FootNote:การรุก การเมือง รัฐธรรมนูญ ผ่านการรื้อ ระบอบ ประยุทธ์
การหวนกลับมาแสดงบทบาทในที่ประชุมรัฐสภาอีกครั้งหนึ่งสำหรับ นายปิยบุตร แสงกนกกุล ทรงความหมายอย่างลึกซึ้งยิ่งในทางการเมือง
ยิ่งเมื่อเป็นการหวนกลับมาพร้อมกับการได้ นายพริษฐ์ วัชรสินธุ ยืนเรียงอยู่เคียงข้างยิ่งมีความสำคัญ
เนื่องจากผลจากคำวินิจฉัยของตุลาการศาลรัฐธรรมนูญให้ยุบ พรรคอนาคตใหม่ เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ 2563 ทำให้ นายปิยบุตร แสงกนกกุล ถูกตัดสิทธิทางการเมืองเป็นเวลา 10 ปี
ขณะเดียวกัน ผลจากการเลือกตั้งเมื่อเดือนมีนาคม 2562 แม้ นายพริษฐ์ วัชรสินธุ จะลงสมัครในนามพรรคประชาธิปัตย์ แต่ก็ไม่ได้รับเลือกจากประชาชน
กระนั้น การร่วมลงรายชื่อแสดงความจำนงจะแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญภายใต้การเคลื่อนไหวของ ‘รี-โซลูชั่น’ จำนวน 2 แสนกว่า
ก็ทำให้ ทั้ง ‘ปิยบุตร’ และ ‘พริษฐ์’ มีบทบาทเด่นทางการเมือง
ทั้ง นายปิยบุตร แสงกนกกุล และ นายพริษฐ์ วัชรสินธุ คือผู้ที่รับผิดชอบในการชี้แจง ‘เนื้อหา’ ของรัฐธรรมนูญ ‘ฉบับประชาชน’
ไม่ว่าในที่สุด การประชุมรัฐสภาในวันที่ 16 พฤศจิกายน จะดำเนินไปอย่างไร ทั้ง นายปิยบุตร แสงกนกกุล และนายพริษฐ์ วัชรสินธุ จะสามารถทำความกระจ่างในรายละเอียดของเนื้อหาหรือไม่
การตัดสินใจของสมาชิกรัฐสภาในวันที่ 17 พฤศจิกายน จะเป็นคำตอบออกมาโดยพื้นฐาน
เหมือนกับว่าการตัดสินใจของสมาชิกรัฐสภาอันประกอบด้วย 250 ส.ว.และ 500 ส.ส.จะเป็น ‘เอกสิทธิ์’ แต่การตัดสินใจนี้ ก็จะส่งผลสะเทือนเป็นอย่างสูงในทางการเมือง
ไม่เพียงจะทำให้ร่างแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญฉบับ ‘ประชาชน’ ได้ผ่านหรือต้องถูกปัดทิ้งไปโดยไม่ใยดี หากที่สำคัญการตัดสินใจนี้ จะติดตรึงอยู่กับสมาชิกรัฐสภาคนนั้น พรรคการเมืองนั้น
เนื่องจากเป้าหมายสำคัญของร่างแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ ‘ฉบับประชาชน’ คือความต้องการ ‘ขอคนละชื่อ รื้อระบอบประยุทธ์’
จึงมีผลสำคัญต่อ ‘ระบอบประยุทธ์’ และสมาชิก ‘รัฐสภา’
500 ส.ส.จะมีผลต่อการตัดสินใจในสนามเลือกตั้งแน่นอน
นี่คือโจทย์ต่อพรรคการเมืองทุกพรรคนักการเมืองทุกคน