FootNote บทเรียน สถานการณ์ กรณีจะนะ กลยุทธ์ บริหาร แบบ”ประยุทธ์”
ไม่ว่าการเปิดปฏิบัติการสลาย”จะนะรักษ์ถิ่น”บริเวณหน้าทำเนียบรัฐ บาลเมื่อกลางดึกของคืนวันที่ 6 ธันวาคม ไม่ว่าการตั้งด่านกว่า 10 จุดตั้งแต่สงขลาถึงชุมพรเพื่อสกัดชาวบ้านจาก”จะนะรักษ์ถิ่น”
เป้าหมายของผู้บังคับบัญชามีความเด่นชัด นั่นก็คือ ต้องการยุติปัญหา ไม่ต้องการให้มีการชุมนุมปรากฏขึ้น
ไม่ว่าในวันที่ 6 ไม่ว่าในวันที่ 13 ธันวาคม ณ ทำเนียบรัฐบาล
หากติดตามคำอภิปรายของ ส.ส.ในที่ประชุมรัฐสภา หากติดตามข้อสังเกตจากสาธารณะโดยปัญญาชนและนักวิชาการ ก็ได้บทสรุปร่วมกันว่า ตำรวจปฏิบัติไปตามคำสั่ง
เพียงแต่ว่าคำสั่งนั้นเป็นคำสั่งในระดับสำนักงานตำรวจแห่งชาติในฐานะผู้ปฏิบัติ หรือว่าเป็นคำสั่งในเชิงนโยบายอันมาจากทำเนียบรัฐบาล
คำถามมิได้อยู่ที่ว่าคำสั่งนี้ชอบด้วยรัฐธรรมนูญ หรือไม่
หากแต่ที่แหลมคมมากยิ่งกว่านั้นก็คือ การปฏิบัติตามคำสั่งมีประสิทธิผลและบรรลุตามเป้าหมายหรือไม่
นั่นก็คือ สามารถจบและสะสางปัญหาได้ลุล่วงโดยดีหรือไม่
หากพิจารณาจาก”ปฏิกิริยา”ของ”จะนะรักษ์ถิ่น” ไม่ว่าจะเป็นส่วนหน้าที่เคยอยู่บริเวณหน้าทำเนียบรัฐบาลหรือหน้ายูเอ็น ไม่ว่าจะเป็นส่วนที่กำลังเดินทางเข้ามาร่วมในการชุมนุม
เท่ากับเป็นคำตอบ เพราะแสดงออกอย่างเป็นรูปธรรมว่าไม่เห็น ด้วยอย่างสิ้นเชิงกับแนวทางของทำเนียบรัฐบาล แนวทางของตำรวจ
ไม่เพียงเท่านั้น ยังปรากฏกลุ่มชาวบ้านจากภาคเหนือได้ประกาศอย่างแจ้งชัดว่าจะเข้าร่วมเคลื่อนไหวกับ”จะนะรักษ์ถิ่น”เช่น เดียวกับ”สมัชชาคนจน”ก็มีแถลงการณ์คัดค้านการสลายและจับกุม
ทั้งหมดนี้ยืนยันอย่างต่อเนื่องว่า แนวทาง”ปราบปราม”ด้วยมาตรการเข้ม”ทางการทหาร”อันออกมาจากทำเนียบรัฐบาลไร้ผล
แทนที่จะสยบและจบกลับเป็นจุดเริ่มต้นแห่งความไม่พอใจ
แนวทางอย่างที่แสดงออกเมื่อกลางดึกของคืนวันที่ 6 ธันวาคม เป็น แนวทางเดียวกับที่รัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ใช้อย่างต่อเนื่องนับแต่รัฐประหารเมื่อเดือนพฤษภาคม 2557
ไม่ว่าในนาม”คสช.” ไม่ว่าในนามรัฐบาลจาก”การเลือกตั้ง”
กลายเป็นว่ารัฐบาลจาก”การเลือกตั้ง” กับรัฐบาลจาก”รัฐประหาร” ล้วนหายใจร่วมรูจมูกเดียวกัน
นั่นก็คือ รูจมูกเผด็จการ รูจมูกห่ง”ระบอบประยุทธ์”