FootNote:ความจำเป็น ของ “ไล่หนู ตีงูเห่า” การันตี ยุทธศาสตร์แลนด์สไลด์
ไม่ว่ายุทธการ “ไล่หนู ตีงูเห่า” ซึ่งเป็นแผนที่กำหนดรายละเอียดเอาไว้แล้วโดยพร้อมมูล ไม่ว่าการจัดวาง นายณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ ในฐานะผู้อำนวยการ “ครอบครัวเพื่อไทย”
เด่นชัดอย่างยิ่งว่าภายในยุทธศาสตร์ “แลนด์สไลด์” พรรคเพื่อไทยกำหนดสถานะของพรรคภูมิใจไทยว่าเป็นอย่างไร
ไขได้จากคำว่า “หนู” เข้าใจได้จากคำว่า “งูเห่า”
ต้องยอมรับว่าบทบาทของพรรคภูมิใจไทยภายใต้การนำของ นายอนุทิน ชาญวีรกูล มากด้วยความหนักแน่น จริงจัง อาศัยสถานะที่เป็นพรรคร่วมรัฐบาลเป็นเหมือนกระดานหก
ด้านหนึ่ง สร้างความชอบธรรมผ่านตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการ กระทรวงสาธารณสุข ประสานเข้ากับตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม สร้างผลงานบรรลุแต่ละเป้าหมาย
ขณะเดียวกัน ด้านหนึ่งก็อาศัยเงื่อนไขจากแต่ละผลงานเป็นพลังในการดูดดึงเอา ส.ส.จากพรรคการเมืองอื่น ไม่ว่าจะจากพรรคพลังประชารัฐ พรรคอนาคตใหม่ พรรคเพื่อไทย เข้ามา
ส่งผลให้ปริมาณ ส.ส.พรรคภูมิใจไทยทะยานจากที่ได้ 53 ไปแตะอยู่ที่ 63 อย่างมั่นคงและแข็งแกร่ง
พลันที่รุกเข้าไปในแดนของพรรคเพื่อไทยจึงเป็นเรื่องใหญ่
จะมีการเข้ามาของ นายณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ ในสถานะแห่งผู้อำนวยการครอบครัวเพื่อไทยหรือไม่ พรรคเพื่อไทยก็มีความจำเป็นที่จะต้องเปิดยุทธการ “ไล่หนู ตีงูเห่า” อย่างแน่นอน
ไม่เพียงเพราะวิทยายุทธ อันพรรคภูมิใจไทยกระทำคือ การนำประสบการณ์จากพรรคไทยรักไทย พรรคพลังประชาชน
เนื่องจากไม่ว่าจะมองผ่าน นายอนุทิน ชาญวีรกูล ไม่ว่าจะมองทะลุไปยัง นายเนวิน ชิดชอบ ล้วนแล้วเคยเป็นพลังสำคัญอยู่ในพรรคไทยรักไทย พรรคพลังประชาชน
ท่าทีของพรรคเพื่อไทยจึงแข็งกร้าวไม่ยิ่งหย่อนไปกว่าที่เคย กระทำต่อพรรคไทยสร้างไทย และต่อคุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์ มาก่อน
ยิ่งเมื่อได้ความเชี่ยวชำนาญระดับ นายณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ เข้ามายิ่งทำให้ยุทธการ “ไล่หนู ตีงูเห่า” ยิ่งทวีความเข้มข้น
ยุทธการครั้งนี้เหมือนกับพุ่งเป้าไปยังพื้นที่ศรีสะเกษ แต่ในความเป็นจริงดำเนินไปในกระสวนอันเป็นสัญลักษณ์ในทางการเมืองแท้จริงแล้ว คือการป้องกันภาคตะวันออกเฉียงเหนือเป็นหลัก
จะ “แลนด์สไลด์” ไม่ได้หากรักษาพื้นที่ “อีสาน” เอาไว้ไม่ได้
บทเรียนจากชัยชนะเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ 2548 เด่นชัด บทเรียนจากชัยชนะเมื่อเดือนกรกฎาคม 2554 เด่นชัด
นี่คือสัญญาณความเข้มข้นก่อน “ศึกเลือกตั้ง” จะเริ่มขึ้น