FootNote:จุดตัด แหลมคม การเมืองไทย มองผ่าน ประวิตร วงษ์สุวรรณ
การขยับตัวของ นายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค เมื่อประสานกับการขยับตัวของ นายไตรรงค์ สุวรรณคีรี ทำให้ทุกสายตาในทางการเมืองทอดมองไปยังพรรครวมไทยสร้างชาติ
รอคอยท่าทีจาก พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ว่าจะมีท่าทีสำนองรับมากน้อยเพียงใด
หรือว่ายังยึดกุมท่วงท่าในแบบ “ลับ ลวง พราง” อยู่เช่นเดิม
หากเมื่อใด พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ให้คำตอบว่าจะเลือกอย่างไรระหว่าง 1 พรรคพลังประชารัฐ กับ 1 พรรครวมไทยสร้างชาติ นั่นหมายถึงการก้าวไปสู่อีกมิติในทางการเมือง
เป็นมิติที่ชวนให้คิดว่าพรรคพลังประชารัฐ ก็ยังเป็นฐานหนึ่งในทางการเมืองให้กับ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา อยู่เนื่องจากหัว หน้าพรรคคือ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ
ขณะเดียวกัน การกำหนดให้พรรคพลังประชารัฐ มาเล่นบทเช่นเดียวกับที่พรรคพลังประชารัฐเคยทำในการเลือกตั้งเมื่อเดือนมีนาคม 2562 ก็ถือเป็นการรีเอ็นจิเนียริ่งอย่างสำคัญ
นั่นเท่ากับที่วางเท้าของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา มิได้มีเพียงพรรคพลังประชารัฐ หากมีพรรครวมไทยสร้างชาติ และยังมีพรรคภูมิใจไทย พรรคประชาธิปัตย์
ความแหลมคมอย่างยิ่งของการเมืองจึงอยู่ที่ว่า พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ จะกำหนดบทบาทของตนผ่านพรรคพลังประชารัฐในแบบไหน
นั่นก็คือ ยังเป็นองค์ประกอบหนึ่งภายในยุทธศาสตร์ใหญ่ของพี่น้อง “กลุ่ม 3 ป.” หรือไม่ หรือว่าแยกตัวเป็นเอกเทศ
ความหมายก็คือ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ แยกตัวออกจากความสัมพันธ์เดิมใน “กลุ่ม 3 ป.” และแตะมือไปยังพรรคการเมืองอื่น มิใช่พรรครวมไทยสร้างชาติ พรรคภูมิใจไทย
หากเป็นไปในประการหลังเท่ากับยืนยันว่ากลยุทธ์ซึ่ง ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า งัดออกมาใช้ในสถานการณ์เมื่อเดือนกันยายน 2564 เริ่มประสบผลสำเร็จ
นั่นก็คือแยก พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ ออกจาก พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เพื่อใกล้ชิดกับพรรคเพื่อไทย
เส้นทางของพรรครวมไทยสร้างชาติ เส้นทางของพรรคพลังประชารัฐ จึงสะท้อนถึงเส้นทางและความสัมพันธ์ระหว่าง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา กับ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ ได้อย่างดี
ทุกอย่างจะดำเนินไปในแบบ แยกกันเดิน รวมกันตีหรือไม่
ที่สำคัญยังเป็นการรวมกันตีกระหน่ำไปพรรคเพื่อไทย หรือว่าเป็นส่วนหนึ่งแห่งยุทธศาสตร์ “แลนด์สไลด์” ของพรรคเพื่อไทย
นี่คือจุดตัดและการหักเลี้ยวครั้งสำคัญของการเมืองไทย