FootNote:บทเรียน จาก ชาติพัฒนากล้า กับ กรณี นิพิฏฐ์ อินทรสมบัติ
สังคมชื่นชมกับการผนึกพลังประสานทุนระหว่างพรรคชาติพัฒนา กับพรรคกล้าด้วยความหวังและยกย่องฝีมือ “การดีล” อันเปี่ยมด้วยความจัดเจนของ นายสุวัจน์ ลิปตพัลลภ
ด้านหนึ่ง ชู นายสุวัจน์ ลิปตพัลลภ ขึ้นดำรงตำแหน่งเป็นประธานที่ปรึกษาพรรคชาติพัฒนากล้า เปิดทาง นายกรณ์ จาติกวณิช มาเป็นหัวหน้าพรรค
ขณะเดียวกัน ด้านหนึ่งก็มอบตำแหน่งเลขาธิการพรรคให้กับ นายเทวัญ ลิปตพัลลภ โดย นายอรรถวิชช์ สุวรรณภักดี ไป ดำรงตำแหน่งรองหัวหน้าพรรค
ชื่อใหม่ของ “พรรคชาติพัฒนากล้า” จึงดำรงอยู่ทั้งความหมาย เดิมของพรรคชาติพัฒนา และมิได้ตัดความหมายใหม่อันเป็นของ พรรคกล้าออกไปอย่างสิ้นเชิง
อาจสรุปได้ว่าการควบรวมระหว่างพรรคชาติพัฒนากับพรรคกล้าได้เกิดขึ้นบนรากฐานแห่งความต้องการ “ร่วม” ทั้งจากพรรคชาติพัฒนาและพรรคกล้าเอง
ความราบรื่นอย่างที่เห็นกับพรรคชาติพัฒนาและพรรคกล้า เมื่อมองพรรคสร้างอนาคตไทยกับพรรคไทยสร้างไทยมีความต่าง
เนื่องจากปรากฏร่องรอยแห่งความปริร้าวปรากฏให้เห็น
ตัวอย่างที่ร้อนแรงเป็นอย่างมากย่อมเป็นตัวอย่างจากกรณีของ นายนิพิฏฐ์ อินทรสมบัติ
ซึ่งเคยอยู่ในตำแหน่งรองหัวหน้าพรรคสร้างอนาคตไทย
ทั้งๆที่ยังไม่มีการแถลงบทสรุปในการหารือออกมา นายนิพิฏฐ์ อินทรสมบัติ ก็ร้องเพลงอำลาไปอยู่พรรคพลังประชารัฐ
ส่วนหนึ่ง อาจเป็นเพราะไม่เห็นด้วยกับข้อเสนอใหม่อันมาจากพรรคไทยสร้างไทย ส่วนหนึ่ง อาจเป็นเพราะไม่เห็นด้วยกับการทิ้งหลักการเดิมของพรรคสร้างอนาคตไทย
โดยเฉพาะความมุ่งมั่นที่จะให้ นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ ดำรงอยู่ในสถานะแห่งผู้นำ โดยเฉพาะความมุ่งมั่นที่จะมีการปักธงในพื้นที่ของภาคใต้ให้แข็งแกร่ง
จึงเมื่อได้รับข้อเสนอที่ดีกว่าและสอดรับกับเป้าหมายทางการเมืองมากกว่าจากพรรคพลังประชารัฐก็ต้องยอมรับ
การตัดสินใจของ นายนิพิฏฐ์ อินทรสมบัติ มีความสำคัญและมากด้วยความแหลมคม หากมองว่าเป็นรองหัวหน้าพรรคสร้างอนาคตไทยก็อาจไม่หนักหนาสาหัส
แต่อย่าลืมเขาเคยเป็นรองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์มาก่อน
ทิศทางของ นายนิพิฏฐ์ อินทรสมบัติ จึงเป็นทิศทางเดียวกันกับของ นายมิ่งขวัญ แสงสุวรรณ์
แม้เป็นการต่อสู้ในแบบปะผุในทางการเมืองก็ต้องเดินหน้า