FootNote กระแสขับ ประยุทธ์ จันทร์โอชา ปะทุขึ้น ขยายวงจาก “รัฐบาล”
เด่นชัดอย่างยิ่งว่า “ฝันร้าย” จากสถานการณ์ในห้วงแห่งญัตติขอ เปิดอภิปรายทั่วไปเพื่อลงมติไม่ไว้วางใจเมื่อเดือนกันยายน 2564 ยังตามมาหลอกหลอน พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา
ยิ่งมีการนัดพบระหว่าง ส.ส.พรรคร่วมรัฐบาลกับ ส.ส.พรรคเพื่อ ไทยเกิดขึ้นถี่ยิบมากเพียงใดยิ่งกลายเป็นเรื่องเขย่าขวัญ
ทั้งจากการเคลื่อนไหวล่าสุดไม่เพียงแต่จะเป็นการนัดพบระหว่าง ส.ส.พรรคเพื่อไทย กับ ส.ส.ใน “กลุ่ม 16” หากแต่ยังขยายวงไปยัง ส.ส.ของพรรคเศรษฐกิจใหม่อีกด้วย
ต้องยอมรับว่า “ฝันร้าย” จากสถานการณ์เมื่อเดือนกันยายน 2564 มีเพียงแต่ ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า เท่านั้น แต่สภาพการณ์ที่ปรากฏในเดือนเมษายนต่อเดือนพฤษภาคม 2565 มีมากกว่านั้น
หากกรณีของ ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า เมื่อเดือนกันยายน 2564 นำไปสู่การเกิดขึ้นของพรรคเศรษฐกิจไทย แล้วสถานการณ์ในเดือนพฤษภาคม 2565 จะลงเอยอย่างไร
เป็นคำถามที่ไม่เพียง พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ เท่านั้นต้องตอบ หาก พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ก็ต้องสังวรระวังอย่างสูง
จากสถานการณ์เมื่อเดือนกันยายน 2564 พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา อาจตอบโต้ด้วยกระบวนการที่รุนแรงอย่างต่อเนื่อง แต่ผลย้อนกลับก็มิได้เป็นไปตามความปรารถนา
เห็นได้จากคำสั่งปลด ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า นางนฤมล ภิญโญสินวัฒน์ ออกจากตำแหน่งรัฐมนตรี
เห็นได้จากการรุกและกดดันกระทั่ง ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า ไม่สามารถเป็นเลขาธิการและไม่สามารถอยู่ในร่มเงาของพรรคพลังประชารัฐได้
กระนั้น ผลที่ตามมา นางนฤมล ภิญโญสินวัฒน์ ก็ยังอยู่ และการเกิดพรรคเศรษฐกิจไทยก็กลายเป็นผลร้ายมากกว่าผลดี
ยิ่งกว่านั้น ยังปรากฏกระแส “นายกฯสำรอง” ขึ้นรายวัน
หากมองจากด้านของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ที่อยู่ในอำนาจต่อเนื่องจากรัฐประหารเดือนพฤษภาคม 2557 และจากการเลือกตั้งเมื่อเดือนมีนาคม 2562 นี่ย่อมมิใช่เรื่องดี
เนื่องจากปรากฏการณ์ “นายกฯสำรอง” ในอีกด้านคือการขับไล่
และที่ประมาทมิได้เลยก็คือ เป็นปรากฏการณ์อันเริ่มขึ้นจากบางส่วนในรัฐบาลที่แสดงความไม่พอใจอย่างเป็นรูปธรรม
เหมือนกับไม่มีความเกรงใจ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เลย