FootNote:ทางเลือก ทางรอด ประชาธิปัตย์ ผ่านช่อง สง่างาม ชวน หลีกภัย
ในสถานการณ์ความขัดแย้ง แตกแยกที่เริ่มบานปลายขยายประเด็นมากยิ่งขึ้นเป็นลำดับจากกรณีของ นายปริญญ์ พานิชภักดิ์ ก็เริ่มมีการผลักดันชื่อบางชื่อเข้ามาในเชิงเรียกร้องให้แสดงบทบาท
ไม่ว่าจะเป็นชื่อของ นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ไม่ว่าจะเป็นชื่อของ นายบัญญัติ บรรทัดฐาน และชื่อของ นายชวน หลีกภัย
ในฐานะที่ทั้ง 3 เคยผ่านบทบาทการเป็น “หัวหน้าพรรค”
กระนั้น ในจำนวน 3 ชื่อนี้ นายบัญญัติ บรรทัดฐาน จะเพียรอย่างเต็มกำลังในการหลีกเลี่ยง ขณะที่ชื่อของ นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ปรากฏขึ้นพร้อมกับการตั้งคำถาม
เนื่องจากประสานกับบทบาทที่เอาการเอางานของ นายเทพไท เสนพงศ์ และนายพนิต วิกิตเศรษฐ์ ทำให้เกิดข้อสงสัยผสมไปกับความหงุดหงิดในอารมณ์
หลังจาก นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ออกมาปฏิเสธผ่านคนบางคน ที่มีบทบาทอยู่ในการเคลื่อนไหว ทำให้ภายใน 3 รายชื่อนี้คงเหลือเพียง นายชวน หลีกภัย เท่านั้นที่กลายเป็นความหวัง
ยิ่งเมื่อมีการจุดประกายจาก นายสุเทพ เทือกสุบรรณ ยิ่งทำให้มองเห็นแนวโน้มและความเป็นไปได้
นับแต่เกิดปัญหาและความขัดแย้งอันเนื่องจากกรณี นายปริญญ์ พานิชภักดิ์ ภาพที่เห็นอย่างเด่นชัดก็คือ ภาพของ นายชวน หลีกภัย ที่พยายามเอาน้ำเย็นเข้าลูบ
ถึงกับออกมาเตือนคนของพรรคประชาธิปัตย์ให้คิดถึง “พรรค” มากกว่าความไม่พอใจในทางส่วนตัว
จังหวะเช่นนี้เองที่ นายสุเทพ เทือกสุบรรณ ออกมาเสนอทางออกให้กับทั้งพรรคประชาธิปัตย์และนายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ ให้ใช้ช่องทางผ่าน นายชวน หลีกภัย
เพราะ นายชวน หลีกภัย ไม่เพียงแต่แจ้งเกิดให้กับนายจุรินทร์ ตั้งแต่ยังไม่เป็น ส.ส.กระทั่งเติบใหญ่มาอยู่ในตำแหน่งหัวหน้าพรรค
หาก นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ เลือกที่จะใช้ช่องทางผ่านบารมี และเกียรติภูมิทางการเมืองของ นายชวน หลีกภัย ก็ถือได้ว่าเป็นหนทางที่ราบรื่น เหมือนกับยืนอยู่บนเนินเขา
อย่างน้อยก็ทำให้ภายในพรรคประชาธิปัตย์สงบคลื่นลมลงได้
จากนั้นก็อาศัยความเป็น “สถาบัน” และอาศัยช่องทางประชาธิปไตย “สุจริต” ในการหาหนทางออกที่เหมาะสม
ก่อนที่ความขัดแย้งจะบานปลายกลายเป็นสงครามขึ้นมา