมติไม่ไว้วางใจ ได้ทะลุจุดร้อนแรงเป็นอย่างสูง เมื่อผู้อภิปรายจากพรรคเพื่อไทย ได้แตะเข้าไปยังกรณีของ นายชัยวุฒิ ธนาคมานุสรณ์
ความละเอียดอ่อนอย่างยิ่งของกรณีอยู่ที่ภาวะเหลื่อมซ้อน ระหว่างความเป็น “ส่วนตัว” กับการดำรงอยู่ในสถานะแห่ง “รัฐมนตรี”
การประท้วงอย่างต่อเนื่องจาก ส.ส.พรรคพลังประชารัฐได้ตั้งข้อสังเกตว่า พฤติกรรมในเรื่องของความสัมพันธ์ถือได้ว่าเป็นเรื่อง “ส่วนตัว” ไม่เกี่ยวกับ “การบริหาร” ในตำแหน่งที่ได้รับมอบหมาย
ขณะที่เสียงโต้แย้งจากผู้อภิปรายและบรรดาผู้สนับสนุนจากพรรคเพื่อไทย ยืนยันอย่างมีเหตุผลว่า เมื่อนายชัยวุฒิ ธนาคมานุสรณ์ เป็นนักการเมืองจึงถือว่าเป็น “บุคคลสาธารณะ”
จึงไม่ว่าจะดำรงตำแหน่งเป็น “ส.ส.” ไม่ว่าจะดำรงตำแหน่งเป็น “รัฐมนตรี” รับผิดชอบกระทรวงใดกระทรวงหนึ่ง ความเป็นส่วนตัวย่อมสัมพันธ์กับความเป็น “บุคคลสาธารณะ” แนบแน่น
การแยกระหว่าง “เรื่องส่วนตัว” กับตำแหน่งในทาง “การเมือง” จึงเป็นเรื่องที่เป็นไปไม่ได้ เพราะทุกก้าวย่างล้วนอยู่ในความรับรู้ของสังคมและประชาชนทั้งสิ้น
พรรคเพื่อไทยจึงมีความชอบธรรมที่จะอภิปรายเพื่อนำไปสู่การลงมติไม่ไว้วางใจ นายชัยวุฒิ ธนาคมานุสรณ์ ได้
คงจำกันได้ว่าก่อนหน้ากรณีของ นายชัยวุฒิ ธนาคมานุสรณ์ สังคมรับรู้พฤติกรรมอันเป็นการล่วงละเมิดทางเพศของนักการเมืองจากพรรคประชาธิปัตย์ และพรรคก้าวไกล
พรรคประชาธิปัตย์เป็นถึงรองหัวหน้าพรรค ขณะที่พรรคก้าวไกลเป็นเพียงนักการเมืองท้องถิ่นเท่านั้น
จึงไม่เพียงแต่จะนำไปสู่การฟ้องร้องเป็นคดีความ หากแต่สังคมยังกดดันกระทั่งทั้งรองหัวหน้าพรรคและสมาชิกสภากรุงเทพมหานครต้องพ้นจากสมาชิกภาพไป
การกดดันเช่นนี้กลายเป็นทอล์คออฟเดอะทาวน์ ถือเป็นความรับผิดชอบ ที่พรรคจะต้องระมัดระวัง โดยไม่ตีกรอบว่าเป็นส่วนตัวอย่างที่เคยทำกันมา
นี่คือฐานอันนำไปสู่กรณี นายชัยวุฒิ ธนาคมานุสรณ์
ในกาลอดีตเคยมีเรื่องของ จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ซึ่งนำเงินของแผ่นดินไปบำเรอ “อนุภรรยา” เป็นจำนวนมาก บนฐานแห่งนายกรัฐมนตรีและผู้บัญชาการทหารสูงสุด
กว่าสังคมจะรับรู้ก็ต่อเมื่อ จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ล่วงไป
สังคมปัจจุบันได้ก้าวพ้นจากยุคแห่ง “อะนาล็อก” สู่ยุคแห่ง “ดิจิทัล” และความสำนึกในเรื่อง “เพศ” กลายเป็นเรื่องใหญ่หลวง
กรณีของ นายชัยวุฒิ ธนาคมานุสรณ์ จึงเป็นเรื่องอื้อฉาวหนึ่ง