FootNote:ผลสะเทือนยุทธการ "สภาล่ม" กับสูตร 500 หาร และ 100 หาร

Home » FootNote:ผลสะเทือนยุทธการ "สภาล่ม" กับสูตร 500 หาร และ 100 หาร


FootNote:ผลสะเทือนยุทธการ "สภาล่ม" กับสูตร 500 หาร และ 100 หาร

FootNote:ผลสะเทือนยุทธการ “สภาล่ม” กับสูตร 500 หาร และ 100 หาร

คำถามต่อปฏิบัติการล้มสูตรเลือกตั้ง 500 หาร เพื่อหวนคืนไปสู่สูตรเลือกตั้ง 100 หาร ผ่านกระบวนการทำให้ “สภาล่ม” ไม่สามารถพิจารณาได้ กำลังได้รับความสนใจเป็นอย่างสูง

มิได้อยู่ที่ว่าสูตรเลือกตั้ง 100 หาร จะก่อประโยชน์ทางการเมืองให้กับฝ่ายใดมากที่สุด ประการเดียว

หากที่สำคัญเป็นอย่างมากการเปิดโปงในเรื่องนี้มีความเด่นชัดเป็นอย่างสูงในสายตาของประชาชน และถูกเปิดโปงโดยฝ่ายที่มีส่วนร่วมในการสมคบคิดอย่างไม่ปิดบังอำพราง

ยิ่งสถานการณ์การประชุมในวันที่ 10 สิงหาคมถูกอ้างว่าตรงกับ “วันกำนัน ผู้ใหญ่บ้าน” และอาจกลายเป็นสาเหตุให้ ส.ส.ไม่อาจเข้าร่วมประชุมจนครบองค์ได้ยิ่งท้าทาย

เนื่องจากผู้ที่ออกมาเปิดโปงแต่ละการเคลื่อนไหวเพื่อก่อให้เกิดสถานการณ์ “สภาล่ม” ไม่เพียงแต่จะมาจากบางส่วนของ พรรคประชาธิปัตย์ หากแต่ยังมีการโจมตีจากพรรคเสรีรวมไทย

และที่สำคัญเป็นอย่างมาก คือการออกมายืนยันโดย ส.ว.จำนวนหนึ่งที่ไม่เห็นด้วย เมื่อประสานกับการข่าว “วงใน” จากพรรคการเมืองขนาดเล็กยิ่งประจักษ์ในความเป็นจริง

การยกเลิกสูตรเลือกตั้ง 55 หาร แล้วหวนกลับไปสู่สูตรเลือกตั้ง 100 หาร อาจถือเป็นรายรับ แต่ก็เป็นรายรับที่มีรายจ่าย

รายจ่ายอย่างมีนัยสำคัญเป็นรายจ่ายของระบอบอันมี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นตัวแทน เป็นรายจ่ายอันตกกระทบไปยังภาพลักษณ์ของพรรคพลังประชารัฐและเกียรติภูมิของ 250 ส.ว.

เนื่องจากเป็นการประชุมรัฐสภา หากเสียงของ 250 ส.ว.และพรรคพลังประชารัฐไม่ให้ความร่วมมือสภาพ “สภาล่ม” ย่อมบังเกิด

คำประกาศอันมาจาก นายไพบูลย์ นิติตะวัน มีความแจ่มชัดในความต้องการรายละเอียดการแถลงของ นายนิโรธ สุนทรเลขา ประธานวิป ไม่ยากที่จะตีความและเข้าใจ

สถานการณ์เหล่านี้ไม่เพียงแย้งกับการยืนหยัดและยืนยันในวิถีแห่งระบบรัฐสภาจากปากของ นายชวน หลีกภัย ในฐานะประธานรัฐสภาเท่านั้น หากแต่มีหลายพรรคการเมืองเห็นด้วย

ภาพการประชุมรัฐสภาในวันที่ 10 สิงหาคมจึงมีความหมาย

ความหมายในที่นี้ไม่เพียงแต่สะท้อนให้เห็นว่า พรรคการเมืองใดต้องการเล่นเกมทางการเมืองอย่างไร และละเลยบทบาทโดยพื้นฐานของ “ผู้แทนราษฎร” อย่างไรเท่านั้น

หากแต่ยังจะเป็น “ชนัก” ติดหลังจนถึง “การเลือกตั้ง”

ในสถานการณ์ที่ทุกพรรคการเมืองแอบอ้างความเป็น “นักประชาธิปไตย” สถานการณ์ “สภาล่ม” จึงมีความแหลมคม

นี่คืออีกปมอันจะกลายเป็น “ประเด็น” ในการต่อสู้ช่วงชิง

แท็กที่เกี่ยวข้อง

เรื่องอื่นที่น่าสนใจ