FootNote ความนัยการเมืองเนื่องแต่ 2475 ระหว่าง พิบูลสงคราม กับ ท่าราบ
ไม่ว่าเจตนาของการเปลี่ยนชื่อ “สะพานพิบูลสงคราม” มาเป็น “สะพานท่าราบ” จะเป็นอย่างไร และดำเนินการโดยฝีมือของใคร แต่ในที่สุดเจตนาการนี้ก็ “บรรลุ”
เพียงแต่จะบรรลุตาม “เป้าหมาย” หรือไม่ ยังน่าสงสัยและกำลังกลายเป็น “คำถาม” อันแหลมคมในทางการเมือง
มีข้อสังเกตที่ไม่ควรมองข้ามประการหนึ่ง นั่นก็คือ ที่ตั้งของสะพานพิบูลสงคราม อยู่ในย่านเกียกกาย ซึ่งไม่เพียงอยู่ระหว่างกองพลทหารม้ากับกองพลทหารปืนใหญ่เท่านั้น
หากเป็นที่รับรู้กันว่าเป็นพื้นที่ของ “ทหาร” ทั้งในสังกัดของกองทัพบก สังกัดกองทัพไทย และแน่นอนเมื่อเป็นเขตทหารและอยู่ในความดูแลของเขตดุสิตก็ย่อมจะต้องมีกล้องซีซีทีวี
พลันที่กรุงเทพมหานครและเขตดุสิตออกมาประสานเสียงตรงกันว่า ไม่สามารถพิสูจน์ทราบได้ว่าปฏิบัติการเปลี่ยนชื่อสะพานครั้งนี้เป็นฝีมือของใครเพราะกล้องเสีย
คำถามก็เกิดขึ้นโดยอัตโนมัติและหวนนึกถึงคำอธิบายจาก พล.ต.อ.อัศวิน ขวัญเมือง ที่ว่ากล้องซีซีทีวีในบางครั้งก็ถูกแปรเป็นกล้อง “จำเป็นต้องเสีย” ด้วยเหตุผลในทางการเมือง
แม้เหตุการณ์นี้จะเกิดขึ้นในยุคของ นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ แต่สังคมก็มั่นใจว่าในที่สุดเรื่องนี้ก็จะเงียบหายไปเหมือนกรณีอื่น
คำว่า “กรณีอื่น” ในที่นี้มิได้หมายเพียงปฏิบัติการลอบสังหาร นายสนธิ ลิ้มทองกุล ในรัฐบาลหลังรัฐประหารเมื่อเดือนกันยายน 2549 อันอุกอาจกลางเมืองเท่านั้น
หากแต่ยังหมายถึงการหายไปอย่างไร้ร่องรอยของ “หมุด” การย้ายอนุสาวรีย์ปราบกบฎที่หลักสี่อย่างไม่มีใครรู้ว่าอยู่ที่ใด
ทั้งหมดล้วนสัมพันธ์กับสถานการณ์เดือนมิถุนายน 2475
เนื่องจากหมุดที่หายไปก็เรียกกันว่า “หมุดคณะราษฎร” เนื่องจากอนุสาวรีย์ปราบกบฎก็เป็นกบฎในเดือนตุลาคม 2476 อันโยงมาถึงความพยายามในการเปลี่ยนชื่อ “สะพาน”
เพราะคำว่า “สะพานพิบูลสงคราม” โยงไปยัง หลวงพิบูลสงคราม ซึ่งเป็นผู้บัญชาการในการปราบกบฎ
จาก “สะพานพิบูลสงคราม” เป็น “สะพานท่าราบ”
สัญญาณแห่งปฏิบัติการเปลี่ยนชื่อ “สะพาน” ในย่านเกียกกายใกล้เคียงกับกองพลทหารปืนใหญ่ต่อสู้อากาศยาน (ปตอ.) จึงเป็นเรื่องอันเนื่องแต่ 90 ปีวันที่ 24 มิถุนายน 2475
เป็นเรื่องระหว่าง 2 นายทหาร “ปืนใหญ่” คนสำคัญ
เพียงแต่คนหนึ่งอยู่ในฐานะเคยเป็น “กบฎ” ขณะที่อีกคนหนึ่งอยู่ในฐานะเคยเป็น “ผู้บัญชาการ” ในการปราบเมื่อปี 2476 เท่านั้น
เพียงแต่เป็นตาม “เป้าหมาย” หรือขยายใหญ่กว้างออกไปอีก