FootNote : เงาสะท้อน ความนิยม การเมือง กระบวนการ ลำดับบัญชีรายชื่อ
ไม่ว่าปฏิกิริยาและความไม่พอใจต่อลำดับ “บัญชีรายชื่อ” ของนางนฤมล ภิญโญสินวัฒน์ แห่งพรรคพลังประชารัฐ หรือของ น.ส.จิตภัสร์ กฤดากร แห่งพรรคประชาธิปัตย์
ด้านหนึ่งเป็นดัชนีชี้แนวโน้มทางการเมืองอันดำรงอยู่ ด้านหนึ่งเป็นดัชนีชี้ถึงกำลังภายในของบุคคลนั้นๆ ภายในพรรค
เห็นได้จากเมื่อ นางนฤมล ภิญโญสินวัฒน์ สำแดงปฏิกิริยาให้เป็นที่ปรากฏ หลายคนในพรรคพลังประชารัฐก็นิ่งเฉยมิได้ให้ความสนใจ แม้จะถอนตัวจาก “บัญชีรายชื่อ” ก็ไม่สนใจ
เห็นได้จากเมื่อ กฤดากร สำแดงปฏิกิริยาและความไม่พอใจ ก็เกิดการเคลื่อนไหวและลำดับที่เคยมีอยู่ภายในพรรคประชาธิปัตย์ก็เกิดการเปลี่ยนแปลง
และพลันที่แต่ละรายชื่อในระบบปาร์ตี้ลิสต์ของพรรคพลังประชารัฐ ของพรรคประชาธิปัตย์ ปรากฏต่อสาธารณะ การจัดลำดับของแต่ละรายชื่อก็สะท้อนแนวโน้มและการคาดหมาย
ความน่าสนใจอยู่ที่ความคาดหมายของพรรคพลังประชารัฐ และของพรรคประชาธิปัตย์วางน้ำหนักอยู่ภายในลำดับที่ 1-10 เป็นสำคัญ
เป็นไปได้อย่างไรที่พรรคพลังประชารัฐ พรรคประชาธิปัตย์จะได้ไม่เกิน 10
มองบนพื้นฐานแห่งธรรมเนียมไทย ท่วงทำนองของพรรคพลังประชารัฐ ท่วงทำนองของพรรคประชาธิปัตย์ อาจเป็นท่วงทำนองอย่างถ่อมตัวเยี่ยงผู้มากด้วยวัฒนธรรม
คำถามอยู่ที่ว่าการต่อสู้ทางการเมืองเป็นการต่อสู้อันแหลมคมและต้องคำนึงถึงความเป็นไปได้มากที่สุด
ความเป็นไปได้ที่พรรคพลังประชารัฐว่า น้ำหนักและความนิยมของพรรคอยู่ที่จำนนไม่เกิน 10 ของระบบบัญชีรายชื่อถือว่าแปลกอย่างประหลาดยิ่ง
หากคำนึงถึงฐานที่มาแห่งอำนาจของพรรคพลังประชารัฐคือ การรัฐประหารเมื่อเดือนพฤษภาคม 2557 และบุญบารมีที่ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ สะสมมา
เช่นเดียวกับรากฐานตั้งแต่ปี 2489 ของพรรคประชาธิปัตย์
ไม่มีใครให้คำตอบได้ว่าประชาชนจะเลือกระบบบัญชีรายชื่อของพรรคพลังประชารัฐและของพรรคประชาธิปัตย์เป็นจำนวนเท่าใด ตราบที่เดือนพฤษภาคมยังมาไม่ถึง
กระนั้น อารมณ์ของ “สังคม” ก็เป็น “ดัชนี” ชี้วัดออกมา
เป็นการชี้วัดผ่านคะแนนและความนิยมของโพลแต่ละสำนัก เป็นการชี้วัดผ่านบรรยากาศแห่งการส่งตัวแทนเข้าร่วมในเวทีประชันวิสัยทัศน์
และเป็นการชี้วัดภายใต้ระบบการประเมินโดยพรรคพลังประชารัฐ พรรคประชาธิปัตย์เอง