FootNote:ความเด่น ประวิตร วงษ์สุวรรณ เหนือซาก ประยุทธ์ จันทร์โอชา
มองในเชิงกลยุทธ์ผ่านกระบวนการบริหารจัดการ ในแต่ละจังหวะก้าวของ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ หลังสถานการณ์เมื่อวันที่ 24 สิงหาคม สร้างความเด่นชัด
เป็นความเด่นชัดไม่เพียงความพร้อมในทาง “การเมือง” หากที่สำคัญเป็นอย่างมากคือความพร้อมในตำแหน่ง “นายกรัฐมนตรี”
ยิ่งเปรียบเทียบกับ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ยิ่งแตกต่าง
ในทางการเมือง พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ ในฐานะที่เคยเป็นประธานยุทธศาสตร์และทะยานเข้ามาอยู่ในตำแหน่งหัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ มีฐานที่มั่นของตนเอง สร้างมากับมือ
จากการเลือกตั้งเมื่อเดือนมีนาคม 2562 พรรคพลังประชารัฐ แม้มิได้เป็นพรรคอันดับ 1 แต่ก็เทียบเทียมใกล้เคียงกับพรรคเพื่อไทยและเหนือกว่าพรรคภูมิใจไทย พรรคประชาธิปัตย์
ขณะเดียวกัน เมื่อมีความจำเป็นต้องทำหน้าที่ในฐานะรักษาการ “นายกรัฐมนตรี” พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ ก็แสดงศักยภาพ ของตนออกมาอย่างรวดเร็วเป็นที่ประจักษ์
จุดต่างกับ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา อย่างแหลมคมที่สุดคือความสามารถในการประสานและทำงานร่วมกับฝ่ายอื่น
ยืนยันว่าใน “กลุ่ม 3 ป.” คนผู้นี้คือ “หัวหน้า” ตัวจริง เสียงจริง
คำถามที่ตามมาก็คือ ทั้งๆที่ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ คือผู้ก่อรูปแห่ง “กลุ่ม 3 ป.” ทะยานจาก “บูรพาพยัคฆ์” เข้ายึดครองและดำรงอยู่ในสถานะ “ผบ.ทบ.” อย่างงดงาม
แม้เมื่อร่วมมือกับพรรคประชาธิปัตย์เพื่อตั้งรัฐบาลภายหลัง คำสั่งยุบพรรคพลังประชาชนก็เป็น พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ
แม้เมื่อหลังรัฐประหารเมื่อเดือนพฤษภาคม 2557 ก็อาศัยเครือข่ายและความสัมพันธ์ของ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ ในการประสานทำไมจึงไม่เป็น “นายกรัฐมนตรี” เสียเอง
ทำไมจึงต้องผลักรุนให้ตำแหน่งนายกรัฐมนตรีอยู่ในมือของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ทั้งที่อยู่ในฐานะเป็น “พี่ใหญ่” และมีศักยภาพเหนือกว่าอย่างเด่นชัด
ยิ่งผ่านสถานการณ์วันที่ 24 สิงหาคม คำถามนี้ยิ่งดังกระหึ่ม ยิ่งกว่าหลังรัฐประหาร 2557 ยิ่งกว่าหลังเลือกตั้ง 2562
เหตุใดเพียง 1 สัปดาห์หลังสถานการณ์วันที่ 24 สิงหาคม จึงได้ก่อให้เกิดคำถามตามมามากมายทั้งในเรื่องของการปรับครม.และ เรื่องของการยุบสภา
เท่ากับมองข้าม พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา แทบสิ้นเชิง
ทั้งๆที่ในความเป็นจริง พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ ไม่มีเจตนาหรือความต้องการที่จะบ่อนเซาะและทำลาย
เป็นจุดบนซาก พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา โดยแท้