FootNote:ระวัง! กรณี “ชูวิทย์ เอฟเฟกต์” บนเส้นทาง ก่อนการเลือกตั้ง
ปฏิบัติการในกระสวนของ นายชูวิทย์ กมลวิศิษฎ์ ดำเนินไปอย่าง แหลมคมเป็นพิเศษ พลันที่เปิด “แนวรบ” ทางการเมืองโดยกำหนด พรรคภูมิใจไทยเป็นเป้าหมาย
ความแหลมคมมิได้อยู่ที่คำถามว่า จำกัดกรอบและขอบเขตเพียงพรรคภูมิใจไทยพรรคเดียวเท่านั้นหรือ
ในเมื่อ นายชูวิทย์ กมลวิศิษฎ์ ได้ตั้งธงหนึ่งซึ่งอ่อนไหวอย่างที่สุดในทางการเมือง คือพรรคการเมืองใดเคยแถลงอย่างไร จะถือเป็นบรรทัดฐานในการทวงถามอย่างจริงจัง
ผลก็คือไม่เพียงแต่เป็นคำถามต่อพรรคภูมิใจไทยเท่านั้น หากพรรครวมไทยสร้างชาติ พรรคพลังประชารัฐ พรรคประชาธิปัตย์ พรรคเพื่อไทย พรรคก้าวไกล ก็ล้วนอยู่ในเป้า
จึงไม่เพียงแต่ทำให้ความหวาดระแวงอันเกิดจากการรุกไล่ ต่อรัฐมนตรีจากพรรคภูมิใจไทยต้องสะดุดหยุดลง หากแต่จากทุกพรรคการเมืองล้วนมีโอกาสทั้งสิ้น
หากแต่ที่ชวนให้หวั่นไหวเป็นอย่างสูงก็คือ ลัทธิเลียนแบบในทางการเมืองที่จะนำไปสู่การตั้งคำถาม การเสนอประเด็นต่อทุกนักการเมือง ทุกพรรคการเมืองก่อนการเลือกตั้ง
กลายเป็นการเคลื่อนไหว “ภาคประชาสังคม” ครั้งใหญ่
ต้องยอมรับว่าจังหวะก้าวในการเคลื่อนไหวของ นายชูวิทย์ กมลวิศิษฎ์ สะท้อนให้เห็นถึงเครือข่าย ความสัมพันธ์ ประสานเข้ากับบทเรียนและความจัดเจนในทางวิทยายุทธ์
เห็นได้จากการสะสมเครดิตจากการเปิดโปง “ธุรกิจสีเทา” อันเป็นความรอบรู้โดยพื้นฐานไม่ว่าธุรกิจหรือตำรวจ
สร้างผลสะเทือนก่อให้เกิดการตรวจสอบการทำงานภายใน ขบวนการยุติธรรมอย่างมากด้วยกัมมันตะ ตั้งแต่ตำรวจกรมสอบสวนคดีพิเศษ กระทั่งสำนักอัยการสูงสุด
จากความสำเร็จในกรณี “ธุรกิจสีเทา” ตั้งแต่บ่อนการพนัน การพนันออนไลน์ การเข้ามาของมาเฟียจีน จึงได้ต่อยอดเข้าไปยังพื้นที่ในทางการเมือง
เพราะว่าความสัมพันธ์ของ “ตู้ห่าว” มีทั้งต่อพรรคพลังประชารัฐและโยงยาวถึงพรรครวมไทยสร้างชาติ
การเหยียบเข้าสู่พื้นที่พรรคภูมิใจไทยอาศัยเงื่อนไขโดยพื้นฐาน 2 ประการ นั่นก็คือคำวินิจฉัยป.ป.ช. คำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ และคำพิพากษาศาลฎีกา
ผลก็คือรัฐมนตรีพรรคภูมิใจไทยถูกตีกรอบจำกัดเขต
ผลก็คือ บทบาทและความสำเร็จของ นายชูวิทย์ กมลวิศิษฎ์ ก่อให้เกิดความบันดาลใจในทางการเมือง และกลายเป็นช่องทางสำคัญในการควบคุมนักการเมือง พรรคการเมือง
เป็นการควบคุมจากภาคประชาสังคมโดยมีผลการเลือกตั้งเป็นเดิมพัน
เดิมพัน “อำนาจ” เดิมพันการ “ไปต่อ” ทางการเมือง