FootNote:ผลสะเทือนจากศาลรัฐธรรมนูญ กระบวนการรัฐประหารการเมือง
สถานการณ์อันเกี่ยวกับคำวินิจฉัยของตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ ในประเด็นข้อเสนอในการปฏิรูปสถาบันพระมหากษัตริย์ เท่ากับเป็นการล้มล้างสถาบันพระมหากษัตริย์
กำลังเดินไปบนเส้นทางที่ละม้าย เหมือนกับมติขององค์การนิสิตสโมสรจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยในเรื่อง ‘อัญเชิญพระเกี้ยว’
นั่นก็คือ ปฏิกิริยาอันมาจากสังคมโดยเฉพาะศิษย์เก่า ปฏิกิริยาอันมาจากฝ่ายบริหารของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย คือการจัดตั้งคณะกรรมการเพื่อสอบสวนวินัยของสมาชิกองค์กรสโมสรนิสิต
คล้อยหลังคำสั่งนี้ของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยก็มีการเคลื่อนไหวจากสภานิสิตจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ตั้งข้อสังเกตบทบาทของ ผู้บริหารมหาวิทยาลัยกับการเคลื่อนไหวก่อนรัฐประหาร 2557
คำถามก็คือ หากมหาวิทยาลัยจะสอบวินัยของสมาชิกองค์การบริหารสโมสนิสิต ก็ควรตรวจสอบผู้บริหารและอาจารย์ด้วย
เพราะส่วนหนึ่งก็ถูกตั้งคำถามเกี่ยวกับพฤติการณ์ทางวินัย
คำถามต่อกรณี ‘อัญเชิญพระเกี้ยว’ ออกมาเช่นนี้ คำถามต่อกรณี ‘ปฏิรูปเท่ากับล้มล้าง’ ก็ดำเนินไปเช่นนี้เหมือนกัน
ไม่ว่า นายไพบูลย์ นิติตะวัน ไม่ว่า นายณฐพร โตประยูร พยายามที่จะขยายผลจากคำวินิจฉัยของตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ ต่อบทบาทของบางพรรคการเมืองอันถือเป็นเครือข่ายที่เกี่ยวข้องและสัมพันธ์
นั่นก็คือ ตรวจสอบบทบาทของพรรคที่เข้าไปร่วมเคลื่อนไหว ตรวจสอบส.ส.ที่เข้าไปมีส่วนในการประกันตัวผู้ต้องคดี
นี่ย่อมสัมพันธ์กับพรรคเพื่อไทย พรรคก้าวไกล โดยตรง
คำถามที่ตามมาก็คือ หากมีการตรวจสอบต่อกรณีการเคลื่อนไหวในห้วงปี 2563 กับ 2564 จะมีท่าทีอย่างไรต่อก่อนรัฐประหาร 2549 และก่อนรัฐประหาร 2557
เนื่องจากมีบางพรรคการเมือง บางนักการเมืองเข้าไปมีส่วนในการเคลื่อนไหวอันนำไปสู่การล้มล้างรัฐบาลโดยวิธี ‘รัฐประหาร’
จากนี้จึงเห็นได้ว่า ไม่ว่ากรณีก่อนรัฐประหารเมื่อเดือนกันยายน 2549 ไม่ว่ากรณีหลังการปราศรัย ณ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์เมื่อวันที่ 10 สิงหาคม 2563 ล้วนมีความสัมพันธ์และต่อเนื่อง
ไม่ว่า นายอานนท์ นำภา ไม่ว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ล้วนมีโอกาสได้เป็นทั้งโจทก์และจำเลยด้วยกันทั้งสิ้น
คำถามก็คือสังคมจะแสวงหาหนทางออกร่วมกันได้อย่างไร