FootNote:ทิศทาง แนวโน้ม เกณฑ์ทหาร พัฒนาการ นโยบาย ความคิด
เด่นชัดอย่างยิ่งว่า นโยบาย “เกณฑ์ทหาร” กำลังจะกลายเป็นนโยบายที่สอดรับกับความต้องการ ขับเคลื่อนจากหลายพรรคการเมืองมากยิ่งขึ้น
ไม่เพียงแต่เคยนำเสนออย่างเป็นระบบโดยพรรคอนาคตใหม่ และได้รับการสานต่ออย่างจริงจังโดยพรรคก้าวไกล
ตรงกันข้าม พรรคเพื่อไทย โดย นายเศรษฐา ทวีสิน ก็ชมชอบ
ตรงกันข้าม พรรคไทยสร้างไทยก็นำไปป่าวร้องจากบรรดาอดีตนายทหารอากาศ ไม่ว่าจะเป็น น.อ.อนุดิษฐ์ นาครทรรพ ไม่ว่าจะเป็น น.ต.ศิธา ทิวารี
เช่นเดียวกับพรรคเสรีรวมไทยของ พล.ต.อ.เสรีพิศุทธ์ เตมียเวส ซึ่งอุดมไปด้วยนายพลตำรวจและนายพลทหาร เช่นเดียวกับ การขานรับจากพรรคชาติพัฒนากล้า
การขานรับจากพรรคเพื่อไทย เมื่อประสานเข้ากับพรรคไทยสร้างไทย พรรคเสรีรวมไทย และพรรคชาติพัฒนา ลักษณะที่เคยถูกมองว่า “สุดโต่ง” ก็ค่อยๆแปรเปลี่ยน
การปักธงในทาง “ความคิด” อันริเริ่มและนำเสนอ โดยพรรคอนาคตใหม่จึงกลายเป็นพลังและขับเคลื่อนในทางสังคม
นี่ย่อมเป็น “พัฒนาการ” อันทรงความหมายในทาง “ความคิด”
ถามว่าเหตุปัจจัยอะไร ทำให้การเสนอความคิดให้เลิกการเกณฑ์ทหารในแบบเดิม โดยเปลี่ยนเป็นการอาสาสมัครด้วยความสมัครใจ จึงค่อยๆได้รับการขานรับ
คำตอบที่ตรงเป้าอย่างที่สุด อยู่ที่ความเป็นจริงอันโหดร้ายจากระบบการเกณฑ์ทหาร ไม่สามารถปิดบังได้เหมือนในอดีต
คำตอบที่ตรงเป้าและก่อผลสะเทือนเป็นอย่างสูง เพราะว่างบประมาณและค่าใช้จ่ายในเรื่องเกณฑ์ทหาร เมื่อได้รับการตีแผ่ออกมาอย่างเป็นระบบ ก็กลายเป็นเรื่องไม่เหมาะสม
ขณะเดียวกัน ภายในรายละเอียดการปฏิรูปที่เสนอ โดยพรรคอนาคตใหม่และพรรคก้าวไกล ก็ขยายบทบาทของอาสาสมัครทหารรุ่นใหม่ให้สอดรับกับกองทัพยุคใหม่
กองทัพอันมีพื้นฐานที่เป็นประชาธิปไตย และคำนึงถึงหลักการ “คนเท่ากัน” อันขัดแย้งอย่างสิ้นเชิงกับระบบดึกดำบรรพ์เดิม
พัฒนาการในทางความคิดในเรื่องการเกณฑ์ทหารที่ดำเนินมาใน ระยะ 4 ปีหลังสถานการณ์การเลือกตั้ง เมื่อเดือนมีนาคม 2562 ดำเนินไปเหมือนกับกรณีสุราก้าวหน้า และสมรสเท่าเทียม
เนื่องจากเป็นเรื่อง “ประชาธิปไตย” ที่สัมพันธ์กับ “เศรษฐกิจ”
เป็นการปลดปล่อยและต่อต้านการผูกขาด เป็นการปลดปล่อยและสร้างความเสมอภาคทางเพศอย่างสร้างสรรค์
สะท้อนการปะทะระหว่าง “เก่า” กับ “ใหม่” ที่ไม่เคยหยุดนิ่ง