FootNote ดัชนีชี้วัด “ขาลง” ประยุทธ์ มองผ่าน ประวิตร อนุพงษ์
เหมือนกับคะแนนที่ 11 รัฐมนตรีได้รับจากสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรโดยรวมจะยืนยันถึงความไว้วางใจ แต่ภายในความไว้วางใจนั้นก็ปรากฏปัญหาขึ้นมาอย่างเด่นชัด
หากพิจารณาจากคะแนนสูงสุดของ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ มายังคะแนนต่ำสุดของ นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฎ์
ไม่ว่าจะเป็น 268 ของ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ ไม่ว่าจะเป็น 241 ของ นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฎ์ ส่วนที่แหลมคมอย่างเป็นพิเศษกลับอยู่ที่จำนวนงดออกเสียง
หากตัด 1 คะแนนของ นายชวน หลีกภัย ซึ่งนั่งทำหน้าที่ประธานอยู่บนบัลลังก์ออกไป งดออกเสียงของ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ คือ 10 ของ นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฐ์ คือ 22
เท่ากับการส่งสัญญาณของทั้ง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา และ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ ที่ต้องการเห็นเอกภาพของพรรคร่วมรัฐบาลไม่เป็นความจริง
ความหมายอย่างตรงตัวก็คือ คำร้องขอของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา และของ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ ไม่มีความหมาย อย่างน้อยก็มีบางส่วนไม่ขานรับ
เหมือนกับจะเป็นปรากฏการณ์ของการเมืองในช่วงโค้งสุดท้ายก่อนเข้าสู่โหมดการเลือกตั้ง แต่ก็มีนัยสำคัญ
นัยสำคัญประการแรกสุดและเป็นพื้นฐานที่สุดเท่ากับเป็นการยืนยันถึงอนิจจลักษณะแห่งอำนาจที่มีอยู่ในมือว่าเริ่มไม่เที่ยงแท้ ไม่แน่นอน
ไม่ว่าจะมองผ่าน พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ไม่ว่าจะมองผ่าน พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ
จากหลังรัฐประหารเมื่อเดือนพฤษภาคม 2557 จากหลังการเลือกตั้งเมื่อเดือนมีนาคม 2562 เมื่อเข้าสู่การลงมติไว้วางใจ ไม่ไว้วางใจในเดือนกรกฎาคม 2565 ก็ชัดเจน
เท่ากับยิ่งยื้อและทอดเวลาออกไปยาวนานมากเพียงใด ยิ่งย้ำยืนยันให้เห็นถึงแนวโน้มและความผันแปรที่จะต้องเกิดขึ้นและตามมา ทั้งยังเป็นด้านที่เสื่อมทรุดและตกต่ำ
เด่นชัดว่าเป็นช่วงขาลงของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา
ดัชนีจากญัตติขอเปิดอภิปรายทั่วไปเพื่อลงมติไม่ไว้วางใจจึงมิได้สะท้อนออกถึงความแข็งแกร่ง ตรงกันข้าม กลับชี้ให้เห็นความตกต่ำ อ่อนแอเสื่อมทรุด
ทั้งยังเป็นความเสื่อมทรุดจากภายในของตัว “ระบอบ” เอง
ไม่ว่าจะมองผ่าน พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ไม่ว่าจะมองผ่าน พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ หรือ พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา
ความคิดที่จะ “ไปต่อ” จึงเป็นความเพ้อฝันอันทุลักทุเลยิ่ง