FootNote:ความเสื่อมทรุด อำนาจ การเมือง ของรัฐบาล ประยุทธ์ จันทร์โอชา
ยากเป็นอย่างยิ่งที่จะสามารถสกัดขัดขวางมิให้เกิดการชุมนุมในวันที่ 23 ต่อเนื่องไปถึงวันที่ 24 สิงหาคม
แม้จะมีการออกประกาศในเรื่องการจราจรอย่างเข้มงวดเป็นพิเศษ บนเส้นทางที่มุ่งจากถนนราชดำเนินไปยังบริเวณโดยรอบทำเนียบรัฐบาล
แม้จะมีการนำเอาตู้คอนเทนเนอร์จำนวนมากเข้าปักหลักประจำการ ไม่ว่าทางด้านถนนพิษณุโลก ไม่ว่าทางด้านถนนราชดำ เนิน พร้อมกับวางลวดหนามหีบเพลงครบครัน
แม้จะมีการกดดันอันนำไปสู่เสียงสำทับจากกรุงเทพมหานคร มิให้มีการชุมนุมในลักษณะข้ามคืน โดยเฉพาะอย่างยิ่งลานคนเมืองหน้าศาลาว่าการ
กระนั้น ไม่ว่าคณะ “หลอมรวมประเทศไทย” ไม่ว่าที่ผนึกกำลังภายใต้นาม “กลุ่มอิสระ” ก็ยังยืนยันที่จะมีการชุมนุม ไม่ว่าจะที่ลานคนเมือง ไม่ว่าจะที่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย
เป้าหมายคือความพยายามจะเดินทางไปยังบริเวณโดยรอบทำเนียบรัฐบาล ไม่ว่าจากด้านถนนราชดำเนิน ไม่ว่าจากด้านอนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ
ทุกปลายหอกรวมศูนย์สู่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา
หากวัดจากอุณหภูมิในทางสังคม ณ วันนี้ กระแสในทางความคิดที่มีต่อสถานะทางการเมืองของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ก่อรูปอย่างค่อนข้างเป็นเอกภาพ
กระแสในด้านนิยมชมชอบและออกมาปกป้องยังมีอยู่ แต่มิได้อยู่ในฐานะนำเหนือกว่ากระแสต้าน
เห็นได้ชัดจากเมื่อปรากฏผลสำรวจเสียงของประชาชน โดยการร่วมมือระหว่าง 8 มหาวิทยาลัยกับ 8 สำนักสื่อ และมีความพยายามเสนอจากอีกด้านออกมาเปรียบเทียบจากบางสำนักสื่อ
เห็นได้ชัดจากเมื่อมีแถลงการณ์จาก “ราษฎร” เมื่อมีแถลงการณ์จากบางพรรคการเมือง และมีความพยายามออกมาตอบโต้จากบางกลุ่มบางฝ่ายในทำเนียบรัฐบาล
น้ำหนักทางด้านต่อต้านมีความน่าเชื่อถือมากกว่าน้ำหนักในด้านต้องการให้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา “ไปต่อ” อย่างเด่นชัด
ความรู้สึกอันกลายเป็น “บทสรุป” อย่างตกผลึกของสังคมนั้นเองจะถูกแปรเป็นอุปสรรคอย่างสำคัญ ต่อสถานะและการดำรงอยู่ในทางการเมืองของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา
นั่นก็คือตกอยู่ในสภาพขาดความเชื่อมั่น ขาดความศรัทธา
นั่นก็คือทำให้สถานการณ์การปกครองถูกปฏิเสธ แข็งขืน ถึงจะมากด้วยอำนาจแต่ไม่สามารถบริหารจัดการอะไรได้
สถานะเช่นนี้ไม่เป็นผลดีกับ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา