FootNote คำถาม จากกรณี ธุรกิจสีเทา ปฏิรูปตำรวจ ปฏิรูปการเมือง
ไม่ว่าความอื้อฉาวอันมาจากกรณีของ “ธุรกิจสีเทา” ซึ่งขับเคลื่อนด้วยความดุดันของมาเฟียจากจีนแผ่นดินใหญ่ ไม่ว่าความอื้อฉาวอันมาจากกรณีล่อซื้อ “อธิบดีแห่งกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติ เหมือนกับเป็นเรื่องส่วนตัว เป็นเครื่องฉายชี้ประสิทธิภาพและการบริหารของแต่ละส่วนราชการ
เพียงแต่กรณี “ธุรกิจสีเทา” สัมพันธ์อย่างเป็นพิเศษกับสำนักงานตำรวจแห่งชาติ เพียงแต่กรณีล่อซื้อ “อธิบดี” สัมพันธ์กับการทุจริตของกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม
แต่คำถามอันแหลมคมเป็นอย่างมากก็คือ ความอื้อฉาวเหล่านั้นเป็นความรับผิดชอบเฉพาะของ “ข้าราชการประจำ” เท่านั้นหรือ
ในเมื่อสำนักงานตำรวจแห่งชาติก็อยู่ในการกำกับดูแลโดยนายกรัฐมนตรี ในเมื่อกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้มมีรัฐมนตรีและรัฐมนตรีก็เป็นส่วนหนึ่งแห่งคณะรัฐมนตรี
ยิ่งกรณี “ธุรกิจสีเทา” ถูกขุดคุ้ยเปิดโปงมากเพียงใด สายตายิ่งกลายเป็นคำถาม ยิ่งกรณีล่อซื้อ “อธิบดี” สะท้อนการไถงินจากข้าราชการมากเพียงใด ยิ่งกลายเป็นคำถาม
คำถามถึง “เจ้ากระทรวง” คำถามถึง “นายกรัฐมนตรี” ถามว่าการจัดวางตำแหน่งแต่ละตำแหน่งไม่ว่าจะเป็นสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ไม่ว่าจะเป็นกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมดำเนินการอย่างไร เป็นเรื่องของเจ้าสำนัก เป็นเรื่องของเจ้ากระทรวง หรือว่าล้วนอยู่ในสายตาของนายกรัฐมนตรี
การเร่งเร้าอย่างร้อนแรงจากสังคมต่อแต่ละจังหวะก้าวของกองบัญชาการตำรวจนครบาล จึงเท่ากับเป็นการเร่งอย่างร้อนแรง ถึงสำนักงานตำรวจแห่งชาติ
การเร่งเร้าอย่างร้อนไปยัง “อธิบดี” จึงมองไปยังบทบาทของรัฐมนตรีว่าการกระทรวง จึงมองไปยังบทบาทการเข้ามาล้วงลูกผ่านการโยกย้ายของนายกรัฐมนตรี จึงไม่เพียงแต่ต้องการเห็นการตรวจสอบอย่างเข้มงวดจริงจัง หากแต่ยังต้องการรับรู้ต่อปัญหาตามความเป็นจริง
อย่าได้แปลกใจหากในท่ามกลางความอื้อฉาวที่เกิดขึ้นทั้งในกรณีของ “ธุรกิจสีเทา” และกรณีของกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมบทเพลงเมื่อเดือนพฤษภาคม 2557 จึงดังกระหึ่ม
เป็นบทเพลง ขอเวลาอีกไม่นาน แล้วแผ่นดินงดงามปรากฏ
เป็นคำขวัญที่เคยดังกึกก้องในเรื่อง “ปฏิรูปก่อนเลือกตั้ง” ในเรื่องของรัฐธรรมนูญ “ปราบโกง” ในเรื่องที่เสนอตัวมาเป็นคนดีเพื่อบริหารจัดการบ้านเมืองให้เรียบร้อย เป็นคนดีจาก “ระบบราชการ” เป็นคนดีจาก “รัฐประหาร”