FootNote สถานะภายใน ประชาธิปัตย์ หลัง 18 ธันวาคม แปรเปลี่ยน
ไม่ว่าผลการลงมติเลือก “รองหัวหน้าพรรค” ในที่ประชุมพรรคประชาธิปัตย์จะออกมาในหนทางใด
เป็น นายชินวรณ์ บุณยเกียรติ เป็น นายเดชอิศม์ ขาวทอง
แต่หากประเมินจากบรรยากาศและการต่อสู้อันเกิดขึ้นและดำรงอยู่ตั้งแต่ปลายเดือนพฤศจิกายนต่อเนื่องมายังก่อนหน้าการ ประชุมในเดือนธันวาคมก็เห็นชัด
ก็เห็นชัดในแบ่งกลุ่มและแยกฝ่ายในทาง “ความคิด” และในทาง “การเมือง” อย่างมิอาจปิดบังอำพรางได้
มีความเชื่อค่อนข้างสูงก่อนการประชุมว่า แนวโน้มจะเอนเอียง ไปในทางที่จะมอบตำแหน่งรองหัวหน้าพรรคให้กับ นายชินวรณ์ บุณยเกียรติ เพื่อรักษาธรรมนิยมเดิมของพรรคประชาธิปัตย์
โดยมีความเชื่อมั่นว่าถึง นายเดชอิศม์ ขาวทอง ไม่ได้รับความไว้วางใจก็ไม่น่าจะเป็นการเสียหน้าเสียตาเพราะเพิ่งเป็น ส.ส.สมัยแรกและเข้าดำรงตำแหน่งเป็นรองเลขาธิการพรรคก็ไม่เสียหาย
คำถามที่ตามมาก็คือ การประนอมประโยชน์เฉพาะหน้าอาจได้ผล แต่เป้าหมายอย่างแท้จริงอยู่ที่ผลการเลือกตั้งมากกว่า
คำว่าการเลือกตั้งในที่นี้มิได้มีความหมายเพียงการทำให้นครศรีธรรมราชหวนกลับมาเป็น “เมืองหลวง” ของพรรคประชาธิปัตย์ในพื้น ที่ภาคใต้เพียงประการเดียว
ตรงกันข้าม การรักษาสถานะความเป็นแชมป์เดิมในพื้นที่ของชุมพรและสงขลาก็ทรงความหมายเป็นอย่างสูง
คำถามอันแหลมคมยิ่งกว่านั้นก็คือ ท่วงท่าทางการเมืองในแบบ นายชินวรณ์ บุณยเกียรติ ซึ่งมี นายชวน หลีกภัย นายบัญญัติ บรรทัดฐาน เป็นกองหนุนจะยังมีความหมายสำหรับพรรคอยู่หรือไม่
เนื่องจากที่ยืนอยู่ข้างหลัง นายเดชอิศม์ ขาวทอง คือ นายเฉลิม ชัยศรีอ่อน ซึ่งเป็นเลขาธิการพรรค
ทั้งหมดนี้คือหนทาง 2 แพร่งที่พรรคประชาธิปัตย์ต้องเลือก
การประเมินผลของการตัดสินใจจึงไม่จำเป็นต้องรอดูบรรทัดสุดท้ายในการเลือกตั้งที่จะเกิดขึ้นไม่ว่าจะเป็นในปี 2565 ไม่ว่าจะเป็นในปี 2566 ตามความคาดหวังของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา
หากภายในเดือนมกราคม 2564 คำตอบก็คงจะออกมา
หากภายในหลังวันที่ 18 ธันวาคม ปฏิกิริยาและท่าทีภายในพรรคประชาธิปัตย์ก็จะฉายชี้ให้เห็นเส้นทางอย่างเด่นชัดขึ้น
เป็นเส้นทางย้อน “อดีต” หรือเป็นเส้นทาง “นักเลือกตั้ง”