FootNote:22 พฤษภาคม จุดปะทะใหญ่ สะท้อน สถานะ “รัฐประหาร”

Home » FootNote:22 พฤษภาคม จุดปะทะใหญ่ สะท้อน สถานะ “รัฐประหาร”


FootNote:22 พฤษภาคม จุดปะทะใหญ่ สะท้อน สถานะ “รัฐประหาร”

FootNote:22 พฤษภาคม จุดปะทะใหญ่ สะท้อน สถานะ “รัฐประหาร”

คำอธิบายต่อคำถามถึงบทบาทของ “ผู้ว่าฯกทม.” เมื่อเผชิญประสบเข้ากับสถานการณ์รัฐประหาร อันมาจากผู้สมัคร เบอร์ 3 นายสกลธี ภัททิยกุล ส่งผลสะเทือนเป็นอย่างสูง

ยิ่งเมื่อพบเข้ากับคำตอบอย่างฉาดฉานจาก นายวิโรจน์ ลักขณาอดิศร ยิ่งนำไปสู่เส้นแบ่งอันแหลมคมทางการเมือง

นั่นก็คือ ทำให้ขั้วฝ่ายในทางการเมืองที่เคยมีการจัดแบ่งโดยปริยาย นับแต่รายชื่อผู้สมัครชิงตำแหน่ง “ผู้ว่าฯกทม.” จำนวน 31 คน ปรากฏขึ้นอย่างเป็นทางการ

เป็นการแบ่งกลุ่มอย่างเด่นชัดออกมาเป็นฝ่ายประชาธิปไตยกับฝ่ายเผด็จการ โดยมีผู้สมัครซึ่งดำรงอยู่ในลักษณะอันเป็นตัวแทน ณ เบื้องหน้าประชาชน

หนึ่งเป็นฝ่ายของ พล.ต.อ.อัศวิน ขวัญเมือง นายสกลธี ภัททิยกุล นายสุชัชวีร์ สุวรรณสวัสดิ์ น.ส.รสนา โตสิตระกูล เรียกกันว่าฝ่ายที่เห็นด้วยกับคสช.เห็นด้วยกับรัฐประหาร

หนึ่งเป็นฝ่ายของ นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ นายวิโรจน์ ลักขณาอดิศร น.ต.ศิธา ทิวารี เรียกกันว่าเป็นฝ่ายที่ไม่เห็นด้วยกับคสช. ไม่เห็นด้วยกับรัฐประหาร

การปะทะระหว่าง นายสกลธี ภัททิยกุล กับ นายวิโรจน์ ลักขณาอดิศร ทำให้การแบ่ง 2 ขั้วในทางความคิดมีความชัดเจน

ต้องยอมรับว่าบรรยากาศทางการเมืองของสังคมไทย ที่ดำรงอยู่นับแต่รัฐประหารเมื่อเดือนกันยายน 2549 และรัฐประหารเมื่อเดือนพฤษภาคม 2557 มีขั้วทางความคิดนี้ดำรงอยู่

แม้จะมีความพยายามทำให้การเลือกตั้ง “ผู้ว่าฯกทม.” เป็นการบ้านมิใช่การเมือง แต่ในที่สุดก็ไม่สำเร็จ

เนื่องจาก พล.ต.อ.อัศวิน ขวัญเมือง นายสกลธี ภัททิยกุล ล้วนสัมพันธ์กับรัฐประหารโดยตรง นายสุชัชวีร์ สุวรรณสวัสดิ์ น.ส.รสนา โตสิตระกูล ก็สัมพันธ์กับรัฐประหารในระดับที่แน่นอน

ขณะที่หากกล่าวถึง นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ นายวิโรจน์ ลักขณาอดิศร นต.ศิธา ทิวารี ก็เป็นเหยื่อของ “รัฐประหาร” และเคยดำเนินการทางการเมืองในทางตรงกันข้ามกับอำนาจในปัจจุบัน

คำถามก็คือชาวกรุงเทพมหานครจะคล้อยไปทางใดมากกว่า

การต่อสู้ก่อนถึงวันอาทิตย์ที่ 22 พฤษภาคม จึงมีความสำคัญและทรงความหมายเป็นอย่างสูง และแสดงออกอย่างเด่นชัดว่าในที่สุดชาวกรุงเทพมหานครก็จะต้องเลือก

เลือกกับอำนาจในปัจจุบันหรือเลือกกับฝ่ายต้านอำนาจนี้

ข้อเสนอการเลือกในทางยุทธศาสตร์อาจฟังดูดีและมีความหมาย กระทั่งส่งผลสะเทือน แต่ก็ยากยิ่งจะปฏิบัติในทางเป็นจริง

ตรงนี้คือความซับซ้อนและสะท้อนพัฒนาการทางการเมือง

แท็กที่เกี่ยวข้อง

เรื่องอื่นที่น่าสนใจ