FootNote ความนัยการเมืองเนื่องแต่ 2475 ระหว่าง พิบูลสงคราม กับ ท่าราบ

Home » FootNote ความนัยการเมืองเนื่องแต่ 2475 ระหว่าง พิบูลสงคราม กับ ท่าราบ



FootNote ความนัยการเมืองเนื่องแต่ 2475 ระหว่าง พิบูลสงคราม กับ ท่าราบ

ไม่ว่าเจตนาของการเปลี่ยนชื่อ “สะพานพิบูลสงคราม” มาเป็น “สะพานท่าราบ” จะเป็นอย่างไร และดำเนินการโดยฝีมือของใคร แต่ในที่สุดเจตนาการนี้ก็ “บรรลุ”
เพียงแต่จะบรรลุตาม “เป้าหมาย” หรือไม่ ยังน่าสงสัยและกำลังกลายเป็น “คำถาม” อันแหลมคมในทางการเมือง
มีข้อสังเกตที่ไม่ควรมองข้ามประการหนึ่ง นั่นก็คือ ที่ตั้งของสะพานพิบูลสงคราม อยู่ในย่านเกียกกาย ซึ่งไม่เพียงอยู่ระหว่างกองพลทหารม้ากับกองพลทหารปืนใหญ่เท่านั้น
หากเป็นที่รับรู้กันว่าเป็นพื้นที่ของ “ทหาร” ทั้งในสังกัดของกองทัพบก สังกัดกองทัพไทย และแน่นอนเมื่อเป็นเขตทหารและอยู่ในความดูแลของเขตดุสิตก็ย่อมจะต้องมีกล้องซีซีทีวี
พลันที่กรุงเทพมหานครและเขตดุสิตออกมาประสานเสียงตรงกันว่า ไม่สามารถพิสูจน์ทราบได้ว่าปฏิบัติการเปลี่ยนชื่อสะพานครั้งนี้เป็นฝีมือของใครเพราะกล้องเสีย
คำถามก็เกิดขึ้นโดยอัตโนมัติและหวนนึกถึงคำอธิบายจาก พล.ต.อ.อัศวิน ขวัญเมือง ที่ว่ากล้องซีซีทีวีในบางครั้งก็ถูกแปรเป็นกล้อง “จำเป็นต้องเสีย” ด้วยเหตุผลในทางการเมือง
แม้เหตุการณ์นี้จะเกิดขึ้นในยุคของ นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ แต่สังคมก็มั่นใจว่าในที่สุดเรื่องนี้ก็จะเงียบหายไปเหมือนกรณีอื่น

คำว่า “กรณีอื่น” ในที่นี้มิได้หมายเพียงปฏิบัติการลอบสังหาร นายสนธิ ลิ้มทองกุล ในรัฐบาลหลังรัฐประหารเมื่อเดือนกันยายน 2549 อันอุกอาจกลางเมืองเท่านั้น
หากแต่ยังหมายถึงการหายไปอย่างไร้ร่องรอยของ “หมุด” การย้ายอนุสาวรีย์ปราบกบฎที่หลักสี่อย่างไม่มีใครรู้ว่าอยู่ที่ใด
ทั้งหมดล้วนสัมพันธ์กับสถานการณ์เดือนมิถุนายน 2475
เนื่องจากหมุดที่หายไปก็เรียกกันว่า “หมุดคณะราษฎร” เนื่องจากอนุสาวรีย์ปราบกบฎก็เป็นกบฎในเดือนตุลาคม 2476 อันโยงมาถึงความพยายามในการเปลี่ยนชื่อ “สะพาน”
เพราะคำว่า “สะพานพิบูลสงคราม” โยงไปยัง หลวงพิบูลสงคราม ซึ่งเป็นผู้บัญชาการในการปราบกบฎ
จาก “สะพานพิบูลสงคราม” เป็น “สะพานท่าราบ”

สัญญาณแห่งปฏิบัติการเปลี่ยนชื่อ “สะพาน” ในย่านเกียกกายใกล้เคียงกับกองพลทหารปืนใหญ่ต่อสู้อากาศยาน (ปตอ.) จึงเป็นเรื่องอันเนื่องแต่ 90 ปีวันที่ 24 มิถุนายน 2475
เป็นเรื่องระหว่าง 2 นายทหาร “ปืนใหญ่” คนสำคัญ
เพียงแต่คนหนึ่งอยู่ในฐานะเคยเป็น “กบฎ” ขณะที่อีกคนหนึ่งอยู่ในฐานะเคยเป็น “ผู้บัญชาการ” ในการปราบเมื่อปี 2476 เท่านั้น
เพียงแต่เป็นตาม “เป้าหมาย” หรือขยายใหญ่กว้างออกไปอีก

แท็กที่เกี่ยวข้อง

เรื่องอื่นที่น่าสนใจ