FootNote:ความขัดแย้งในพลังประชารัฐ สะท้อนปัญหารัฐบาลเด่นชัด
ข้อเสนออันมาจาก นายเอกราช ช่างเหลา 1 ใน 21 ส.ส.ที่ถูกขับออกจากพรรค เรียกร้องให้มีการตรวจสอบกระบวนการต่อ สู้ในการเลือกตั้งซ่อม เขต 9 จตุจักร หลักสี่ คือปฏิบัติการ “เอาคืน”
อย่าได้แปลกใจที่จะได้ประสบกับ “ปฏิกิริยา” จากนายชัยวุฒิ ธนาคมานุสรณ์ อย่างฉับพลันทันใด
ต้องยอมรับว่าข้อเสนอของ นายเอกราช ช่างเหล่า แหลมคม
แหลมคมเพราะมีข้อสงสัยว่า ความพ่ายแพ้ในการเลือกตั้งซ่อม ที่เขต 1 ชุมพร และเขต 6 สงขลา เหตุใดจึงนำไปสู่การกดดันต่อ ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า กระทั่งกลายเป็นปฏิบัติการ “ขับ”
ทั้งๆที่เขต 1 ชุมพร มี นายสันติ พร้อมพัฒน์ เป็นผู้อำนวยการ ทั้งๆที่เขต 6 สงขลา มี นายสุชาติ ชมกลิ่น เป็นผู้อำนวยการ มิได้เป็นความรับผิดชอบโดยตรงของ ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า
นี่ย่อมเป็นคำถามโดยตรงไปยังบรรดา “ผู้อำนวยการ” เลือกตั้ง
นี่ย่อมเป็นการกระหน่ำไปยัง “ปัญหา” อันเป็นพื้นฐานของความขัดแย้งที่ดำรงอยู่ภายในพรรคพลังประชารัฐ นับแต่สถานการณ์เมื่อเดือนกันยายน 2564 เป็นต้นมา
หากประเมินว่าข้อเสนอของ นายเอกราช ช่างเหลา ดำเนินไปในกระ สวนของ “การขุดบ่อล่อปลา” ก็ต้องยอมรับว่าเบ็ดของ นายเอกราช ช่างเหลา ก็ตกได้ปลาตัวใหญ่
เป็นปลาระดับ นายชัยวุฒิ ธนาคมานุสรณ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม
เป็น 1 ใน “6 รัฐมนตรี” ผู้เคยตบเท้าเข้าพบ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เมื่อเดือนตุลาคม 2564 และจากนั้นก็เกิดกระบวนการรุก ไล่ ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า จากตำแหน่งเลขาธิการพรรค
ผลสะเทือนหนึ่งที่สำคัญคือคำตอบของ นายชัยวุฒิ ธนาคมานุสรณ์ ที่ไขให้เห็นความจริงของความขัดแย้งในพรรคพลังประชารัฐ
มิได้มาจาก “โครงสร้างพรรค” หากแต่อยากเป็น “รัฐมนตรี”
หากไม่มีการเปิดเผยโดย นายชัยวุฒิ ธนาคมานุสรณ์ ซึ่งเป็นกรรมการบริหารพรรค สังคมคงรับรู้ปัญหาว่าเป็นความขัดแย้งเนื่องจากความต้องการปรับปรุง “โครงสร้างพรรค” ซึ่งเป็นอันตราย
หารู้ไม่ว่าเป้าหมายแท้จริงคือ การทวงถาม “ตำแหน่ง”
เป็นตำแหน่งที่ ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า ถูกแย่งยึดเอาไปจากสถานการณ์เมื่อเดือนกันยายน 2564
เป้าหมายจึงพุ่งตรงสู่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เด่นชัด