FootNote กาก้าวไกล ประเทศไทยเปลี่ยน แผนสร้าง จุดต่าง จาก ก้าวไกล
พลันที่ นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ วิพากษ์แนวทาง “ก้าวข้ามความขัดแย้ง” อันเสนอผ่านจดหมายเปิดผนึกอย่างต่อเนื่องของ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ
ผ่านคำเตือนว่าด้วย “การลอยนวลพ้นผิด” อันมาพร้อมกับบทเรียนจากรวันดาและเกาหลีใต้ ข้อเสนอที่เคยวางไว้ตั้งแต่ยุคพรรคอนาคตใหม่ก็ได้รับการรื้อฟื้นขึ้นมาอย่างเป็นระบบ ไม่ว่าจะโดย นายธนาธร จึงร่งเรืองกิจ ไม่ว่าจะโดย นายปิยบุตร แสงกนกกุล
บนเวทีการปราศรัยเปิดตัวว่าที่ผู้สมัครพรรคก้าวไกลที่ปทุมธานี บนเวทีการปราศรัยเปิดตัวว่าที่ผู้สมัครพรรคก้าวไกลที่พระนครศรีอยุธยา
นั่นก็คือ การชำระล้างโทษกรรมทั้งปวงอันเกิดจากรัฐประหารเมื่อเดือนพฤษภาคม 2557 อันเป็นผลงานชิ้นเอกที่นำโดย พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา
เป้าหมายมิได้อยู่ที่ประกาศและคำสั่งซึ่งลงนามโดยหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติและรวมถึงการเริ่มต้นประชามติเพื่อจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่
หากแต่อยู่ที่การทำให้ “นิรโทษกรรม” ต้องกลายเป็น “โมฆะ”
นี่คือธงอันชูขึ้นสูงเด่นโดยพรรคก้าวไกลเป็นนโยบายการเมืองหลักที่ไม่เพียงแต่พุ่งเป้าไปยังสถานะ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา เท่านั้น
แต่ที่สำคัญอย่างสูงสุด คือ การสร้าง “จุดต่าง” ทางการเมือง
เป็นจุดต่างซึ่งแวดล้อมอยู่กับแผนปฏิรูปการเมือง ปฏิรูปกองทัพโดยการเอากองทัพออกไปจากการเมืองเพื่อตัดวงจรแห่งรัฐประหาร
ขณะเดียวกัน ก็เป็นจุดต่างอันมีการเมือง “ใหม่” ผ่านกระบวนการของพรรคก้าวไกลกับการเมือง “เก่า” อันมีพรรคการเมืองใหญ่จำนวนหนึ่งเป็นตัวแทน
ต่างจากพรรคการเมือง “ทหารจำแลง” อย่างพรรคพลังประชารัฐ พรรครวมไทยสร้างชาติ อย่างแน่นอน แต่ที่แหลมคมยิ่งกว่านั้น ยังเป็นความต่างไปจากทุกพรรคการเมืองที่มีอยู่
ทั้งหมดนี้คือการพัฒนาและต่อยอดจากความริเริ่มโดยพื้นฐานของพรรคอนาคตใหม่ เป็นการสร้างวัฒนธรรมและวิถีทางการเมืองในแบบของ “ก้าวไกล” ขึ้นมา
“จุดต่าง” นี้คือการเสนอทางเลือกในความเปลี่ยนแปลง เนื่องจากพรรคก้าวไกลมิได้มีเป้าหมายเพียงเพื่อเปลี่ยนตัวจากรัฐบาลเก่ามาเป็นรัฐบาลใหม่ หากแต่ยังต้องการในการเปลี่ยนไปสู่ประเทศไทย “ใหม่” อย่างเป็นจริง
ข้อเสนอใหม่ของพรรคก้าวไกลจะเข้าตาประชาชนเพียงใด ยังต้องใช้เวลาในการพิสูจน์