FootNote:บทบาท กลยุทธ์ จาก “เพื่อไทย” รุกกดดัน ประยุทธ์ จันทร์โอชา
ภายหลังจากพรรคเพื่อไทยเปิดยุทธการ “ไม่แสดงตัว” ในที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎร เมื่อวันศุกร์ที่ 4 กุมภาพันธ์ อันก่อให้เกิดสถานการณ์ “สภาล่ม” ครั้งที่ 16
หลายกลุ่มจับตามองจังหวะก้าวต่อไปของพรรคเพื่อไทยว่า รุกคืบไปด้วยความเข้มข้นและคึกคักเพียงใด
หากมองจากปรากฏการณ์ในวันศุกร์ที่ 4 กุมภาพันธ์ ก็ต้องยอม รับว่ากลยุทธ์นี้ของพรรคเพื่อไทยเป็นการขยับตัวอย่างรุนแรงและจริงจังเป็นอย่างมาก
ไม่เพียงแต่เอาดาวเด่นอย่าง นายจุลพันธ์ อมรวิวัฒน์ ออกโรงเป็นกองหน้า หากแม้กระทั่ง นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว ก็ออกมาโพสต์ข้อความสร้างความเข้าใจต่อสังคมด้วยตนเอง
ทุกสายตาจึงทอดมองไปยังบทบาทของพรรคเพื่อไทยในวันพุธที่ 9 กุมภาพันธ์ ว่าจะออกมาแบบไหน อย่างไร จะเดินหน้าปฏิบัติการ “ไม่แสดงตน” ในที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎรต่อไปหรือไม่
จะยึดกุมจังหวะก้าวนี้ร่วมกับบางส่วนของ ส.ส.พรรคพลังประชารัฐ เพื่อนำไปสู่สถานการณ์ “สภาล่ม” อีกหรือไม่
ต้องยอมรับว่ากลเกมทางการเมืองของพรรคเพื่อไทยครั้งนี้ อาศัยจุดอ่อนและรอยโหว่จากปัญหาและความขัดแย้งภายในรัฐบาล มาเป็นอาวุธอันแหลมคม
นั่นก็คือความขัดแย้งอย่างเปิดเผยระหว่าง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา กับ ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า
อาศัยสถานการณ์ “สภาล่ม” ซ้ำซากและต่อเนื่องเป็นเครื่องมือ ในการเปิดโปงให้เห็นถึงความเสื่อมทรุด เน่าเฟะ ที่เกิดขึ้นและดำรงอยู่ในรัฐบาล
อาศัยกระบวนการเปิดโปงนี้เพื่อสร้างกระแสในทางสังคมไปบีบ รัดกดดันให้รัฐบาลของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา อยู่ในจุดอับจน
ในที่สุด ต้องเลือกไม่หนทางปรับครม.ก็ต้องยุบสภาหรือลาออก
ถามว่าสถานการณ์ “สภาล่ม” จะสามารถบีบรัดและกดดัน พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ให้อยู่ในภาวะอับจนได้หรือไม่ ต้องดูว่าหนทางเลือกของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา มีอยู่กี่หนทาง
1 ปรับครม. 1 ยุบสภา และ 1 ลาออก
ทั้ง 3 หนทางนี้แม้คนตัดสินใจในขั้นสุดท้ายจะเป็น พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ในฐานะ “นายกรัฐมนตรี”
แต่อย่าลืมบทบาทของ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ เป็นอันขาด