FootNote ลักษณะ เทคโนโลยี การเมือง ล้วนรุมล้อม ประยุทธ์ ประวิตร

Home » FootNote ลักษณะ เทคโนโลยี การเมือง ล้วนรุมล้อม ประยุทธ์ ประวิตร


FootNote ลักษณะ เทคโนโลยี การเมือง ล้วนรุมล้อม ประยุทธ์ ประวิตร

FootNote ลักษณะ เทคโนโลยี การเมือง ล้วนรุมล้อม ประยุทธ์ ประวิตร

ยิ่งการเคลื่อนไหวจากเวที “ประชันวิสัยทัศน์” ไม่ว่าจากการจัดการโดย “มติชน ข่าวสด” ไม่ว่าจากการจัดโดย “ช่อง 3” ดำเนินไปด้วยความคึกคัก เข้มข้น

คำถามที่ว่าทำไมจึงไม่มี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ทำไมจึงไม่มี พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ ก็ยิ่งจะดังกึกก้องจนกัมปนาท

เนื่องจากในหลายเวทีสังคมเห็น นายอุตตม สาวนายน แทนที่จะเป็น พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ เห็น นายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค แทนที่จะเป็น พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา

น่าเสียดายที่ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ ปัดปฏิเสธอย่างสิ้นเชิง น่าเสียดายที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา มองเมินและไม่เห็นบทบาทและความหมาย

แม้จะผ่านข้ออ้างที่ว่าพูดไม่เก่ง พูดไม่เป็น พร้อมกับยกกรณีของ พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ มาเป็นอุทาหรณ์ และไปไกลถึงกับยกกรณ๊ของ นายสี เจิ้นผิงแห่งจีนมาเป็นตัวอย่าง

โดยมองข้ามความเป็นจริงว่า พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ อยู่ในยุคแห่งรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2521 ขณะที่ นายสี เจิ้นผิง อยู่ภายใต้ การปกครองแห่งระบอบ “คอมมิวนิสต์”

ขณะที่ประเทศไทยอยู่ในยุครัฐธรรมนูญ พ.ศ.2560 เด่นชัด

ไม่ว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ไม่ว่า พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ ล้วนอ้างตนเป็น “นักการเมือง” และเป็นนักการเมืองในระ บอบประชาธิปไตย

เป็นการอ้างคุณูปการจาก “รัฐธรรมนูญ” เป็นการอ้างจากผลพวงแห่ง”การเลือกตั้ง”เมื่อเดือนมีนาคม 2562 โดยลืมเสียแล้วว่ารัฐธรรมนูญ พ.ศ.2560 เป็นรัฐธรรมนูญภายใต้คำนิยามอันเฉียบคมยิ่งจากคนของพรรคพลังประชารัฐที่ว่า “เป็นรัฐธรรมนูญที่ DESIGN มาเพื่อพวกเรา”

โดยลืมเสียแล้วว่ากระบวนการเลือกตั้งดำรงอยู่ภายใต้การกำกับขององค์กรอิสระที่มาจากการตั้งโดยขบวนการรัฐประหาร ที่พร้อมจะบิดเบือนและสร้างเงื่อนไขแห่งการสืบทอดอำนาจ

โดยลืมเสียแล้วว่าการเลือกตั้งในเดือนพฤษภาคม 2566 เป็นการเลือกตั้งในยุคแห่ง “ดิจิทัล” มิใช่ในยุคแห่ง “อะนาล็อก” อีกแล้ว

ท่าทีและท่วงทำนองไม่ว่าจะแสดงออกโดย พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์ โอชา ไม่ว่าจะแสดงออกโดย พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ จึงเป็นท่าทีที่สวนกระแสและความเป็นจริงแห่งยุค

ไม่ว่ามองผ่าน “เทคโนโลยี” ไม่ว่ามองผ่าน “การเมือง” เพียงนำมาวางเปรียบเทียบอยู่กับการเคลื่อนไหวของพรรคการเมือง ของนักการเมืองอันเป็นคนรุ่นใหม่ ก็สัมผัสได้ในลักษณะตกยุคและจมอยู่ในบรรยากาศแห่งความล้าหลัง

จุดเปรียบเทียบนี้จะนำไปสู่การตัดสินใจ “เลือก” ครั้งใหญ่ของสังคมไทย

แท็กที่เกี่ยวข้อง

เรื่องอื่นที่น่าสนใจ