FootNote ปม จริยธรรม ความชอบธรรม กดดัน ต่อ ประยุทธ์ จันทร์โอชา
ทำไมความรู้สึกต่อการดำรงตำแหน่ง “นายกรัฐมนตรี” เป็นเวลา 8 ปีของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา จึงกลายเป็น “กระแส” ทวีความร้อนแรงมากยิ่งขึ้นเป็นลำดับ
คำตอบที่ตรงเป้ามากที่สุดก็คือ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ดำรงตำแหน่งเป็นนายกรัฐมนตรีมาเป็นเวลา 8 ปีแล้ว คำตอบที่ตรงเป้ายิ่งกว่านั้นก็คือ มีอำนาจมามากกว่า 8 ปี
หากนับตั้งแต่ลงมือทำรัฐประหารในเดือนพฤษภาคม 2557 อำนาจก็อยู่ในมือของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ตั้งแต่บัดนั้น ตำแหน่งนายกรัฐมนตรีที่ได้ในเดือนสิงหาคมเป็นเพียงรูปธรรมหนึ่ง
แม้จะมีความพยายามในการอ้างจุดเริ่มต้นจากเมื่อรัฐธรรมนูญประกาศและบังคับใช้ในเดือนเมษายน 2560 หรือเมื่อเข้าดำรงตำแหน่งอีกครั้งในเดือนมิถุนายน 2562 หลังการเลือกตั้ง
กระนั้น ความเป็นจริงในความรับรู้ของชาวบ้าน พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา มีอำนาจตั้งแต่รัฐประหารเมื่อเดือนพฤษภาคม 2557 ความเป็นจริงนี้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ย่อมรู้ดีที่สุดยิ่งกว่าใครไหนอื่น
ความจริงนี้ต่างหากคือความรับรู้ในความรู้สึก “ประชาชน”
เมื่อความเป็นจริงที่ “จริงแท้” เป็นเช่นนี้ กระแสอันเกิดขึ้นจึงมิได้เกิดขึ้นจากการเคลื่อนไหวจากพรรคร่วมฝ่ายค้าน ไม่ว่าจะเป็นพรรคเพื่อไทย ไม่ว่าจะเป็นพรรคก้าวไกล
ตรงกันข้าม บุคคลและกลุ่มบุคคลอันเคยเป็น “กองเชียร์” และอยู่ฝ่ายเดียวกับ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ต่างหากที่รับไม่ได้ จึงได้เห็นการเคลื่อนไหวโดย 99 พลเมืองซึ่งตื่นรู้ ด้านหลักก็เคยเคลื่อนไหวในนามพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย และที่เรียกตนเองว่ามวลมหาประชาชนกปปส.
ยิ่งกว่านั้นเมื่อมีการนำเอาบันทึกการประชุมของคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญเมื่อเดือนเมษายน 2561 ได้พบกับความเห็นจาก นายมีชัย ฤชุพันธุ์ ยิ่งเกิดความแจ่มชัดแจ้งในเจตนารมณ์ที่เคยเห็นแตกต่างกันก็กลายเป็นความเห็น “ร่วม” ซึ่งสมควรที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา จะสำนึกตระหนักอย่างรับผิดชอบ
ในทาง “ความคิด” อาจกล่าวได้ว่า การดำรงอยู่ในสถานะแห่งนายกรัฐมนตรีภายหลังวันที่ 24 สิงหาคมของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา จะเป็นไปด้วยความยากลำบาก เป็นปัญหาในเรื่อง “จริยธรรม” ในเรื่องความชอบธรรม เป็นปัญหาอย่างเดียวกับที่ จอมพลถนอม กิตติขจร และ พล.อ.สุจินดา คราประยูร เคยประสบและได้คำตอบ
สะท้อนให้เห็นการรุก กดดัน ขับไล่จากปัจจัย “ภายใน”