FootNote:สถานะ ประยุทธ์ จันทร์โอชา บนฐาน ง่อนแง่น “การเมือง”
เส้นทางการเดินในทางการเมืองของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา กำลังเป็นคำถามบนพื้นฐานแห่งการก่อปัญหาอันเป็นผลสะเทือนตามมา
ไม่ว่าจะมองผ่านผลสะเทือนต่อพรรคพลังประชารัฐ ไม่ว่าจะเป็นผลสะเทือนต่อพรรครวมไทยสร้างชาติ
รวมถึงผลสะเทือนอย่างลึกซึ้งถึงพรรคประชาธิปัตย์
สัมผัสได้จากบทสรุปของเกจิการเมืองทุกสำนัก ที่ว่าหากเลือกที่จะผละออกจากพรรคพลังประชารัฐ นั่นหมายถึงความแตกแยกที่จะตามมา
ไม่เพียงเป็นความแตกแยกระหว่างพี่น้อง 3 ป.ด้วยกัน หากแต่หมายถึงแต่ละ ส.ส.จำเป็นต้องเลือกระหว่าง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา กับ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ
ขณะที่หากเลือกเดินทางไปยังพรรครวมไทยสร้างชาติ ก็เท่ากับไปยืนเด่นเป็นสง่าบนซากปรักหักพัง อันพรรครวมไทยสร้างชาติก่อให้กับพรรคประชาธิปัตย์
ทั้งๆที่พรรคประชาธิปัตย์ก็ซื่อสัตย์อย่างยิ่ง นับแต่ร่วมขานชื่อ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นนายกรัฐมนตรีเมื่อมิถุนายน 2562
ขณะเดียวกันการเลือกที่จะเกิดขึ้นก็ตกอยู่ในสภาพจำยอม
ต้องยอมรับว่าสถานะและเกียรติภูมิทางการเมืองของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ณ ปัจจุบัน แตกต่างอย่างสิ้นเชิง กับสถานะหลังรัฐประหารเมื่อเดือนพฤษภาคม 2557
ไม่ว่า “เครื่องมือ” อันเป็นอาวุธสำคัญ ไม่ว่าในความมั่นใจที่สังคมรู้สึกและเชื่อมั่น
จากสถานการณ์เลือกตั้งเมื่อเดือนมีนาคม 2562 มายังสภาพความเป็นจริง ในห้วงการประชุมเอเปคในเดือนพฤศจิกายน2565 สถานะของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ยิ่งไม่เหมือนเดิม
หากเหมือนเดิมพรรคพลังประชารัฐ จะตั้งเงื่อนไขในลักษณะรุกไล่ให้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา จำเป็นต้องเลือกให้มีรายชื่อแคนดิเดตนายกรัฐมนตรีคนอื่นได้หรือ
ขณะเดียวกัน หากจะเลือกไปกับพรรครวมไทยสร้างชาติ ก็แทบไม่มีหลักประกันว่าจะได้เท่ากับพรรคพลังประชารัฐเคยทำได้
สถานะและเกียรติภูมิทางการเมืองที่ไม่เหมือนเดิม จึงไม่เพียงแต่จะกลายเป็นคำถาม หากแต่แต่ละองคาพยพที่เคยร่วมก็มิได้มีความเชื่อมั่นในลักษณะเต็มร้อย
ไม่ว่าจะมองผ่าน “ภูมิใจไทย” หรือ “ประชาธิปัตย์”
การเลือกตั้งที่จะเกิดขึ้นในต้นปี 2566 จึงเป็นการเลือกตั้งที่รุนแรงและแหลมคมยิ่งกว่าการเลือกตั้งในเดือนมีนาคม 2562
พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา จึงง่อนแง่นและโงนเงนยิ่ง