FootNote หนทาง “นรก” หนทาง “สวรรค์” เบื้องหน้า ประยุทธ์ จันทร์โอชา
ในสถานการณ์ที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เผชิญกับข้อกำหนดอยู่ในตำแหน่ง 8 ปี ทำให้ภาพของ “อดีต” นายกรัฐมนตรีหลายคนปรากฏขึ้นในเชิงเปรียบเทียบ
หลายคนมักจะนำเอาคำว่า “ผมพอแล้ว” จากปาก พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ มาเป็นข้อคำนึงก่อนตัดสินใจ แต่ก็มีคนจำนวนไม่น้อยย้อนนำไปวางเรียงอยู่เคียงข้างกับเหล่า “อดีต” นายกรัฐมนตรีที่ดำรงตำแหน่งกระทั่งก่อให้เกิด “วิกฤต” ตามมาทั้งที่เป็นอย่างยาวนานและเข้าสู่ตำแหน่งระยะสั้น
อย่าง พล.อ.สุจินดา คราประยูร ก็เข้าดำรงและอยู่ในตำแหน่งนายกรัฐมนตรีเพียง 1 เดือนเศษก็ต้องถูกประชาชนเดินขบวนเปล่งเสียง “ออกไป ออกไป” ดังกึกก้อง
อย่าง พล.อ.เกรียงศักดิ์ ชมะนันทน์ เมื่อเผชิญกับปัญหาทางเศรษฐกิจวิกฤตน้ำมัน ก็ถูกกดดันทั้งนอกและในรัฐสภาจำเป็นต้องยื่นใบลาออกจากตำแหน่งด้วยความปวดร้าว
ขณะที่กล่าวสำหรับ จอมพลถนอม กิตติขจร เนื่องจากนั่งอยู่ในตำแหน่งโดยไม่รู้ว่าจะยาวนานจนงอกรากหรือไม่ จึงเกิดการประสานพลังในแบบ “สหบาทา” ให้ต้องพ้นจากตำแหน่งไป
ในจำนวนนี้ จึงมีทั้งที่รู้ตัวในแบบ “ผมพอแล้ว” และที่ไม่รู้ตัวกระทั่งถูก “รัฐประหาร” และถูก “มหาชน” ขับไล่อย่างน่าอัปยศ
สภาพการณ์ที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา กำลังเผชิญประสบอยู่ในขณะนี้จึงแทบไม่ต่างไปจากที่ พล.อ.เกรียงศักดิ์ ชมะนันทน์ และ พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ ได้มีบทเรียนมาแล้ว นั่นก็คือ เป็นการกดดันทาง “ความคิด” ในทาง “การเมือง”
นั่นก็คือ มีการแสดงออกอย่างเปิดเผยว่าไม่ควรอยู่ในตำแหน่งอีกต่อไป และจำเป็นต้องแสดงสปิริตให้เป็นที่ประจักษ์ ณ เบื้องหน้าสังคม
ความหมายจึงหมายความว่า สังคมได้ค่อยๆเสนอทางเลือกให้กับ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ว่าจะถือแนวทางในแบบของ พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ หรือในแบบ จอมพลถนอม กิตติขจร คล้ายกับบรรดา “กระแส” ในทางความคิดอันกระหึ่มอยู่ในขณะนี้เท่ากับเป็นการเสนอ “ทางเลือก” ให้ในขณะเดียวกัน
จึงอาจกล่าวได้ว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา มิได้ตกอยู่ในภาวะที่อับจนไร้หนทาง แต่มีความแจ่มชัดว่ายังสามารถ “เลือก” ได้ในท่ามกลางเสียงขับไล่ เท่ากับเสนอให้ยกขึ้น “ดื่มเอง” หรือต้องถูกสุรา “จับกรอก”
ทั้งหมดนี้มิได้เป็นเรื่องในทาง “นิติศาสตร์” ประการเดียว หากแต่สัมพันธ์อยู่กับเรื่องในทาง “จริยธรรม” อย่างแนบแน่น เท่ากับมีหนทางไปสู่ “นรก” และหนทางไปสู่ “สวรรค์” ให้เลือก