FootNote:ปัญหาความเดือดร้อน ที่จะนะ กับทิศทางการพัฒนา ‘รัฐบาล’
จำเพาะการเดินทางจากอำเภอจะนะ จังหวัดสงขลา มาชุมนุมบริเวณหน้าทำเนียบรัฐบาล ก็เกิดคำถามอันแหลมคมอย่างยิ่งอยู่แล้ว การสลายและจับตัวชาวบ้านยิ่งเพิ่มคำถามร้อนแรงมากยิ่งขึ้น
เหมือนกับจะเป็นคำถามตรงไปยัง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา แต่หากเจาะลึกลงไปในรายละเอียดคำถามขยายวงกว้างกว่านั้น
1 เป็นคำถามถึงคำมั่นสัญญาณที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เคยให้ไว้อย่างเป็นลายลักษณ์อักษร ตั้งแต่ชาวจะนะมาชุมนุมเดือนธันวาคม 2563 การมาในเดือนธันวาคม 2564 จึงเป็นการทวงถาม
ขณะเดียวกัน 1ซึ่งสำคัญตลอดการปรากฏตัวของชาวจะนะ คำถามที่ดังอย่างกึกก้องได้ขยายจากรัฐบาลไปยัง ส.ส.ในพื้นที่ของจังหวัดสงขลาขึ้นมาโดยอัตโนมัติ
เพราะในส.ส.จำนวน 8 คนของจังหวัดสงขลาเป็นของพรรคประชาธิปัตย์จำนวนหนึ่ง เป็นของพรรคพลังประชารัฐจำนวนหนึ่งเป็นของพรรคภูมิใจไทยจำนวนหนึ่ง
ไม่ว่าเมื่อชาวจะนะเดินทางมาถึง ไม่ว่าเมื่อมีการสลายการชุมนุม ไม่มีใครเห็นโฉมหน้าของ ส.ส.สงขลาเหล่านั้นเลย
อาจเพราะว่า ส.ส.ทั้ง 8 คนล้วนเป็นของพรรคประชาธิปัตย์ ล้วนเป็นของพรรคพลังประชารัฐ ล้วนเป็นของพรรคภูมิใจไทย ซึ่งเป็นส.ส.อยู่ในรัฐบาล
คำถามอันแหลมคมก็คือ ทั้งๆที่เป็นส่วนหนึ่งของรัฐบาลเหตุใดจึงปล่อยให้ชาวบ้านถูกกระทำในลักษณะนี้
เหตุใดจึงไม่ใช้สถานะแห่งความเป็นส.ส.พรรคร่วมรัฐบาล เพื่อหาช่องทางให้ตัวแทนของชาวจะนะ ได้พบและทวงถามคำมั่นสัญญา ต่อพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา โดยตรง
หรือว่าไม่ว่า ส.ส.จากพรรคประชาธิปัตย์ ไม่ว่าส.ส.จากพรรคพลังประชารัฐ ไม่ว่าส.ส.จากพรรคภูมิใจไทย ล้วนหนุนรัฐบาล
และยืนอยู่ในด้านตรงกันข้ามกับความต้องการของชาวบ้าน
หากมองจากปริมาณจำนวนของชาวบ้าน 36 คน ที่ถูกจับกุมไปยังสโมสรนายตำรวจอาจเป็นปริมาณน้อยนิด แต่จำนวนน้อยนิดนี้กลับ ส่งเสียงดังก้องในขอบเขตทั่วประเทศ
ฉายสะท้อนให้เห็นมาตรการและท่าทีวางอำนาจของรัฐบาล
กลายเป็นรูปธรรมสำคัญชี้ให้เห็นความเป็นเผด็จการไม่ยอมรับฟังเสียงอันเป็นความเดือดร้อนของชาวบ้าน
ทั้งหมดนี้จะเป็นข้อมูลอย่างยอดเยี่ยมตัดสินใจเมื่อ ‘เลือกตั้ง’